กรมเชื้อเพลิงฯ ลงนามยืดอายุผลิตก๊าซฯน้ำพอง อีก 10 ปี

กรมเชื้อเพลิงฯ ลงนามยืดอายุผลิตก๊าซฯน้ำพอง อีก 10 ปี

ก.พลังงาน ลงนามร่วมบริษัท เอ็กซอนโมบิลฯ ต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มเติมแหล่งก๊าซธรรมชาติน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น อีก 10 ปี สิ้นสุด 15 มีนาคม 2574 ตามมติครม. คาดสร้างรายได้ให้แก่รัฐ 750 ล้านบาท

วันนี้ (9 มีนาคม 2564) นายสุพัฒน์พงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ร่วมพิธีลงนามสัมปทานเพิ่มเติมของสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 2/2522/17 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข E5 (นอกพื้นที่โคราช) หรือแหล่งก๊าซธรรมชาติน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ณ ห้องบัญชาการยุทธศาสตร์ ชั้น 25 กระทรวงพลังงาน

สัมปทานดังกล่าวมีบริษัท เอ็กซอนโมบิล เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราช อิงค์ เป็นผู้รับสัมปทาน ซึ่งถือเป็นแปลงสัมปทานปิโตรเลียมบนบกลำดับแรกๆ ของประเทศไทยที่ผลิตและจำหน่ายก๊าซธรรมชาติมากว่า 30 ปี

การลงนามสัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มเติมในครั้งนี้ เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 โดยเป็นการต่อระยะเวลาการผลิตปิโตรเลียมออกไปอีก 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2574 ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม

161528068643

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ศึกษาและพิจารณาคำขอต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมในแหล่งก๊าซธรรมชาติดังกล่าว โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญเช่น การปฏิบัติตามสัมปทานของผู้รับสัมปทาน การยื่นคำขอต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมก่อนสิ้นระยะเวลาผลิต ข้อเสนอแผนการดำเนินงาน และผลประโยชน์ที่เสนอให้กับรัฐ และผ่านการพิจารณากลั่นกรองของคณะกรรมการปิโตรเลียมก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติแปลงสำรวจบนบกหมายเลข E5 (นอกพื้นที่โคราช) หรือแหล่งก๊าซธรรมชาติน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่ผลิตปิโตรเลียม จำนวน 34.40 ตารางกิโลเมตร ซึ่งครอบคลุมพื้นที่อำเภอน้ำพอง และอำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น

161528070387

สำหรับการต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากแหล่งดังกล่าวประมาณวันละ 7-8 ล้านลูกบาศก์ฟุต จะถูกส่งไปเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้ประชาชนกว่าล้านครัวเรือนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการสร้างงานในประเทศ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสร้างรายได้ให้แก่รัฐ รวมทั้งสิ้นประมาณ 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณ 750 ล้านบาท