เปิดโมเดลกองทุนเอฟทีเอ เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ 

เปิดโมเดลกองทุนเอฟทีเอ เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ 

พาณิชย์ เร่งเครื่องจัดทำรายละเอียดโครงสร้างกองทุนเอฟทีเอ รองรับผู้ได้ผลกระทบ  ด้านเอกชน หนุนกองทุนเอฟทีเอหวังช่วยยกระดับผู้ประกอบการสู่เวทีการแข่งขันโลก

กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางการพัฒนากองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า หรือกองทุนเอฟทีเอ โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ซึ่งแนวคิดการจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอมาจากข้อเรียกร้องของภาคส่วนต่างๆโดยเฉพาะภาคการเกษตรซึ่งเป็นภาคที่รับผลกระทบโดยตรงจากการเปิดเสรีทางการค้า ที่มีความจำเป็นต้องเยียวยาและพัฒนาสามารถปรับตัวเข้าสู่การแข่งขันในโลกการค้าเสรี  
               
นอกจากนี้โครงการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเอฟทีเอ ทั้งของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณที่นำมาบริหารจัดการและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ได้อยู่ในรูปแบบของกองทุนแต่ขึ้นกับการได้รับงบประมาณรายปี ซึ่งบางปีอาจไม่ได้รับจัดสรร หรือได้รับการจัดสรรไม่เพียงพอ อีกทั้งมีขั้นตอนการอนุมัติที่ซับซ้อนและใช้เวลานาน รวมถึงการประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ยังไม่ทั่วถึง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงกองทุน เป็นต้น
161372048880
เอฟที (FTA )ย่อมาจาก Free Trade Area หรือเขตการค้าเสรี เป็นการทำความตกลงทางการค้าของประเทศ อาจเป็น 2 ประเทศ (ทวิภาคี) หรือเป็นกลุ่มประเทศ (พหุภาคี) ที่จะร่วมมือขจัดอุปสรรคทางการค้าทั้งที่เป็นภาษีศุลกากรและไม่ใช่ภาษีศุลกากร โดยประเทศไทยมีเอฟทีเอจำนวน 13 ฉบับครอบคลุม 18 ประเทศ และกำลังเดินหน้าทำเอฟทีเออีกหลายฉบับ เพื่อเปิดตลาดทางการค้า เช่น เอฟทีไทย-สหภาพยุโรป เอฟทีเอไทย-เอฟต้า  
อย่างไรก็ตามแม้ว่า เอฟทีเอจะมีประโยชน์ในเรื่องของการค้า แต่เอฟทีเอก็ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทย ผู้ประกอบการไทย ที่ต้องรับมือกับการค้าเสรี การทะลักของสินค้าจากประเทศที่อยู่ในความตกลง ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ
           
ดังนั้นกองทุนเอฟทีเอจึงมีความสำคัญเพราะหากยังอาศัยโครงการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเอฟทีเอ ที่มีงบประมาณค่อนข้างจำกัดและมีความไม่แน่นอน ผู้ที่ได้รับผลกระทบอาจไม่สามารถพัฒนาตนเองให้แข่งขันได้ ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของนางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)  ที่มองว่า  การเจราการค้าเสรีหรือเอฟทีเอกับประเทศต่างๆถือเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับการค้ายุคปัจจุบัน เพราะหากเราไม่ทำเอฟทีเอไม่ว่าจะเป็นทวิภาคีหรือพหุภาคีเราก็จะสูญเสียประโยชน์ทางการค้า แต่การทำเอฟเอย่อมมีได้รับผลกระทบ ซึ่งเห็นด้วยที่จะปรับเปลี่ยนการช่วยเหลือให้เป็นกองทุนแบบถาวรโดยมีงบประมาณมารองรับทุกปีไม่ใช่เป็นการขอรับการจัดสรรซึ่งแต่ละปีก็ได้ไม่เท่าทัน นอกจากนี้ ควรมีการปรับหลักเกณฑ์การใช้เงินกองทุนนอกเหนือไปจากการอบรมสัมมนาเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน
ล่าสุดนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  เปิดเผยความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอ  โดยวางแนวทางหลักคือ เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับเตรียมความพร้อม ปรับตัว และช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเอฟทีเอ ให้กับภาคการผลิต ทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม  และภาคบริการ ซึ่งกองทุนดังกล่าว ออกแบบเป็น 2 ลักษณะ คือ  ช่วยเหลือแบบจ่ายขาดและเงินหมุนเวียน
161372062056
สำหรับเงินกองทุนนั้น ซึ่งเป็นงบประมาณเพื่อบริหารจัดการกองทุนนั้น  โดยกำหนดให้มาจาก งบประมาณประจำปี  เหมือนเช่นกองทุนอื่นๆ เริ่มแรกที่เป็นทุนประเดิม ตั้งต้นไว้ที่ 1 พันล้านบาท  พร้อมหารายได้เข้ามาเสริมจากค่าธรรมเนียม เพื่อให้มีเงินเพียงพอช่วยเหลือ นอกจากนี้ ยังจัดตั้ง  หน่วยงานข้อกลาง   ที่มีองค์ประกอบจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเกษตร ภาควิชาการ ธนาคารในพื้นที่  เพื่อเป็นหน่วยงานสำหรับประสานงานและเสนอคำขอรับความช่วยเหลือไปยังกองทุนเอฟทีเอด้วย  นี่คือรูปแบคร่าวที่กำหนดไว้เบื้องต้นสำหรับกองทุนเอฟทีเอ
หลังจากนี้ก็จะมีการสรุปรายละเอียดเสนอให้คณะทำงานฯ เห็นชอบ ก่อนชง “จุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ ” นำเสนอบอร์ดบริหารทุนหมุนเวียนเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี  ซึ่งกระบวนการจัดตั้งกองทุนต้องเป็นไปตามพ.ร.บ.การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ.2538 ทั้งคาดว่าจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้  
คงปฏิเสธไม่ไม่ได้ที่โลกการค้าปัจจุบันเอฟทีเอถือว่ามีความสำคัญมาก ประเทศไทยในฐานะห่วงโซ่การผลิตจะถอยหนีหรือหลีกเลี่ยงระบบการค้าเสรีไม่ได้ หากไทยยังมัวรีรอ  ในที่สุดคงถูกประเทศอื่นๆ ที่ดำเนินนโยบายเปิดตลาดอย่างชัดเจนกว่าแย่งตลาดการค้าไปจนหมด แต่กองทุนเอฟทีเอก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ซึ่ง 2 อย่างต้องเดินไปด้วยกัน  จึงถือเป็นพันธกิจสำคัญอีกอย่างหนึ่งของกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องทำให้กองทุนเอฟทีเอเกิดขึ้นให้ได้โดยเร็วที่สุด