นายกฯ ชูทีมประเทศไทย ดูแลช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

นายกฯ ชูทีมประเทศไทย ดูแลช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

นายกฯ ชูทีมประเทศไทย บูรณาการ 12 กระทรวง ดูแลช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เชิงรุกและลึก ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยวันนี้ เมื่อเวลา 09.30 น. (3 มี.ค.64) ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการบูรณาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน ระหว่าง 12 กระทรวง 1 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักนายกรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวง วัฒนธรรม กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร เพื่อบูรณาการความร่วมมือช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในรายครัวเรือนให้ครอบคลุมทุกมิติแบบองค์รวม ให้กลุ่มเปราะบางสามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตครอบครัวมีความมั่นคง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และภาครัฐมีฐานข้อมูลที่เกิดจากการบูรณาการข้อมูลจากทุกหน่วยงานของกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือนระดับประเทศ โดยมีนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวรายงานถึงการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
 

นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีฯ ว่า การให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนยากจนและกลุ่มเปราะบาง เป็นเป้าหมายเร่งด่วนของรัฐบาล ทุกส่วนราชการคือทีมประเทศไทย ที่จะต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนประเทศโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ยิ่งคนกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้สูงอายุ ผู้พิการเด็กเล็ก ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ภาครัฐจึงต้องร่วมือกันอย่างเต็มที่ให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ และการบริการของภาครัฐได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียม ซึ่งการขับเคลื่อนการประสานงานตามความร่วมมือนี้ จะทำงานควบคู่ไปกับศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ที่รัฐบาลได้จัดตั้งขึ้นก่อนหน้านี้
 
“สาระสำคัญของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ คือการร่วมมือในการสนับสนุนข้อมูลกลุ่มเปราะบางเพื่อการวิเคราะห์และประเมินข้อมูลรายครัวเรือน รวมถึงวางแผนการให้ความช่วยเหลือและพัฒนาระบบการให้ความช่วยเหลือให้สามารถเข้าถึงสวัสดิการ โดยเชื่อมโยงการทำงานระดับพื้นที่ด้วยกลไกสหวิชาชีพ ร่วมกับอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) 1 คน ที่จะรับผิดชอบ 10 ครอบครัว ติดตามครอบครัวกลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ บันทึกข้อตกลงฯมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ลงนามเป็นต้นไป โดยมีกำหนดระยะเวลาความร่วมมือ 5 ปี (พ.ศ. 2564 – 2568)” นางสาวรัชดา กล่าว