กรมเชื้อเพลิงฯ แจงไม่ได้นิ่งนอนใจ กรณี ปตท.สผ.เข้าแหล่งเอราวัณ ล่าช้า

กรมเชื้อเพลิงฯ แจงไม่ได้นิ่งนอนใจ กรณี ปตท.สผ.เข้าแหล่งเอราวัณ ล่าช้า

กรมเชื้อเพลิงฯ ห่วง ปตท.สผ. เข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณล่าช้า กระทบต้นทุนค่าไฟ เหตุกำลังการผลิตก๊าซฯขาดความต่อเนื่อง ย้ำพร้อมเป็นตัวกลาง เร่งเจรจาร่วมระหว่างปตท.สผ.กับ เชฟรอนฯ

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยถึงที่บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด หรือ ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ฯ ในฐานะผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือ PSC ในแปลง G1/61 (แหล่งกลุ่มเอราวัณเดิม) อาจเข้าพื้นที่ล่าช้า และเป็นสาเหตุสำคัญที่อาจจะกระทบต่อค่าไฟฟ้าแพงขึ้นนั้น

ทางกรมเชื้อเพลิงฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเรื่องดังกล่าว ทั้งเร่งประสานให้ทั้ง 2 ฝ่ายให้มีการเจรจาโดยเร็วที่สุด และขอเรียนชี้แจงเพิ่มเติมว่าการเข้าพื้นที่ล่าช้าดังกล่าว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นที่อยู่ในกระบวนการระงับข้อพิพาท โดยอนุญาโตตุลาการ เพราะเรื่องดังกล่าวก็เป็นไปตามกระบวนการทางข้อกฎหมาย ซึ่งอาจมีความเห็นไม่ตรงกันได้และสามารถเกิดขึ้นได้โดยทั่วไปแล้วแต่กรณี

161457037879

แต่การเข้าพื้นที่ของผู้รับสัญญารายใหม่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition period) นั้น เป็นความจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมืออย่างเร่งด่วนและจริงใจของทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งรายปัจจุบันและรายใหม่ที่จะเข้ามาดำเนินการ เพื่อการบริหารพลังงานของประเทศจะไม่มีการสะดุด และไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน

“ทางกระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะพยายามเร่งให้ทั้ง 2 ฝ่ายเจรจาหารือโดยเร็วที่สุด เพราะเชื่อมั่นว่าทุกฝ่ายต้องยึดประโยชน์ของคนไทยเป็นหลัก”

อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีข้อกังวลว่า หากกลุ่มปตท.สผ.เข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณล่าช้า อาจจะกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า ก็เป็นผลสืบเนื่องจากกรณีการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งกลุ่มเอราวัณที่การผลิตอาจจะไม่ต่อเนื่องหลังสัมปทานสิ้นอายุในปี พ.ศ. 2565 ซึ่งกรณีดังกล่าวมีสาเหตุเนื่องมาจากปัจจุบันมีความล่าช้าในการเจรจาหารือในการเข้าพื้นที่ระหว่าง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด (ในฐานะผู้รับสัมปทานปัจจุบัน) กับบริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด หรือ ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ฯ ในฐานะผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือ PSC ในแปลง G1/61 (แหล่งกลุ่มเอราวัณเดิม) เพื่อขอเข้าพื้นที่และเตรียมการดำเนินการต่าง ๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition period) จากระบบสัมปทานที่จะสิ้นสุดระยะเวลาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ซึ่งบริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ฯ ในฐานะผู้ดำเนินงานรายใหม่จะต้องเริ่มดำเนินการต่อเพื่อให้มีความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาติให้สามารถรักษาระดับการผลิตก๊าซธรรมชาติได้ตามเป้าหมาย วันละ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต