“อพท.” ผนึก “ยูเนสโก” ใช้เครื่องมือ VMAT จัดการแหล่งท่องเที่ยวครั้งแรกของไทย!
“อพท.” จับมือองค์กร “ยูเนสโก” ใช้เครื่องมือ VMAT บริหารจัดการนักท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวได้เป็นหน่วยงานแรกของไทย
น.อ.อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า อพท.มีแนวทางที่จะยกระดับภารกิจของหน่วยงานสู่สากลโดยร่วมมือกับองค์การยูเนสโก UNESCO เกี่ยวกับเครื่องมือการประเมินการจัดการนักท่องเที่ยว (Visitor Management Assessment Tool: VMAT) ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานแห่งแรกของประเทศไทยเลยที่นำเครื่องมือนี้มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกและพื้นที่พิเศษ อพท. และจะมีการต่อยอดไปถึงระดับอาเซียนในอนาคต
และในปี 2564 นี้ สำนักงานใหญ่ขององค์การยูเนสโกที่กรุงปารีส ได้เลือกให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ได้เรียนรู้เครื่องมือตัวใหม่ที่องค์การยูเนสโกคิดค้นขึ้นเพื่อบริหารจัดการแหล่งมรดกโลกและแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน ซึ่ง อพท. ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการฝึกอบรมในระดับประเทศไปเมื่อเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา โดยหลังจากนี้ อพท. จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในระดับอาเซียนในช่วงปลายปี พ.ศ.2564 และระดับเอเปค ในปี พ.ศ.2565 เพื่อให้ประเทศต่างๆ ได้เห็นถึงความสำเร็จของประเทศไทยในการเป็นต้นแบบด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั่นเอง
สำหรับโปรแกรม VMAT เป็นเครื่องในการสร้างแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ท่องเที่ยวซึ่งมีประโยชน์ในการนำมาใช้ คือ เพิ่มพูนความเข้าใจและสามารถติดตามผลและเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันของการจัดการนักท่องเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวได้ดีขึ้น สร้างกิจกรรมที่สมเหตุสมผล ปรับปรุงการสื่อสารกับนักท่องเที่ยว เสริมสร้างบุคคลและสถาบัน และต่อยอดความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆ
VMAT จัดเป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์การพัฒนาในอนาคตเนื่องจากเป็นเครื่องมือที่มีความยืดหยุ่นต่อการใช้งานในแต่ละพื้นที่ และให้ความสำคัญกับระบบการจัดการนักท่องเที่ยวที่มีบริบทสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ดังนั้นเพื่อประโยชน์ต่อการอนุรักษ์คุณค่าของแหล่งมรดกและนำไปสู่การบูรณาการเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนได้ โดย อพท.จะนำเข้าข้อมูลภายในพื้นที่เพื่อประเมินประสิทธิภาพภายใต้เป้าหมาย 4 ด้านที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ได้แก่ การบริหารและการจัดการนักท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพ ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนทางสังคม และความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ จากนั้นจึงประเมินค่าเป็นคะแนน เพื่อสร้างฐานข้อมูลและพัฒนากลยุทธในการวางแผนปฏิบัติการและกระบวนการทำงานของ อพท. ต่อไป