อานิสงส์'โควิด-19'หนุนธุรกิจคลาวด์คิทเช่นโต
อานิสงส์'โควิด-19'หนุนธุรกิจคลาวด์คิทเช่นโต โดยในยุคหลังการระบาดของโรคโควิด-19 หรือยุคนิวนอร์มอลธุรกิจส่งอาหารจะกลับมาเป็นหนึ่งทางเลือกที่ผู้คนจะใช้บริการ เมื่อคิดจะซื้ออาหารและเครื่องดื่ม
สำหรับผู้ให้บริการคลาวด์คิทเช่นที่มีฐานดำเนินงานอยู่ในไต้หวันอย่าง“จัสต์คิทเช่น” การระบาดของโรคโควิด-19ที่ยืดเยื้อยาวนานเป็นปี ถือเป็นการเปิดประตูและเปิดโอกาสให้บริษัทก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมร้านอาหารสมัยใหม่
จัสต์คิทเช่น สตาร์ทอัพที่ก่อตั้งเมื่อเดือนมี.ค.ปีที่แล้ว เติบโตอย่างรวดเร็ว จนถึงขณะนี้เปิดครัวในไต้หวันแล้ว 14 แห่ง อีกสองแห่งกำลังดำเนินการก่อสร้าง และบริษัทตั้งเป้าระดมทุนจากการนำหุ้นออกขายแก่สาธารณชนครั้งแรก (ไอพีโอ)ในแคนาดาช่วงต้นเดือนมี.ค.นี้ให้ได้ 8.6 ล้านดอลลาร์
“บางคนคาดการณ์ว่าทุกอย่างจะกลับมาเหมือนปกติและในยุคหลังการระบาดของโรคโควิด-19 หรือยุคนิวนอร์มอล ธุรกิจส่งอาหารจะกลับมาเป็นหนึ่งทางเลือกที่ผู้คนจะใช้บริการ เมื่อคิดจะซื้ออาหารและเครื่องดื่ม”เคนท์ อู๋ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ(ซีโอโอ)จัสต์คิทเช่น กล่าว
อู๋ กล่าวว่าเขาและชาวไต้หวันคนอื่นๆมีประสบการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ช่วงหลังการระบาดของโรคโควิด-19เร็วกว่าประเทศอื่นๆเมื่อไต้หวันสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อชาวไต้หวันได้รับอนุญาตให้หวนกลับไปใช้ไลฟ์สไตล์เหมือนช่วงก่อนหน้านี้ หลายคนยังคงใช้บริการส่งอาหารและใช้บริการนี้บ่อยครั้งกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19
ประสบการณ์ดังกล่าวสร้างความมั่นใจแก่อู๋ว่าอุตสาหกรรมนี้ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตสูงและนี่ช่วยอธิบายได้ว่าเพราะเหตุใดจัสต์คิทเช่นจึงเตรียมใช้เงินที่ระดมได้จากการทำไอพีโอเข้าไปลงทุนในฮ่องกง ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ในปีนี้ก่อนจะขยายธุรกิจเข้าตลาดสหรัฐในปี 2565
ธุรกิจคลาวด์คิทเช่นและธุรกิจการส่งอาหารไม่เพียงได้รับความนิยมอย่างท่วมท้นในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19อย่างเดียวเท่านั้นแต่ธุรกิจเหล่านี้ยังไม่ต้องพึ่งพาสถานที่ตั้งในย่านทำเงินหรือย่านทำเลทองด้วย
“อาวเออร์ คิทเช่น”ซึ่งเปิดตัวในเดือนก.ย.ในกรุงโตเกียว กำลังพิสูจน์ให้เห็นว่าการตั้งร้านอยู่ตามถนนสายหลักหรือใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า ไม่ใช่เรื่องจำเป็นในการดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาซื้อสินค้าอีกต่อไปแล้ว เพราะครัวนี้ตั้งอยู่ปลายสุดของตรอก ใช้เวลาเดินเท้าจากสถานีใกล้ที่สุด 20 นาที ซึ่งดึงดูดบรรดาจักรยานและจักรยานยนต์ให้เข้ามาซื้ออาหารได้ตลอดทั้งวันและทุกวัน และหากครัวตั้งอยู่ในที่ห่างไกลชุมชน บรรดาเชฟประจำครัวจะรับออร์เดอร์ทางออนไลน์ และเนรมิตรอาหารเมนูต่างๆก่อนจะส่งอาหารนั้นๆให้แก่ลูกค้าได้ลิ้มชิมรสได้ทุกที่ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน
ธุรกิจประเภทนี้กำลังเฟื่องฟูและขยายตัวอย่างรวดเร็วในภูมิภาคเอเชีย ทั้งยังสร้างความมั่นใจแก่บรรดาแบรนด์ธุรกิจอาหารชื่อดังของเอเชียให้กล้าลงทุนหลายร้อยล้านดอลลาร์ในอุตสาหกรมเกิดใหม่นี้ ไม่ว่าจะเป็นโจลลิบี ฟู้ดส์ ของฟิลิปปินส์ แกร๊บของสิงคโปร์ และเซนทรัล เรสตัวรองต์ กรุ๊ป จากประเทศไทย
“ผมได้รับการเชื้อเชิญจากร้านอาหารกว่า 70แห่งที่สนใจทำสัญญากับเรา”มาซากิ ซูโด ประธานเอาเออร์ คิทเช่น กล่าวพร้อมทั้งบอกว่าเขามีแผนที่จะเปิดสาขาของครัวเพิ่มในปีนี้ โดยปัจจุบันคลาวด์คิทเช่นแห่งนี้มีร้านอาหาร7ประเภทคือ ร้านอาหารญี่ปุ่น ร้านสเต็ก ร้านอาหารไทย และร้านอาหารฝรั่งเศส โดยร้านทั้งหมดทำข้อตกลงเป็นพันธมิตรกับแพลทฟอร์มส่งอาหารอย่าง อูเบอร์อีทส์ และรับออร์เดอร์อาหารทางออนไลน์เพียงอย่างเดียว
ขณะที่ธุรกิจส่งอาหารกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมเอเชีย ธุรกิจร้านอาหารแบบที่ไม่มีหน้าร้านหรือที่เรียกกันว่า "Ghost Kitchens"ก็พลอยเติบโตตามไปด้วย
“ช่วงก่อนและหลังโรคโควิด-19ระบาด พฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้คนในสังคมจะไม่เหมือนกัน ก่อนที่โควิด-19จะระบาด บรรดาร้านอาหารต้องหาทางดึงดูดลูกค้าด้วยการตั้งร้านในย่านที่ตั้งสำนักงานหรือย่านใจกลางธุรกิจที่หนาแน่นไปด้วยผู้คน แต่ในยุคนิวนอรมอล ผู้คนทำงานจากที่บ้าน และหลกเลี่ยงการเข้าไปรวมอยู่ท่ามกลางฝูงชนจึงเปลี่ยนสมรภูมิรบของธุรกิจร้านอาหารอย่างสิ้นเชิง คลาวด์คิทเช่นจึงเป็นหนึ่งในไม่กี่ทางเลือกสำหรับร้านอาหารที่ต้องการอยู่รอด”อะกิฮิโร นิซูกิ ผู้เชี่ยวชาญด้านร้านอาหารจากฟูไน โซเคน บริษัทที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการ ให้ความเห็น
ในจีน ผู้ให้บริการในธุรกิจคลาวด์ คิทเช่นชั้นนำอย่าง แพนด้า ซีเล็กซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2559 ขยายสาขาไปถึง 120 แห่งทั่วประเทศจีนภายในปี 2562 ส่วนในอินเดีย บริษัทสตาร์ทอัพยูนิคอร์นอย่าง รีเบล ฟู้ด ระดมทุนจากโกลด์แมน แซคส์ และโกเจ็กในเดือนก.คปี2562ได้125 ล้านดอลลาร์และบริษัทวางแผนเปิดคลาวด์คิทเช่นในอินโดนีเซีย 100 แห่ง นอกจากนั้น เมื่อปี 2562บริษัทให้บริการจองโรงแรมราคาประหยัดและให้บริการด้านการบริหารแบรนด์อย่างโอโยก็ประกาศว่ากำลังพิจารณาที่จะสร้างแบรนด์คลาวด์คิทเช่นของตัวเอง
ขณะที่ในมาเลเซีย สตาร์ทอัพด้านคลาวด์คิทเช่นอย่างดาห์มากัน ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2558 และขยายธุรกิจเข้ามาในไทยในปี 2561 ผ่านการเข้าซื้อกิจการ สปูนฟูล มีลส์ของฮ่องกงเปิดตัวในสิงคโปร์เมื่อปี 2562ในย่านศูนย์กลางธุรกิจและหลายแห่งทางตอนเหนือของสิงคโปร์ ด้วยเมนูอาหารจานด่วนเพื่อเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วแก่ลูกค้า
การระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งสนับสนุนให้ธุรกิจรูปแบบนี้เติบโตยิ่งขึ้น เนื่องจากคนส่วนใหญ่อยู่แต่ในบ้าน หลีกเลี่ยงออกไปรวมตัวในที่ที่มีคนจำนวนมาก รวมทั้งตามร้านอาหาร แอพฯส่งอาหารจึงกลายเป็นอุปกรณ์ที่ผู้คนส่วนใหญ่พึ่งพา แม้ผู้คนบางกลุ่มยังไม่เคยมีประสบการณ์สั่งอาหารมาส่งถึงที่บ้านเลยก็ตาม