ผ่อนคลายนโยบายการเงินหนุนภาวะฟองสบู่สินทรัพย์
ผ่อนคลายนโยบายการเงินหนุนภาวะฟองสบู่สินทรัพย์ โดยต้นปีที่ผ่านมา บิทคอยน์ก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงระดับ 30,000 ดอลลาร์เป็นครั้งแรก หลังจากที่ตลอดในปี 2563 ที่ผ่านมามูลค่าของบิทคอยน์เติบโตขึ้นเกือบ 300%
ตอนนี้รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกเดินหน้าใช้มาตรการต่างๆเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายด้วยความหวังว่าจะหลีกเลี่ยงภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงที่การระบาดของโรคโควิด-19ยังคงดำเนินอยู่ แต่การดำเนินนโยบายแบบนี้ ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่บรรดานักลงทุนและนักวิเคราะห์มองว่ากำลังทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ด้านสินทรัพย์ตามมา
เว็บไซต์นิกเคอิ นำเสนอรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยยกตัวอย่างมณฑลเหอเป่ยของจีน ที่ราคา“โคโรค” หรือ “นิ่วในถุงน้ำดีวัว” ซึ่งนำมาใช้ในยาสมุนไพรจีนปรับตัวเพิ่มขึ้น เทียบกับเมื่อสี่ปีก่อนราคาสินค้าประเภทนี้กิโลกรัมละไม่ถึง 100,000 หยวน (15,400 ดอลลาร์)แต่ราคาที่เสนอโดยบรรดาพ่อค้าในขณะนี้เพิ่มขึ้นสี่เท่าเป็น 5 แสนหยวน สาเหตุที่ราคาพุ่งขึ้นมากเพราะบรรดานักเก็งกำไรที่คาดการณ์ว่าสินค้าประเภทนี้จะขาดตลาด
กรณีของราคาโคโรค เป็นหนึ่งในกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ทั่วโลก รวมถึงการประมูลสินค้าหรูหราตามสถาบันประมูลชื่อดัง เช่น แบบจำลองรถเฟอร์รารีของเล่นที่ขายไปได้ในราคา 120,000 ยูโร ไวน์โรมาเน -ก็องติ ไวน์ฝรั่งเศสที่จำหน่ายได้ขวดละหลายแสนดอลลาร์ และการ์ดเบสบอลล์ใบเดียวที่มีราคาหลายล้านดอลลาร์
อีกตัวอย่างที่สะท้อนถึงสัญญาณภาวะฟองสบู่ของสินทรัพย์คือเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา คอมพิวเตอร์กราฟฟิกภาพลิง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์งานศิลปะดิจิทัล ที่รู้จักกันในชื่อ“คริปโตพังค์”ขายได้ในราคา 900,000 ดอลลาร์ ศิลปะนี้ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อการันตีว่ามีเพียงหนึ่งเดียวในโลก และผลงานศิลปะนี้ทำให้มูลค่าตลาดศิลปะดิจิทัลขยายตัว400 เท่าในปีที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน ราคาของสกุลเงินคริปโตอย่างบิทคอยน์ก็ทะยานกว่าหกเท่าในช่วงปีที่ผ่านมา และต้นปีที่ผ่านมา บิทคอยน์ก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงระดับ 30,000 ดอลลาร์เป็นครั้งแรก หลังจากที่ตลอดในปี 2563 ที่ผ่านมามูลค่าของบิทคอยน์เติบโตขึ้นเกือบ 300% แต่ความร้อนแรงยังไม่หมด เมื่อวันที่ 7 ม.ค. บิทคอยน์มีมูลค่าทะลุ 37,700 ดอลลาร์ดันให้คริปโตเคอเรนซี หรือตลาดสกุลเงินดิจิทัลทั้งหมดมีมูลค่าสูงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรก
"เรย์ ดาลิโอ" ผู้จัดการเฮดจ์ฟันด์ ประเมินดัชนีภาวะฟองสบู่ที่เกิดจาก 6 ตัวบ่งชี้ รวมถึงภาวะกระทิงของตลาดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันดัชนีฟองสบู่อยู่ที่ 77% แม้ว่าความเสี่ยงกำลังเพิ่มขึ้น แต่ดาลิโอก็หวังว่ายังมีโอกาสที่สถานการณ์จะพลิกผันไปในทางตรงกันข้ามเมื่อเทียบกับช่วงเกิดภาวะฟองสบู่ในธุรกิจดอท-คอมในช่วงปี 2533ที่ดัชนีฟองสบู่อยู่ที่ 100%
นิกเคอิ เปรียบเทียบโดยใช้ตัวบ่งชี้ 5 ตัวและพบว่า 3 ใน5 ตัวบ่งชี้ระบุว่าความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะฟองสบู่สินทรัพย์เพิ่มสูงขึ้น ตัวบ่งชี้บัฟเฟตต์ ซึ่งเป็นอัตราเปรียบเทียบของมูลค่าตลาดหุ้นต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)เพิ่มขึ้นถึง 186% สูงกว่าตัวเลขในช่วงเกิดภาวะฟองสบู่ธุรกิจดอท-คอม หรือก่อนเกิดวิกฤตการเงินในช่วงปลายปี 2543
ขณะที่ดัชนีราคาบ้านในสหรัฐแซงหน้าระดับก่อนเกิดวิกฤตการเงิน และข้อมูลของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ(บีไอเอส)ระบุว่า ราคาบ้านทั่วโลกโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 19% เมื่อเทียบกับปี 2553 โดยเฉพาะราคาบ้านในอินเดีย เยอรมนีและสหรัฐ และขณะที่ความเสี่ยงเกิดภาวะฟองสบู่ในสินทรัพย์เพิ่มขึ้น รัฐบาลและธนาคารกลางทุกประเทศทั่วโลกก็กำลังเผชิญหน้ากับการตัดสินใจที่ยากลำบากมากขึ้น
ในอินเดีย ซึ่งกระแสการค้าบิทคอยน์กำลังมาแรง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของอินเดียเตรียมอภิปรายเกี่ยวกับร่างกฏหมายที่จะทำให้การค้าสกุลเงินคริปโตเป็นเรื่องถูกกฏหมายหรือผิดกฎหมายและท้ายที่สุดอาจมีการห้ามบริษัทเอกชนทุกแห่งเทรดคริปโตเคอร์เรนซี
ส่วนในจีน ราคาอสังหาริมทรัพย์ตามเมืองใหญ่กำลังดีดตัวขึ้น โดยนับตั้งแต่เดือนม.ค.เป็นต้นมา ธนาคารต่างๆของจีนคุมเข้มการปล่อยกู้แก่บริษัทอสังหาริมทรัพย์และการปล่อยกู้แก่ประชาชนทั่วไปที่ต้องการซื้อบ้านเงินผ่อน
ขณะที่ในสหรัฐ รัฐบาลยังคงเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเมื่อเดือนก.พ. สภาล่างสหรัฐได้โหวตผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ล่าสุด วานนี้ (7 มี.ค.)วุฒิสภาสหรัฐลงคะแนนโหวตอนุมัติกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินเดียวกันที่เสนอโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ด้วยคะแนนโหวตสนับสนุน 50 เสียง ขณะที่โหวตคัดค้าน 49 เสียง หลังจากที่ได้เจรจากันมาอย่างยาวนานเพราะฝั่งพรรครีพับลิกันพยายามผลักดันให้มีการแก้กฎหมายบางอย่าง
คะแนนโหวตสนับสนุน 50 เสียงมาจากวุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครตทั้งหมด ไม่มีสมาชิกพรรครีพับลิกันคนใดโหวตสนับสนุน โดยเป็นกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีวงเงินมากเป็นอันดับต้นๆ ของสหรัฐ ทั้งยังถือเป็นชัยชนะในการออกกฎหมายสำคัญครั้งแรกของปธน.ไบเดนนับตั้งแต่ที่ขึ้นดำรงตำแหน่งเมื่อเดือนม.ค.
ร่างกฎหมายฉบับสุดท้ายประกอบด้วยงบประมาณ 4 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อใช้แจกเงินชาวอเมริกันคนละ 1,400 ดอลลาร์ โดยเป็นการให้เงินช่วยเหลือครั้งเดียว และร่างกฎหมายนี้ยังรวมถึงมาตรการช่วยเหลือคนว่างงานต่อเนื่องสัปดาห์ละ 300 ดอลลาร์ ครอบคลุมชาวอเมริกันราว 9.5 ล้านคนที่ตกงานเพราะโควิด-19
วุฒิสภาสหรัฐจะส่งกลับร่างกฏหมายที่อนุมัติแล้วให้สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอนุมัติอีกครั้งในสัปดาห์หน้า และหลังจากนั้นจะส่งให้ปธน.ไบเดนลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไปก่อนวันที่ 14 มี.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันที่มาตรการช่วยเหลือผู้ว่างงานในปัจจุบันจะหมดอายุลง
แต่การใช้นโยบายดังกล่าว ทำให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีของสหรัฐเพิ่มขึ้นเป็น 1.29 ในปี2563 จาก 1.08 ในปี 2562 ส่วนญี่ปุ่น สหภาพยุโรปและจีนก็มีสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีพีในระดับสูงเช่นกัน