‘ปตท.’ ผนึก ‘ไปรษณีย์ไทย’ เข็นสินค้าชุมชนขายผ่านออนไลน์
“ปตท.” จับมือ “ไปรษณีย์ไทย” เพิ่มช่องทางตลาดออนไลน์ เข็นสินค้าชุมชนขายผ่านเว็บไซต์ “ชุมชนยิ้มได้.com” หวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ฝ่าวิกฤติโควิด - 19
นางสาวดวงพร เที่ยงวัฒนธรรม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กำกับองค์กรและกิจการสัมพันธ์ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และนางสาวปิลันธนี สุวรรณบุบผา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านธุรกิจไปรษณีย์ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการพัฒนาช่องทางประชาสัมพันธ์และจำหน่ายสินค้าชุมชนออนไลน์ ภายใต้ชื่อ “ชุมชนยิ้มได้” ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) โดยมีผู้บริหารจากทั้งสองหน่วยงานร่วมให้เกียรติเป็นสักขีพยานในพิธีดังกล่าว
นางสาวดวงพร เปิดเผยว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการร่วมพัฒนาเว็บไซต์ “ชุมชนยิ้มได้” จากเดิมที่เป็นเพียงช่องทางประชาสัมพันธ์สินค้า ไปสู่การเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่างเต็มรูปแบบ โดยเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลและระบบระหว่าง “ชุมชนยิ้มได้.com” กับ “Thailandpostmart.com” เพื่อให้ชุมชนสามารถเข้าถึงช่องทางการจำหน่ายแบบออนไลน์ และอำนวยความสะดวกให้ผู้ซื้อสินค้าในการชำระเงินด้วยช่องทางที่หลากหลาย
โดย ปตท. จะทำหน้าที่ค้นหาและคัดเลือกสินค้าจากชุมชนที่มีคุณภาพเข้ามาจำหน่าย และทาง ปณท จะเป็นผู้ที่บริหารจัดการคำสั่งซื้อ ทั้งการชำระเงินและจัดส่งสินค้า
นอกจากนี้ ปตท. ยังให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าชุมชน เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า และสนับสนุนการเข้าสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม
ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณทาง ปณท ที่เห็นถึงความตั้งใจของ ปตท. ในการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน จนนำมาสู่ความร่วมมือในการจัดทำโครงการดังกล่าวร่วมกัน
ขณะที่ นางสาวปิลันธนี กล่าวว่า ปณท มีความยินดีและพร้อมดำเนินงาน ในส่วนของการเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์และจัดจำหน่ายสินค้าชุมชนออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ “ชุมชนยิ้มได้.com” ของ ปตท. โดยจะใช้จุดแข็งของทาง ปณท ทั้งทางด้านดิจิทัลแพลตฟอร์มที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์คนไทยรุ่นใหม่ ระบบขนส่งและโลจิสติกส์ที่ทันสมัย
นอกจากนี้ ที่ทำการสาขาของ ปณท ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศยังสามารถทำหน้าที่ให้ความรู้กับชุมชนที่เข้าร่วมโครงการในด้านต่างๆ ทั้งการใช้งานระบบ รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับแนวทางการจำหน่ายสินค้าอีกด้วย
ความร่วมมือดังกล่าว นับเป็นการร่วมพัฒนาช่องทางจำหน่ายสินค้าชุมชนออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานและมีความทันสมัย เป็นที่ต้องการของตลาด ถือเป็นการส่งเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรายได้ในช่วงสถานการณ์โควิด -19 ที่ทุกภาคส่วนต่างได้รับผลกระทบโดยเฉพาะชุมชนและเกษตรกร ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของประเทศที่ได้รับความเดือดร้อน ให้ได้มีรอยยิ้มกลับคืนมาอีกครั้ง