ท่องเที่ยวฯจี้สภาพัฒน์สรุปเงื่อนไขจ่ายเงิน "เที่ยวไทยวัยเก๋า"

ท่องเที่ยวฯจี้สภาพัฒน์สรุปเงื่อนไขจ่ายเงิน "เที่ยวไทยวัยเก๋า"

“พิพัฒน์” จ่อทวงถามสภาพัฒน์ ความคืบหน้าโครงการ “เที่ยวไทยวัยเก๋า” หลังเงื่อนไขรัฐช่วยจ่ายค่าแพ็คเกจทัวร์ยังไม่สรุปควรยิงตรงเข้ากระเป๋าบริษัททัวร์หรือกลุ่มนักท่องเที่ยวสูงวัย เป้าหมาย 1 ล้านคน หวังเร่งคิกออฟก่อนประกาศขยาย “เราเที่ยวด้วยกันเฟส 3”

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่าภายในสัปดาห์นี้จะขอหารือกับทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อทวงถามความคืบหน้าโครงการ “เที่ยวไทยวัยเก๋า” ที่ยังติดขัดเรื่องเงื่อนไขการจ่ายเงินสนับสนุนค่าแพ็คเกจทัวร์จากรัฐว่าควรจ่ายไปที่บริษัทนำเที่ยวผู้ให้บริการซึ่งคาดว่าน่าจะมีจำนวนเข้าร่วมกว่า 3,000 บริษัท หรือจ่ายตรงไปที่นักท่องเที่ยวกลุ่มสูงวัยจำนวน 1 ล้านคนตามเป้าหมายของโครงการฯ

“ผมมองว่าควรยิงตรงเข้าที่บริษัททัวร์เลย เพราะบริหารจัดการได้ง่ายกว่า คาดมีบริษัททัวร์เข้าร่วมขายผ่านโครงการนี้ประมาณ 3,000 บริษัท ขณะที่นักท่องเที่ยวกลุ่มสูงวัยเป้าหมายมีจำนวนมากถึง 1 ล้านคน อาจมีความยุ่งยากในการบริหารจัดการหากเกิดปัญหา แต่สภาพัฒน์ฯ เห็นต่างกัน โดยมองว่าควรยิงเงินตรงเข้ากระเป๋าชาวบ้านเลย”

สำหรับรายละเอียดการสนับสนุนค่าใช้จ่ายโครงการที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เสนอไปก่อนหน้านี้เพื่อกระตุ้นตลาดการท่องเที่ยวในประเทศ และกระจายรายได้ไปยังบริษัทนำเที่ยวซึ่งเป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากวิกฤติโควิด-19 จะใช้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท กระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยวกลุ่มสูงวัย อายุ 55-75 ปี จำนวน 1 ล้านคน วางเงื่อนไขให้สิทธิประโยชน์แก่กลุ่มเป้าหมายว่าต้องมีการเดินทาง 2 คนขึ้นไปในวันอาทิตย์ถึงพฤหัสบดี พร้อมใช้บริการผ่านบริษัทนำเที่ยว เดินทาง 3 วัน 2 คืนขึ้นไป โดยรัฐจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายไม่เกิน 5,000 บาทต่อคน

“เบื้องต้นกระทรวงคาดว่าโครงการเที่ยวไทยวัยเก๋าน่าจะสามารถเริ่มดำเนินโครงการได้ก่อนโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 ที่ภายในเดือน มี.ค.นี้ กระทรวงจะประกาศขยายระยะเวลาโครงการเราเที่ยวด้วยกันให้สิ้นสุดเดือน ก.ย.2564 จากเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 30 เม.ย.นี้”

สำหรับการปรับแนวทางการใช้วงเงินโครงการเราเที่ยวด้วยกันในส่วนที่เหลือ หลังจากนักท่องเที่ยวจองสิทธิห้องพักเต็ม 1 ล้านห้องใหม่ในเฟสที่ 2 เมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ทำให้เหลือเงินสนับสนุนในส่วนรัฐช่วยจ่ายค่าตั๋วเครื่องบิน 40% แบบคืนเงินย้อนหลังแต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อผู้โดยสาร เนื่องจากเหลือจำนวนสิทธิตั๋วเครื่องบินมากถึง 1.3 ล้านที่นั่ง จากโควต้าทั้งหมด 2 ล้านที่นั่ง เมื่อรวมกับเงินสนับสนุนคงเหลือจากส่วนของห้องพัก เบื้องต้นน่าจะเหลือราว 3-4 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตามต้องรอการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สรุปผลและงบประมาณคงเหลือจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เพื่อนำมากำหนดจำนวนสิทธิใหม่ว่าในเฟสที่ 3 จะเปิดให้จองได้กี่ล้านห้องพัก พร้อมพิจารณาว่าจะยุบส่วนการคืนเงินค่าตั๋วเครื่องบินแบบเดิม แล้วเปลี่ยนไปเป็นรัฐช่วยจ่ายตั๋วเครื่องบินแบบบุฟเฟต์ซึ่งช่วยกระตุ้นความถี่ของการท่องเที่ยวแทนหรือไม่

“ส่วนตัวผมเห็นด้วยกับการให้รัฐช่วยจ่ายตั๋วเครื่องบินแบบบุฟเฟต์ ไม่ได้ขัดข้องในส่วนนี้ เพียงแต่ตอนนี้บางสายการบินออกโปรโมชั่นขายตั๋วบินแบบบุฟเฟต์ไปแล้ว บางรายสิ้นสุดการทำโปรโมชั่น บางรายเริ่มขายโปรโมชั่นนี้อีกครั้ง ก็ต้องหารือกับสายการบินต่างๆ เพิ่มเติมว่ารัฐจะสามารถเข้าไปสนับสนุนส่วนนี้ได้อย่างไร” นายพิพัฒน์กล่าว