เมื่อเป้าหมาย 'การลงทุน' มีมากกว่าหนึ่งอย่าง ควรบริหารจัดการอย่างไร?
ทำอย่างไร เมื่อมีแผน "การลงทุน" มากกว่าหนึ่งเป้าหมาย นักลงทุนควรจะบริหารจัดการอย่างไร ให้เหมาะสมแต่ละช่วงอายุของตัว?
สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกๆ ท่าน เมื่อวันก่อนได้มีโอกาสนั่งคุยกับรุ่นน้องคนหนึ่ง ก็มีการอัพเดทชีวิตความเป็นอยู่กันตามประสาที่นานๆ ได้มาเจอกัน น้องคนนี้เพิ่งคลอดลูกชายเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ความสนใจในช่วงนี้จึงเป็นเรื่องปัญหาการเลี้ยงลูก และการวางแผนอนาคตของลูก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเลือกโรงเรียน ตั้งแต่วัยก่อนอนุบาล อนุบาลไปจนระดับประถมและมัธยม จากเดิมที่ไม่เคยมีประเด็นนี้มาให้น้องเขากังวลมาก่อนเลย
ผมจึงฉุกคิดถึงประเด็นเรื่องการวางแผนการลงทุนที่ผมเคยเขียนไว้เมื่อหลายปีก่อน ในเรื่องเกี่ยวกับช่วงอายุของชีวิตกับการลงทุนว่า คนเราจะมีปัจจัยที่เข้ามากระทบเรื่องภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละช่วงอายุที่แตกต่างกัน เช่น ช่วงวัยเริ่มต้นทำงานเงินรายได้อาจจะน้อยแต่ภาระก็ยังมีไม่มาก แต่พอเริ่มมีครอบครัวแม้รายได้จะเพิ่มมากขึ้นแต่ภาระค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มมากขึ้น หรือเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ รายได้นั้นจะลดลงจนแทบไม่มีเลย ในขณะที่ค่าใช้จ่ายยังคงมีอยู่
ส่วนใหญ่เวลาเราคิดเรื่องวางแผนการลงทุน เรามักจะนึกถึงเรื่องของการวางแผนเกษียณ ทั้งที่จริงๆ แล้วในชีวิตของเราจะพบว่าเรามีแผนการลงทุนมากกว่านั้น หรือหมายความว่าเรามีเป้าหมายของการลงทุนมากกว่าหนึ่งเป้าหมาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าช่วงชีวิตที่เราเริ่มวางแผนนั้น เราอยู่ในช่วงอายุเท่าไหร่ อยู่ในสถานภาพมีครอบครัวและมีลูกหรือไม่
ถ้าเป็นกรณีนี้เป้าหมายเราจะมีมากกว่าหนึ่งเป้าหมายแน่ๆ เช่น
1. เป้าหมายเรื่องเงินเล่าเรียนลูก
2. เป้าหมายเพื่อการเกษียณ แต่ถ้าเป็นคนวัยเกษียณเป้าหมายแรกอาจจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายรายเดือน และ เป้าหมายที่สองคือเรื่องเงินกองทุนสำหรับมรดก เป็นต้น
ในเมื่อเป้าหมายมีมากกว่าหนึ่งอย่างแล้ว เราในฐานะนักลงทุนหรือที่ปรึกษาด้านการลงทุนควรจัดการเรื่องนี้อย่างไร อย่างที่ทราบว่าขั้นตอนแรกของการวางแผนทางการเงินคือกำหนดเป้าหมาย ขั้นตอนนี้ก็ยังเป็นขั้นตอนแรกอยู่แต่ต้องมีการเพิ่มเติมว่าเป้าหมายจริงๆ ของเราหรือของลูกค้ามีกี่อย่าง
เมื่อระบุเป้าหมายทั้งหมดได้แล้ว ก่อนจะเริ่มขั้นตอนต่อไปนั้น เราต้องทำการระบุความสำคัญของเป้าหมายแต่ละอย่าง เช่น ในกรณีที่ลูกค้าอยู่ในช่วงอายุ 35 มีครอบครัวมีลูก 1 คนและวางแผนจะมีอีก 1 คน ในขณะที่รายได้มาจากเงินเดือนเป็นหลัก ในกรณีนี้ลูกค้ามีเป้าหมายในการวางแผนการลงทุนอยู่ 2 อย่างคือเพื่อเป็นทุนการศึกษา และเพื่อวางแผนเกษียณ เมื่อพิจารณาถึงเงินรายได้ของลูกค้าแล้ว การแบ่งความสำคัญของเป้าหมายจึงเป็นสิ่งสำคัญเพราะรายได้คงไม่เพียงพอต่อแผนทั้งสอง ซึ่งในกรณีนี้ลูกค้าจะให้ความสำคัญกับเรื่องทุนการศึกษามากกว่า ในขณะที่การวางแผนเกษียณเป็นลำดับถัดไป
เมื่อทราบลำดับความสำคัญของเป้าหมาย ขั้นตอนต่อไปคือ การเลือกแผนการลงทุนเพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของลูกค้า แต่ในกรณีนี้จะมีรายละเอียดเพิ่มเติมอยู่บ้าง เพราะเป้าหมายเพื่อทุนการศึกษาอาจมีอายุน้อยกว่าเป้าหมายเพื่อการเกษียณ และอาจรับความเสี่ยงได้ต่ำกว่า ดังนั้นพอร์ตการลงทุนอาจจะแตกต่างกันได้แม้เป็นลูกค้าคนเดียวกันก็ตาม
ขั้นตอนถัดไปคือ การจัดเงินเพื่อลงทุนในแต่ละเดือน ซึ่งในตัวอย่างนี้รายได้ปัจจุบันของลูกค้ายังอยู่ในระดับที่ไม่สูงเพียงพอที่จะจัดสรรให้เพียงพอต่อแผนการลงทุนทั้งสองพร้อมๆ กัน แต่เมื่อพิจารณาถึงลำดับความสำคัญของเป้าทุนการศึกษาที่สูงกว่า และจากการคาดการณ์ว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ทำให้เราจัดสรรเงินเพื่อลงทุนในพอร์ตเพื่อทุนการศึกษาในอัตราที่สูงกว่าพอร์ตเพื่อการเกษียณ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเมื่อรายได้ในอนาคตของลูกค้ามากขึ้น จำนวนเงินที่จัดสรรเข้าลงทุนในพอร์ตเพื่อการเกษียณค่อยเพิ่มขึ้นเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้ ในกรณีนี้โมเดลของแผนเกษียณอาจจะต้องถูกออกแบบให้ยืดหยุ่นเพื่อรองรับการจัดสรรเม็ดเงินได้ 2 ระยะดังกล่าว
เมื่อเวลาเปลี่ยนไปลูกค้าอาจบรรลุเป้าหมายหนึ่งแล้ว แต่อาจมีเป้าหมายเพื่อการลงทุนอย่างอื่นเพิ่มเติมอีกก็ได้ แต่ขั้นตอนการบริหารก็จะคล้ายกับที่กล่าวมา ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในชีวิตจริงนั้น การวางแผนการลงทุนนั้นมีความซับซ้อนและอยู่ใกล้กับตัวเราในทุกๆ ช่วงของอายุ ผมหวังว่าบทความนี้คงเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านในการพิจารณาวางแผนการลงทุนไม่มากก็น้อย และท้ายสุดนี้ ผมก็ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกๆ ท่านมีความสุข ปลอดภัยจากโรคและอุบัติเหตุใดๆ และโชคดีในการลงทุนตลอดปีฉลูนี้ครับ