บอร์ด รสก.ชี้อสมท.วิกฤต สั่งทำแผนฟื้นฟูกิจการใน 30 วัน
บอร์ด รสก. สั่ง อสมท. ส่งแผนฟื้นฟูกิจการภายใน 30 วัน ชี้สถานะการเงิน ง่อนแง่น ขาดรายได้ รายจ่ายสูง ตั้ง “พิชิต อัคราทิพย์” คุม รสก.3 แห่งในกลุ่มฟื้นฟู พร้อมไฟเขียวตั้ง 2 บริษัทลูก กฟน. และ กฟผ.ลุยพลังงานทดแทน-นวัตกรรม
นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานวานนี้ (10 มี.ค.) ว่าที่ประชุมฯ มีมติให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ เพื่อพิจารณากลั่นกรองและเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจกำกับติดตามการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจเพิ่มเติมอีกหนึ่งแห่งได้แก่ บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) จากเดิมที่มีรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในการติดตามแก้ปัญหา 3 แห่ง ได้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ ซึ่งเกิดจากการควบรวมของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT กับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT รวมเป็นรัฐวิสาหกิจที่ต้องติดตามการแก้ปัญหา 4 แห่ง
ทั้งนี้ คนร.มีคำสั่งให้ อสมท.ส่งแผนการดำเนินงานและฟื้นฟูกิจการให้ สคร.พิจารณาภายใน 30 วัน เนื่องจากพิจารณาว่า อสมท.ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจสื่อทำให้รายได้ และราคาหุ้นลดลงมาก และแม้จะมีการพยายามลดรายจ่ายด้วยการปรับโครงสร้างองค์กรโดยลดจำนวนพนักงาน ปรับโครงสร้างด้วยการเปิดให้มีการสมัครใจลาออก (early retire) แต่องค์กรยังประสบปัญหาในการหารายได้เพิ่มเติมจนเริ่มกระทบกับความสามารถในการชำระหนี้
อย่างไรก็ตามสถานะของ อสมท.ยังแตกต่างจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เนื่องจากยังมีทรัพย์สินอยู่เป็นจำนวนมาก คนร.จึงต้องการให้รีบมีการเข้าไปดูแลและจัดทำแผนธุรกิจที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุดและ คนร.จะดูแลการฟื้นฟูอย่างใกล้ชิดต่อไป
ที่ประชุม คนร.ได้เห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ ให้แก่ คนร. โดยมีนายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน คนร. เป็นประธานอนุกรรมการ ส่วนกรรมการคนอื่นๆประกอบไปด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิได้แก่นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล นางกงกฤช หิรัญกิจ นายภูมิใจ อัตตะนันทน์ นายวิเชฐ ตันติวานิช และนายประสัณห์ เชื้อพานิช เป็นกรรมการทำหน้าที่ในการกลั่นกรองและกำกับการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจทั้ง 4 แห่ง
สำหรับสถานะของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ประชุมฯ คนร.รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามขั้นตอนการฟื้นฟูการบินไทยซึ่งได้มีการยื่นเรื่องให้กับศาลล้มละลายกลาง และเข้าสู่ขั้นตอนการเจรจากับเจ้าหนี้ที่จะต้องมีการปรับลดแฮร์คัดหนี้สินเพื่อให้การบินไทยทำธุรกิจต่อไปได้ ทั้งนี้สถานะของการบินไทยล่าสุดถือว่าไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจแล้วรัฐบาลจึงจะใช้กลไกอื่นๆในการติดตามความคืบหน้าโดยไม่ต้องเข้าสู่การพิจารณาของ สคร.อีกในครั้งต่อๆไป
นอกจากนี้ที่ประชุมฯยังเห็นชอบในหลักการของการจัดตั้งบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง ได้แก่ 1. บริษัทในเครือของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ภายใต้ชื่อ บริษัท MEA Smart Energy Solutions จำกัด) ทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการให้บริการให้คำปรึกษาการออกแบบ ติดตั้ง บำรุงรักษา และลงทุนด้านการบริหารจัดการระบบพลังงานทดแทน (Renewable Energy) และระบบพลังงานแบบอัจฉริยะ (Smart Energy) แบบครบวงจรเพื่อรองรับการเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) รวมทั้งรองรับการขยายงานด้านโซลาร์รูฟท็อป โดย กฟน. จะถือหุ้น 100% ของบริษัทในเครือดังกล่าว
และ 2.บริษัทในเครือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของ กฟผ. และกลุ่ม กฟผ. สู่เชิงพาณิชย์ และลงทุนในธุรกิจพลังงานเพื่ออนาคต (Future Energy) โดย กฟผ. จะถือหุ้น 40% ของบริษัทในเครือดังกล่าว และมีบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด(มหาชน) (EGCO) และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ กฟผ. ร่วมถือหุ้นด้วยแห่งละ 30%
ที่ประชุมฯยังเห็นชอบหลักเกณฑ์การประเมินผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ โดยกำหนดให้มีการประเมินผล การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจใน 3 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการดำเนินงานตามนโยบายและภารกิจตามยุทธศาสตร์ 2.ด้านผลการดำเนินงาน (การเงินและไม่ใช่การเงิน) และ 3.ด้านการบริหารจัดการองค์กรตาม Core Business Enablers ทั้ง 8 หัวข้อ และให้เริ่มใช้หลักเกณฑ์การประเมินผลดังกล่าวตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป เพื่อกำกับติดตามการทำงานของรัฐวิสาหกิจต่อไป