‘อิสระ 01’ กัญชาดีมีสรรพคุณทางยา ตีตราพันธุ์แรก

‘อิสระ 01’ กัญชาดีมีสรรพคุณทางยา ตีตราพันธุ์แรก

กรมวิชาการเกษตร ตีตรากัญชาพันธุ์แรก “อิสระ 01” มีสารCBD ครบสรรพคุณทางยา ใช้ระยะเวลาการปรับปรุงพันธุ์ กว่า 24 ปี พร้อมเร่งออกแนวปฏิบัติ- ขับเคลื่อน-ส่งเสริมครอบคลุมการนำเข้า-จำหน่ายเมล็ดพันธุ์

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในขณะนี้กรมวิชาการเกษตรรับรองพันธุ์กัญชา ตามพรบ.พันธุ์พืช  พ.ศ. 2518   แล้ว 1 พันธุ์คือ กัญชาพันธุ์อิสระ 01 เมื่อต้นเดือนก.พ.2564  โดยเป็นสายพันธุ์ที่มาจากการพัฒนาคัดเลือกกลุ่มประชากรกัญชาสายพันธุ์ไทย ที่ปลูกอยู่ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ระยะเวลาในการดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ประมาณ 24 ปี

และได้นำไปใช้ประโยชน์ในโครงการปลูกและสกัดพืชกัญชาผลิตตำรับยารักษาโรค กรณีจำเป็นเฉพาะผู้ป่วยเฉพาะราย และโครงการผลิตช่อดอกกัญชาจากระบบผลิตกัญชาไทยคุณภาพสูงเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งคณะผู้ดำเนินงานใช้ชื่อว่ากัญชา“พันธุ์อิสระ 01” สื่อความหมายถึงกัญชาสายพันธุ์ดีของประเทศไทยที่มีสาร Cannabinoid (CBD) ซึ่งมีสรรพคุณทางยาได้รับการปลดปล่อยให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้

“ทั้งนี้การขึ้นทะเบียนทะเบียนพันธุ์พืชซึ่งเป็นการให้การรับรองพันธุ์พืชที่มีผู้มายื่นคำขอขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 ต้องแจ้งแหล่งที่มา  ประวัติ และลักษณะประจำพันธุ์ของพันธุ์พืชไว้กับกรมวิชาการเกษตร  ซึ่งพืชทุกชนิด ยกเว้นเห็ด ที่มีข้อมูลชัดเจนและจะมีลักษณะดีเด่นทางการเกษตรหรือไม่มีก็ตามสามารถนำมาแจ้งขึ้นทะเบียนได้

 โดยหากผ่านการพิจารณาแล้วกรมวิชาการเกษตรจะบันทึกในฐานข้อมูลและออกหนังสือรับรองเป็นพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนพันธุ์ให้ไว้เป็นหลักฐาน เปรียบเสมือนการทำบัตรประจำตัวพันธุ์พืช เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้พัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืช  และเป็นฐานข้อมูลพันธุ์พืชของประเทศไทย

จากผลการดำเนินงานขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน  สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช                       กรมวิชาการเกษตร  ได้ออกหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนแล้วรวมจำนวนทั้งสิ้น 1,478 พันธุ์ จาก 151 ชนิดพืช  โดยชนิดพืชล่าสุดที่ได้รับการขึ้นทะเบียนคือกัญชาพันธุ์อิสระ 01

ซึ่งพัฒนาคัดเลือกพันธุ์โดยกรมการแพทย์ กรมวิชาการเกษตร และมูลนิธิวนเกษตรอินทรีย์  โดยสำนักคุ้มครองพันธุ์พืช ได้ตรวจสอบเอกสารและลักษณะประจำพันธุ์เบื้องต้นของพืชดังกล่าวตามหลักวิชาการเรียบร้อยแล้ว

จึงได้ออกประกาศโฆษณาเพื่อแจ้งให้สาธารณชนทราบและเปิดโอกาสให้ทักท้วงเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2563  ผลปรากฏว่าภายในระยะเวลา 30 วันนับจากวันปิดประกาศไม่มีผู้ใดทักท้วง กรมวิชาการเกษตรจึงได้ออกหนังสือรับรองพันธุ์กัญชาอิสระ 1 เป็นพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.2518 พันธุ์ล่าสุดของกรมวิชาการเกษตรเมื่อวันที่ 29 ม.ค.  2564  

ทั้งนี้การนำพันธุ์พืชมาขอขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรจะทำให้พันธุ์พืชที่ผ่านการรับรองได้รับความเชื่อมั่นและการยอมรับในคุณสมบัติของพันธุ์  ซึ่งผู้ที่ต้องการนำพันธุ์พืชมาขอรับการขึ้นทะเบียนสามารถมายื่นคำขอได้ที่สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช หรือยื่นคำขอทางไปรษณีย์

โดยจะต้องมีข้อมูลที่มาของพันธุ์พืชที่จะขอขึ้นทะเบียน ได้แก่ ชื่อพันธุ์ แหล่งที่มา ประวัติพันธุ์ วิธีการปรับปรุงพันธุ์  ลักษณะประจำพันธุ์ทางพฤกษศาสตร์  ลักษณะอื่นๆ  และรูปภาพต้น ใบ ดอก และผล เอกสารหลักฐานยืนยันตัวบุคคล นิติบุคคล หนังสือมอบอำนาจ (กรณีมอบอำนาจ)

 กรณีขอขึ้นทะเบียนพืชกัญชงและกัญชาซึ่งเป็นพืชยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 จะต้องแนบหนังสือรับรองว่าเป็นผู้ได้รับอนุญาตดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายยาเสพติดให้โทษจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ด้วย

คุณสมบัติของพันธุ์ที่จะยื่นขอหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนพันธุ์ต้องมีความแตกต่างทางสัณฐานวิทยา มีความสม่ำเสมอ มีความคงตัว รวมถึงมีชื่อไม่ซ้ำและเหมาะสม  หากเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบข้อมูลครบถ้วนและถูกต้องจะจัดทำข้อมูลเสนออธิบดีกรมวิชาการเกษตรเพื่อประกาศโฆษณาบนเว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตร  และติดประกาศที่สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช เป็นระยะเวลา 30 วัน เพื่อแจ้งให้สาธารณชนทราบและเปิดโอกาสให้ทักท้วง

 กรณีไม่มีผู้ทักท้วงภายใน 30 วัน นับจากวันปิดประกาศ  กรมวิชาการเกษตรจะออกหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนฯ ให้เจ้าของพันธุ์ต่อไป ผู้ที่สนใจจะนำพันธุ์พืชมาขอรับการขึ้นทะเบียนสามารถติดต่อได้ที่กลุ่มวิจัยการคุ้มครองพันธุ์พืช  สำนักคุ้มครองพันธุ์

ปัจจุบันกรมได้มีแผนการวิจัยและพัฒนาพืชกัญชาและกัญชง โดยการรวบรวมและศึกษาขยายพันธุ์พื้นเมืองและพันธุ์การค้าต่างประเทศ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ที่กรุงเทพฯ เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ดี   และที่ศูนย์เชียงรายเป็นการทดลองปลูกในสภาพโรงเรือน การทดสอบสายพันธุ์คุณภาพเพื่อใช้ทางการแพทย์ การศึกษาการจำแนกกัญชาเพื่อรองรับการคุ้มครองพันธุ์พืช การวิจัยยีนและการแสดงออกของยีน  นอกจากนั้นได้มีการคัดเลือกสายพันธุ์และทดสอบเทคโนโลยีการผลิตพืชสกุลกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์และอุตสาหกรรม ที่วิสาหกิจชุมชนเพ-ลา เพลินและวิสาหกิจชุมชนปลูกพืชสมุนไพรไทยโนนมาลัย จ.บุรีรัมย์”

   อย่างไรก็ตาม กรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างร่วมกับองค์การอาหารและยา เพื่อกันกำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนการส่งเสริมการปลูกพืชกัญชงและที่จะครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการนำเข้าและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ การขออนุญาตปลูก การตรวจแปลง การตรวจสารยาในเมล็ด ไปจนถึงการจับคู่รับซื้อผลผลิตทั้งหมด จนถึงกระบวนการแปรรูป

 เนื่องจากเป็นพืชควบคุม ทั้งนี้จะส่งผลให้ประชาชนทั่วไปที่ประสงค์จะปลูกสามารถยื่นเรื่องเพื่อขออนุญาตได้ที่คณะกรรมการระดับจังหวัด เพราะรัฐบาลต้องการให้นโยบายที่ออกมาสร้างอานิสงค์ทั้งการสร้างงานและการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ภายใต้กำกับของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง


   

 ทั้งนี้แนวปฏิบัติประกอบด้วย  1.การนำเข้าเมล็ดพันธุ์และจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ กรมวิชาการเกษตรจะเร่งดำเนินการประกาศให้เมล็ดพันธุ์กัญชาและกัญชงเป็นเมล็ดพันธุ์ควบคุมตามพรบ.พันธุ์พืช พ.ศ. 2518 โดยในระหว่างรอประกาศ จะใช้ระเบียบและกฎเกณฑ์ของอย.ไปพรางก่อน เมื่อมีประกาศแล้ว ให้สองหน่วยงานบูรณาการในการรับรองใบอนุญาต

  1. การขออนุญาตปลูกเป็นของอย. ซึ่งจะมีคณะกรรมการระดับจังหวัด พิจารณาและรวบรวมรายชื่อผู้ปลูกและหลักฐานการยื่นให้เกษตรและสหกรณ์จังหวัดและหน่วยงานในกระทรวงเกษตรดูแล  ตั้งแต่การเตรียมแปลง ตามเก็บเกี่ยว และส่งผลการตรวจประเมินความสามารถของผู้ปลูกให้อย. และกระทรวงเกษตรฯจะร่วมตรวจสอบการนำเข้าการผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อจำหน่าย การควบคุมการผลิตต้นกล้าและคุณภาพต้นกล้าเพื่อให้ได้คุณภาพตรงตามสายพันธุ์

 3.การทดสอบคุณภาพของกัญชาและกัญชง ผู้ปลูกและผู้ซื้อสามารถใช้อุปกรณ์ตรวจเบื้องต้นได้เอง และกระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนให้เอกชนตั้งห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์คุณสมบัติทางกายภาพและคุณสมบัติทางเคมีของสารสกัดจากกัญชาและกัญชง เพื่อให้การบริการประชาชนทั่วถึง

และ 4.การซื้อ-ขายกัญชาและกัญชง จะเป็นการซื้อ-ขายโดยตรงหรือระบบcontract farming ระหว่างผู้ซื้อและผู้ปลูก  รวมถึงการจัดตั้งตลาดกลางกัญชา ตลาดกลางกัญชง เป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขายที่มีกำหนดมาตรฐานสินค้า การกำหนดราคากลาง และการซื้อขายที่เป็นธรรมโดยให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้ง