บอร์ดโรคติดต่อ เห็นชอบ 'ศรีพันวา' เป็น Villa Quarantine

บอร์ดโรคติดต่อ เห็นชอบ 'ศรีพันวา' เป็น Villa Quarantine

บอร์ดโรคติดต่อภูเก็ต เห็นชอบ “ศรีพันวา” เป็น Villa Quarantine รับนักท่องเที่ยวลักษณะ Organization Quarantine เน้นกักตัว 14 วัน คาดรับนักท่องเที่ยวกลุ่มแรกจากอินโดนีเซีย 21 ก.พ.ประมาณ 70 คน

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ห้องประชุมคอซิมบี้ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 18/2564 โดยมีพลเรือตรีวโรดม สุวารี ผู้อำนวยการสำนักประสานภารกิจรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดภูเก็ต, แพทย์หญิงวลัยรัตน์ ไชยฟู รักษาการนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค, นายแพทย์ รัฐพงษ์ บุรีวงษ์ รองผู้อำนวยการ กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค, แพทย์หญิงศิริลักษณ์ ไทยเจริญ ผู้อำนวยการ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดภูเก็ต, นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

สำหรับวาระสำคัญ คือกรณีโรงแรมศรีพันวา รีสอร์ทขออนุญาตเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ารับการกักโรคในลักษณะ Organization Quarantine: OQ หรือลักษณะ Area Quarantine : AQ ในรูปแบบ Villa Quarantine ยังคงกักตัว 14 วัน ภายใต้มาตรการ ศบค.อย่างเคร่งครัด

เตรียมพร้อมนำร่องรับกรุ๊ปแรก ซึ่งเดินทางมาจากบาหลีประเทศอินโดนีเซีย จำนวนประมาณ 70 คน ทั้งหมดเป็นนักธุรกิจ เดินทางและพักด้วยกันมาเป็นเวลาร่วม 2 เดือนแล้ว และได้รับการตรวจหาเชื้อหรือสวอปมาแล้ว 5-6 ครั้ง โดยจะเดินทางเข้ามาในวันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวและประชาชน ตลอดจนเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง

161372905779

แพทย์หญิงวลัยลักษณ์ ไชยฟู กล่าวถึงรูปแบบของ Organizational quarantine ประเภท ข. เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ว่าใช้หลักการ เข้าราชอาณาจักรตามแนวทางที่ศบค. กำหนด และภายไต้ พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยยึดแนวทางแนวทางกักกัน 14 วัน ตามแนวทางที่กำหนด แต่ให้ทำกิจกรรมได้ โดยไม่ให้มีการสัมผัสตัวสำหรับผู้ที่มาจากประเทศเดียวกัน และระหว่างประเทศ, เน้นมาตรการ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และ ตรวจหาเชื้อ

สำหรับแนวทาง Core concept of Organizational quarantine ประเภท ข.(การกักกัน แบบมีการทำกิจกรรมร่วมกันในระหว่างระยะฟักตัว) นั้นมีการกำหนดพื้นที่สำหรับ OQ. ประเภท ข. อย่างชัดเจน ในแต่ละหน่วยงาน / องค์กร ที่ขอจัดตั้งเป็นquarantine facilities., ลดการสัมผัสระหว่างกันมากที่สุด ทั้งผู้เดินทางและบุคคลในประเทศ (เช่นเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย หรืออื่น ๆ) จัดเป็นผู้ถูกกักกันร่วมกัน (Innercordon หรือ in-bubble), กรณีเจ้าหน้าที่จากภายนอกที่ต้องเข้าสู่ bubble area กำหนดให้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น และ ต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอย่างถูกต้อง เหมาะสม มีทักษะการปฏิบัติที่ถูกต้องทุกขั้นตอน และต้องได้รับการตรวจสอบเทียบเคียงกับ Q. อื่นๆ หรือการให้บริการในโรงพยาบาลต่างๆ

จึงจะสามารถให้กลับออกมาได้ ทั้งนี้ในฟการวางแผนการจัดกิจกรรม ต้องจัดทำ Standard Operation Procedures ให้ครบทุกมิติ และผ่านการตรวจสอบโดยเจ้าพนักงานควบคุมโรค หรือคณะกรรมการโรคติดต่อ เสียก่อน (อาจกำหนดเป็น SOP แบบรวม และบังคับใช้เป็นกลุ่ม)

โดยกลุ่มที่เข้าพักจะต้องมีการสว๊อปหาเชื้อ จำนวน 3 ครั้ง ครั้งแรก ในวันที่เดินทางมาถึงหรือเดย์ศูนย์ ครั้งที่ 2 เดย์ 9-10 และครั้งที่ 3 เดย์ 13-14 ส่วนการเดินทางจากสนามบินมายังที่พักเป็นเส้นทางปิด และจะต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งที่ผ่านมาเคยใช้รูปแบบนี้กับกลุ่มนักกีฬาที่มาแข่งขันแบตมินตันที่กรุงเทพมหานคร แต่จะมีความเข้มข้นมากกว่า เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มาจากหลากหลายประเทศ

อย่างไรก็ตามหลังจากคณะกรรมการฯ ได้มีการแสดงความคิดเห็น ซึ่งต่างเห็นด้วยกับการให้เปิดรับนักท่องเที่ยวในลักษณะดังกล่าว เนื่องจากมีระบบและมาตรการที่ใช้เข้มงวดมาก ทั้งนี้จะได้มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ต และหากสำเร็จก็จะเป็นต้นแบบให้กับเมืองท่องเที่ยวอื่นๆนำไปใช้ต่อไป โดยนายแพทย์เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวว่า เห็นด้วย เพื่อจะได้มาช่วยฟื้นเศรษฐกิจ แต่อยากให้พิจารณาในส่วนของวันที่ทำการสวอปในครั้งที่ 2 ซึ่งกำหนดวันที่ 9-10 เป็นวันที่ 5 แทน

นายพิเชษฐ์ ปาณะวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวสรุปว่า จากที่ฟังความเห็นของคณะกรรมการฯ ซึ่งเห็นด้วยกับการเปิดให้รับนักท่องเที่ยวในลักษณะดังกล่าว ด้วยมาตรการที่ต้องดำเนินการอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการกักตัว 14 วัน การสวอป ซึ่งกำหนด 3 ครั้ง ครั้งแรกที่สนามบิน และมาตรการอื่นๆ ที่ ศบค.กำหนด ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่น และจะทำให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง หากสำเร็จจะเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ ด้วย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่จังหวัดภูเก็ตดำเนินการในรูปแบบนี้ นอกเหนือจากการกักตัวในรูปแบบของสเตทควอรันทีน หรือ ALQ และยอร์ชควอรันทีน