"กัญชากัญชง"ทางรอดวิสาหกิจชุมชนและร้านอาหาร
"ตลาดกัญชากัญชง” เป็นตลาดที่ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคธุรกิจ และวิสาหกิจชุมชน ได้ให้ความสำคัญอย่างมาก ทุกแห่งต่างมุ่งศึกษาและคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชากัญชงป้อนตลาด
“ธนพร พรสง่ากุล” นักวิชาการวิสาหกิจ ศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพรเพลาเพลินเพื่อชุมชน จ.บุรีรัมย์ กล่าวถึงโอกาสและการเติบโตของกัญชาและกัญชงในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนว่า ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชน และภาคธุรกิจได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมกัญชาและกัญชงอย่างมาก
โดยเฉพาะกัญชง ที่มีคุณสมบัติไม่ได้แตกต่างจากกัญชา แต่ให้สารTHC (Tetrahydroconnabino) น้อยกว่าและมี CBD มาก ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะสนใจน้ำมันจาก CBD มากกว่า เนื่องจาก สามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง หรืออื่นๆ ตอนนี้จึงได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการจำนวนมากสวนทางกับการปลูกที่มีจำนวนจำกัด
“อุตสาหกรรมกัญชง และกัญชาจะมีความต้องการต่างกัน ซึ่งกัญชาแม้จะได้รับความนิยมสูงในช่วงแรก แต่เมื่อต้องสกัดมาใช้ในเครื่องดื่ม อาหาร หรืออื่นๆ กลับพบว่ากัญชง ได้รับความสนใจมากกว่าในกลุ่มของวิสาหกิจชุมชน ที่หันมาสนใจตลาดกัญชาและกัญชงสูง จึงมุ่งปลูกกัญชาและกัญชงควบคู่กันไป แต่ต้องยอมรับว่าความต้องการที่มากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ข้อจำกัดในการปลูกมีจำนวนมาก การปลูกแล้วก็ต้องได้มาตรฐาน อย่าง วิสาหกิจชุมชนศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพรเพลาเพลินเพื่อชุมชน มีพื้นที่เพียง 170 ตร.ม. และปลูกได้เพียง 160 ต้นต่อรอบ ขณะที่กัญชงยังไม่สามารถปลูกได้”ธนพร กล่าว
ธนพรกล่าวต่อว่าตลาดกัญชาและกัญชง จะกลายเป็นตลาดสำคัญและเพิ่มรายได้ คุณค่าให้แก่วิสาหกิจชุมชนแต่ละแห่ง แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะภาครัฐ อย่าง กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และอื่นๆ ต้องให้ความรู้ สร้างความเข้าใจทั้งการปลูก การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ การตลาด และกฎหมาย แก่วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการร่วมด้วย
ปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์เพชรล้านนา ได้ร่วมกับคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปลูกกัญชาสายพันธุ์ไทย ระบบแปลงเปิด ใช้กลไกตามธรรมชาติ ในพื้นที่ 3,908 ตรม. จำนวน 2,000 ต้น/รอบ/ปี หรือวิสาหกิจชุมชนปลูกกัญชา ณ รักจังฟาร์ม อ. วังน้ำเขียว จ. นครราชสีมา วิสาหกิจชุมชนปลูกกัญชาของ ต.นาคำ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม เป็นต้น
โดยส่วนใหญ่จะเป็นการปลูกกัญชา ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่เปิดให้ประชาชนเข้าถึงกัญชาและสมุนไพรทางการแพทย์ได้อย่างปลอดภัย พร้อมการถ่ายทอดความรู้ให้กับวิสาหกิจชุมชนเพื่อเพาะปลูกกัญชาเหมาะสมกับพื้นที่ อันนำไปสู่การต่อยอดสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนและชุมชน
ธนพร กล่าวอีกว่า มีผู้ประกอบการ และวิสาหกิจชุมชนหลายแห่งได้เข้ามาติดต่อสอบถาม เพื่อนำกัญชาไปปลูก หรือไปสกัดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ทุกแห่ง เพราะการนำกัญชาและกัญชงไปใช้ต้องเป็นไปตามข้อบังคับของกระทรวงสาธารณสุข และต้องมีการกำหนดปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงต้องมีการขออนุญาต ผ่านการตรวจสอบจากอย.และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งจะมาตรวจสอบการปลูกกัญชากัญชงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งสาธารณสุขจังหวัดบางแห่ง ไม่สามารถให้คำตอบกับวิสาหกิจชุมชนได้ ทั้งด้านกระบวนการปลูก หรือกฎหมาย
“หากจะส่งเสริมให้กัญชากัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ ต้องหาหน่วยงานกลาง หรือคนกลางเข้ามาเชื่อมระหว่างวิสาหกิจชุมชนกับภาคธุรกิจ รวมถึงจะต้องมีการสร้างความเข้าใจ ขอบเขตของวิสาหกิจชุมชนว่าสามารถปลูกได้หรือไม่ เพื่อให้มีความรู้และสามารถวางแผน กำหนดเป้าหมายได้ว่าเมื่อปลูกแล้วใครจะนำไปใช้ มีคุณภาพมากน้อยขนาดไหน ต้องขออนุญาตใคร ทำอย่างไร อยากให้ทางอย. จัดทำข้อมูลเป็นรายละเอียดให้ผู้นำในชุมชนได้นำไปแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้าน และควรอบรมให้ความรู้แก่สาธารณสุขจังหวัดร่วมด้วย”ธนพร กล่าว
นอกจากนั้นควรจะมีการนำเข้าของเมล็ดพันธุ์กัญชาที่มี CBD สูง เพราะตอนนี้อุตสาหกรรม ผู้ประกอบการสนใจน้ำมัน CBD สูงมาก แต่เมล็ดพันธุ์กัญชาในไทย ส่วนใหญ่เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ให้ไฟเบอร์สูงแต่มีน้ำมันน้อย หากหน่วยงานรัฐนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชาที่มี CBD สูง โดยช่วยในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการนำเข้า และส่งเสริมให้มีการปลูกในต้นทุนที่ไม่สูงมากจนเกินไป เชื่อว่าอุตสาหกรรมกัญชากัญชงของไทยต่อไปจะเติบโตมากกว่านี้ เช่นเดียวกับวิสาหกิจชุมชน อันเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน และชุมชน
“พลอยใส จรดล” เชฟร้านอาหารเขียวไข่กา กล่าวว่า เมื่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ปลดล็อกกัญชากัญชงจากการเป็นยาเสพติด และสามารถนำใบกัญชา และเมล็ดน้ำมันกัญชงมาใช้ประกอบอาหารได้จึงได้ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนบ้านทุ่งแพม อำเภอแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตกัญชาคุณภาพที่ใช้ทั้งการแพทย์และเพื่อการบริโภค ปลูกกัญชาแบบออร์แกนิคในโรงเรือนมีการควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอนด้วยหลักวิทยาศาสตร์ผสมผสานกับภูมิปัญญาชาวบ้านทำให้กัญชาจากแหล่งนี้เป็นกัญชาที่ปลอดสารเคมีและมีคุณภาพสูงด้วยการใส่ใจในทุกขั้นตอน และเป็นใบกัญชาสดใหม่คุณภาพดีเหมาะกับการนำมาปรุงอาหารให้แก่ลูกค้าทานได้
โดยพัฒนา เมนู “ยิ้มหวาน” สูตรอาหารนำส่วนผสมของกัญชากัญชงมาใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ทำให้ผู้รับประทานอาหารได้ประโยชน์คุณค่าทางอาหารเป็นอาหารทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภค มียอดสั่งซื้ออาหารมากขึ้น ทำให้มีลูกค้ามากขึ้น และสามารถอยู่รอดได้ในสถานการณ์โควิด-19
"หลังปลดล็อกดาวน์มาตรการโควิด-19 ให้ร้านอาหารสามารถเปิดให้บริการได้ และมีบริการจัดส่งอาหาร ทำให้เมนู ยิ้มหวาน กลายเป็นเมนูช่วยชีวิตของร้านเขียวไข่กา ขณะที่หลายๆ ร้านปิดตัวลง แต่เขียวไข่กากลับมีผู้บริโภคมากขึ้น ดังนั้น หากภาครัฐมีการส่งเสริมให้สถานประกอบการร้านอาหาร และจัดหาแหล่งวัตถุดิบอย่างกัญชา กัญชง เพื่อนำมาประกอบอาหาร เชื่อว่าจะช่วยทำให้ธุรกิจร้านอาหารไทยเติบโต และอยู่รอดได้ในยุควิถีชีวิตใหม่นี้”เชฟพลอยใส กล่าว
เชฟพลอยใส กล่าวอีกว่า การนำกัญชา กัญชงมาปรุงอาหาร ต้องเป็นกัญชา กัญชงที่มีการปลูกถูกต้องตามกฎหมาย และมีคุณภาพ มีความปลอดภัยตั้งแต่กระบวนการปลูกไปจนถึงการนำมาใช้ ที่สำคัญต้องนำมาใช้ในปริมาณที่เหมาะสม เนื่องกัญชากัญชงแม้จะมีสารที่รักษา ป้องกันโรคได้ แต่ก็มีสารที่ส่งผลข้างเคียงหรือสารที่เป็นโทษต่อร่างกายหากนำไปใช้ไม่ถูกวิธี หรือใช้มากเกินไป
ดังนั้น อยากให้ภาครัฐและภาคเอกชน ช่วยกันส่งเสริมการปลูกกัญชากัญชงที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ต้องให้ความรู้ทั้งทางด้านการแพทย์เกี่ยวกับกัญชา กัญชง การนำไปใช้ เพื่อช่วยให้ทุกคนสามารถนำกัญชา กัญชงมาใช้ประกอบธุรกิจได้อย่างถูกต้อง เมื่อธุรกิจอาหารเติบโตก็จะช่วยเรื่องปากท้อง ความเป็นอยู่ของผู้คน และอาจจะทำให้ครัวไทยไปสู่ครัวโลกได้กว้างมากยิ่งขึ้น