3แนวทางชี้ขาด‘อำนาจรัฐสภา’แก้รธน. จับตา!ศาลวินิจฉัยวันนี้

3แนวทางชี้ขาด‘อำนาจรัฐสภา’แก้รธน. จับตา!ศาลวินิจฉัยวันนี้

จับตาวันนี้! ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ขาดคำร้องไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. บัญชีรายชื่อ พปชร. ร่วมกับนายสมชาย แสวงการ ส.ว.ที่ขอให้ตีความว่ารัฐสภามีอำนาจรัฐตั้งส.ส.ร.เพื่อยกร่างรธน.ทั้งฉบับได้หรือไม่?

วันนี้(11มี.ค.) ศาลรัฐธรรมนูญนัดแถลงด้วยวาจาและลงมติ คำร้องที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ร่วมกับนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ที่ยื่นต่อประธานรัฐสภา เพื่อขอให้สภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2)

ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256(1)ของรัฐสภา เพื่อตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

โดยมีรายงานว่า การพิจารณาคำร้องดังกล่าวองค์คณะตุลาการจะไม่มีการออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย เป็นเพียงการประชุมภายในเท่านั้น และหลังจากได้ผลการพิจารณาแล้ว ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะส่งรายละเอียดของการพิจารณาและมติเป็นเอกสารข่าวให้กับสื่อมวลชนได้รับทราบ

-เปิด3แนวทางวินิจฉัย

สำหรับแนวทางคำวินิจฉัยที่จะออกมาในวันนี้ เป็นไปได้ "3แนวทาง"

1. ศาลวินิจฉัยว่า "รัฐสภาสามารถดำเนินการได้ทั้งกระบวนการ" เท่ากับว่ารัฐสภาจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามขั้นตอนต่อไปนั่นคือ การลงมติ "ให้ความเห็นชอบ" ในวาระ3 ซึ่งล่าสุดนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้ทำหนังสือไปยังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เพื่อประสานออกพระราชกฤษฎีการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อลงมติให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขวาระ3 ในวันที่17-18มี.ค.นี้

2. ศาลวินิจฉัยว่า "รัฐสภาไม่มีอำนาจ" จัดทำรัฐธรรมนูญตามมาตรา256(1)  หากเป็นไปตามแนวทางนี้ ต้องรอดูคำวินิจฉัยต่อไปว่าศาลจะวินิจฉัยให้กระบวนการทั้งหมด โดยเฉพาะการลงมติให้ความเห็นชอบในวาระ3เป็นอันต้องสิ้นสุดลงไปด้วยหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นเท่ากับว่า รัฐสภาจะต้องกลับไปเริ่มนับหนึ่งนั่นคือ การเสนอร่างแก้ไขเป็นรายมาตราเข้าสู่การพิจารณาของสภาเพื่อพิจารณารับหลักการในวาระแรกใหม่ 

หรือศาลจะวินิจฉันให้สิ้นสุดกระบวนการเฉพาะการแก้ไขมาตรา 256ซึ่งเป็นประเด็นที่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ หากเป็นเช่นนี้เท่ากับว่ารัฐสภาจะยังลงมติวาระ3ในประเด็นที่เหลือคือ การเพิ่มหมวด15/1 ซึ่งเป็นหมวดใหม่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญซึ่งไม่ใช่ประเด็นที่ถูกยื่นตีความได้

หรือ 3.ศาลอาจให้ "แนวทางปฏิบัติ"  เช่น ทำได้แต่ต้องไปทำประชามติถามประชาชน ,หรือทำได้โดยตั้งส.ส.ร.ตามมาตรา256แต่ให้แก้ไขรายมาตราเป็นต้น

- ส่องเนื้อหาคำร้องชี้ขาด

ขณะที่ "เนื้อหา-รายละเอียด" ที่นายไพบูลย์และนายสมชายยื่นคำร้องขอให้ตีความ คือ “ปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา กรณีร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านในการตั้ง ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่”

เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้กำหนดให้เขียนรัฐธรรมนูญทั้งฉบับใหม่ได้เหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฉบับ 2557

“มีเพียงแต่เฉพาะบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ให้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเท่านั้น ดังนั้น การกระทำใด ๆ เพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ การกระทำดังกล่าวเป็นอันใช้บังคับมิได้”

-สาระสำคัญร่างแก้ไขรธน.

ผู้สื่อข่วรายงานว่า ร่างแกไขรัฐธรรมนูญซึ่งผ่านวาระ2ไปก่อนหน้านี้มีประเด็นสำคัญ อาทิ

การแก้ไขตามมาตรา256 ใช้เสียง ไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภาฯ​หรือ 450 เสียง ในวาระแรกและวาระสาม

ขณะที่ที่มาของส.ส.ร. มีจำนวน200 คน มาจากการเลือกตั้งแบบ"แบ่งเขตเลือกตั้ง" เป็นต้น