อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด 'สุเทพ' ลั่น 39 กปปส. น้อมรับคำตัดสิน
ศาลอาญา นัดอ่านคำพิพากษา 'สุเทพ' พร้อมพวก 39 รายในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ ก่อการร้าย ล้มล้างระบอบการปกครอง มั่วสุมชุมนุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ และข้อหาอื่นๆ
24 ก.พ.64 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. กับพวก เดินทางมาตามที่ศาลได้นัดอ่านคำพิพากษา คดีที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุเทพ กับพวกรวม 39 คน ฐานร่วมกันเป็นกบฏ และข้อหาอื่น ๆ กรณีชุมนุมขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ให้ออกจากตำแหน่ง รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้งส.ส.ทั่วไป บุกยึดสถานที่ราชการ ปิดกรุงเทพมหานคร (Bangkok Shutdown) ด้วยการตั้งเวทีปราศรัยทั่วกรุงเทพมหานครรวม 7 จุด
นายสุเทพ กล่าวว่า จำเลยทั้ง 39 คน ได้พูดคุยกัน และทำใจไว้แล้วไม่ว่าผลคำพิพากษาจะออกมาอย่างไร พวกเราจะต้องเจอกับอะไรบ้าง และวันนี้พวกเรามาครบทั้ง 39 คน และการต่อสู้ของพวกเราที่ผ่านมามี 24 คนที่เสียชีวิต 900 กว่าคนบาดเจ็บ และมีผู้เสียอวัยวะ บางคนก็ถูกลงโทษจำคุก ดังนั้นอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ส่วนศาลจะพิจารณาอย่างไรขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน
แต่การต่อสู้ของพวกเราเป็นการต่อสู้เพื่อชาติบ้านเมือง ยึดมั่นการกระทำที่รับผิดชอบ ไม่ได้ต้องการฝ่าฝืนกฎหมาย เราเคารพกฎหมายในกระบวนการยุติธรรม และน่าชื่นใจมากทุกกรณีทุกจังหวัดที่พวกเราถูกดำเนินคดี ไม่มีใครหลบหนีคดี
นายสุเทพ ยังกล่าวขอบคุณประชาชนที่มาให้กำลังทั้งกำลังใจผ่านออนไลน์ และประชาชนที่เดินทางมาให้กำลังใจมอบดอกไม้ให้ที่ศาล ขอให้ทุกคนเป็นกำลังใจสำหรับคนที่ทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองเพื่อแผ่นดินต่อไป
ขณะที่บรรยากาศในวันนี้ กลุ่มจำเลยทยอยเดินทางมาตั้งแต่ช่วงเช้า โดยมีประชาชนมารอมอบดอกไม้เพื่อให้กำลังใจ และมีกำลังเจ้าพนักงานตำรวจศาล และ เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสน.พหลโยธินดูแลความเรียบร้อยบริเวณโดยรอบ
สำหรับจำเลยคดีนี้มีทั้งสิ้น 39 คน และในจำนวนนี้มีรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 3 ราย คือ 1.นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 2.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ 3.นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม
4. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ 5. นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย 6. นายชุมพล จุลใส 7. นายอิสสระ สมชัย 8. นายวิทยา แก้วภราดัย 9. นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ 10. นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
11. พลเอกปรีชา เอี่ยมสุพรรณ 12. นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ 13. นายยศศักดิ์ โกไศยกานนท์ 14นายถนอม อ่อนเกตุพล 15. นายสมศักดิ์ โกศัยสุข 16. นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ พุทธะอิสระ 17. นายสาธิต เซกัล 18. นางสาวรังสิมา รอดรัศมี 19. พลอากาศโทวัชระ ฤทธาคนี 20.พลเรือเอกชัย สุวรรณ ภาพ
21. นายแก้วสรร อติโพธิ 22. นายไพบูลย์ นิติตะวัน 23. นายถวิล เปลี่ยนศรี 24. เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์ 25. นายมั่นแม้น กะการดี 26. นายคมสัน ทองศิริ 27. พลเอกปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ 28. นายพิภพ ธงไชย 29. นายสาวิทย์ แก้วหวาน 30.นายสุริยะใส กตะศิลา 31. นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด
32.นายสุภวัฒน์ สุปิยะพาณิชย์ 33.นายสำราญ รอดเพชร 34.นายอมร อมรรัตนานนท์ 35. นายพิเชฐ พัฒนโชติ 36. นายสมบูรณ์ ทองบุราณ 37.นายกิตติชัย ใสสะอาด 38.นางทยา ทีปสุวรรณ 39 นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
คดีนี้อัยการโจทก์ระบุฟ้องพฤติการณ์ความผิดพวกจำเลยสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 23 พ.ย. 2556 – 1 พ.ค. 2557 ต่อเนื่องกัน นายสุเทพ จำเลยที่ 1 ได้จัดตั้งคณะบุคคล ชื่อ "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อัน มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" หรือ กลุ่ม กปปส. มีนายสุเทพเป็นเลขาธิการ
โดยร่วมกันมั่วสุมเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร กองกำลังแบ่งหน้าที่กันกระทำก่อความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรฐานเป็นกบฏเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยร่วมกันยุยง ปลุกระดมให้ประชาชนทั่วประเทศกระด้างกระเดื่องร่วมชุมนุมขับไล่ ก่อความไม่สงบเพื่อขับไล่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ออกจากตำแหน่ง
รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้ง สส.ทั่วไป เพื่อมิให้นายกรัฐมนตรี และ ครม.ชุดใหม่เข้าบริหารประเทศ ให้ข้าราชการระดับสูงรายงานตัวกับกลุ่ม กปปส.
จากนั้น กปปส.จะแต่งตั้งคณะบุคคลเข้าบริหารประเทศเป็นรัฐบาลประชาชน เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งจะออกคำสั่งแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และ ครม. โดยจะนำรายชื่อขึ้นกราบบังคมทูลเอง
รวมทั้งจัดตั้งกองกำลังส่วนหนึ่งพร้อมอาวุธเข้าไปบุกยึดสถานที่ราชการและหน่วยงานสำคัญต่างๆ หลายแห่ง เช่น ทำเนียบรัฐบาล สตช. บช.น. สำนักงานเขตหลักสี่ ศูนย์เยาวชนกรเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เพื่อไม่ให้รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินได้ รวมทั้งการปิดกั้น ขัดขวางเส้นทางคมนาคมขนส่งเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
นอกจากนี้ ช่วงระหว่างวันที่ 13 ม.ค.- 2 มี.ค. 2557 พวกจำเลยได้บังอาจปิดกรุงเทพมหานครด้วยการตั้งเวทีปราศรัยทั่วกรุงเทพมหานคร รวม 7 จุด ปิดกั้นเส้นทางการจราจร จัดตั้งกองกำลังรักษาพื้นที่ วางเครื่องกีดขวาง ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง การกระทำของพวกจำเลยล้วนไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงอำนาจบริหารตามรัฐธรรมนูญ เหตุเกิดในกรุงเทพมหานคร และอีกหลายท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเกี่ยวพันกัน
โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษพวกจำเลยด้วย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113, 116, 117, 135/1, 209, 210, 215, 216, 362, 364, 365 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 มาตรา 76, 152