'ซีอีโอหญิง' ของไทย พลังผลักดันภาคธุรกิจ
ขณะนี้ไทยมีสัดส่วน "ซีอีโอหญิง" มากเป็นอันดับ 3 ของโลก และได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่ให้โอกาสผู้หญิงก้าวขึ้นสู่ผู้บริหารระดับสูงในทุกภาคส่วน ซึ่งการยอมรับไม่ใช่เฉพาะบริษัทไทย แต่รวมถึงบริษัทข้ามชาติด้วย
ประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่ให้โอกาสผู้หญิงก้าวขึ้นสู่ผู้บริหารระดับสูงในทุกภาคส่วน ทั้งในด้านการเมืองที่มีนายกรัฐมนตรีหญิงมาแล้ว รวมถึงภาคราชการที่ผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งบริหารระดับสูงมาต่อเนื่องทั้งปลัดกระทรวง อธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด รวมถึงภาคประชาชนที่มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ออกเป็นแกนนำในการเรียกร้องประเด็นต่างๆ จึงทำให้ผู้หญิงในสังคมไทยมีบทบาทค่อนข้างสูงในการมีส่วนร่วมต่อการขับเคลื่อนประเทศไทย
ผลการสำรวจของแกรนท์ ธอนตัน ยืนยันชัดเจนว่าประเทศไทยมีสัดส่วนผู้บริหารหญิงสูงมาก โดยผลการสำรวจเมื่อปี 2563 ที่ได้จากการสอบถามผู้บริหารระดับอาวุโสในบริษัทขนาดกลาง 5,000 แห่งจาก 30 ประเทศทั่วโลก พบว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้บริหารระดับสูงที่เป็นผู้หญิงสัดส่วน 32% ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ในระดับ 27% และหากดูเฉพาะตำแหน่ง “ซีอีโอ” พบว่าประเทศไทยมีสัดส่วนซีอีโอหญิงอยู่ที่ 24% เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ระดับ 20% จึงทำให้ไทยมีสัดส่วนซีอีโอหญิงมากเป็นอันดับ 3 ของโลก
ผู้บริหารหญิงไม่ได้รับการยอมรับเฉพาะในบริษัทไทย แต่ได้รับการยอมรับในบริษัทข้ามชาติด้วย โดยบริษัทข้ามชาติหลายแห่งที่เข้ามาตั้งสำนักงานในประเทศไทยได้แต่งตั้งผู้หญิงไทยเป็นผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานในประเทศไทย รวมถึงบางรายได้รับมอบหมายหน้าที่ให้เป็นผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานระดับภูมิภาค ซึ่งเป็นผลมาจากการได้รับโอกาสให้ได้รับหน้าที่สำคัญต่อเนื่องจนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำขององค์กรได้และสามารถทำหน้าที่ได้เป็นที่ยอมรับ
ซีอีโอหญิงหลายคนพูดตรงกันถึงการได้รับการยอมรับภายในองค์กร ซึ่งต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ความสามารถ จึงสะท้อนให้เห็นว่าถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูงได้ แต่ก็อยู่ในสายตาที่ถูกจับจ้องจากหลายฝ่าย ซึ่งเป็นด่วนแรกของซีอีโอหญิงที่ต้องก้าวข้ามจุดนี้ อาจจะต่างจากซีอีโอชายที่มีคำถามในลักษณะนี้น้อยกว่า ดังนั้นเมื่อได้รับโอกาสแล้วจึงเป็นเวทีสำคัญของผู้บริหารหญิงทุกระดับที่จะแสดงให้โลกนี้ได้รู้ถึงความสามารถของผู้นำหญิง
การขับเคลื่อนองค์กรธุรกิจในปัจจุบันจะต้องก้าวข้ามเส้นแบ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเพศ อายุ เพื่อสิ่งที่ตามมาจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้เห็นชัดเจนแล้วว่า “ปกติใหม่” ที่เกิดขึ้นทำให้ทุกอย่างคาดเดาได้ลำบาก ดังนั้นการได้รับความเห็นที่หลากหลายจากพนักงานทุกกลุ่มเป็นเรื่องสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร หลังจากนี้คงจะมีโอกาสได้เห็นผู้บริหารระดับสูงนอกจากผู้ชายเพิ่มมากขึ้น และหวังว่าประเทศไทยจะสร้างผู้นำในภาคส่วนต่างๆ มาช่วยยกระดับประเทศได้เพิ่มมากขึ้น