‘วันนอนหลับโลก’ ล้วงลึกปัญหา 'นอนไม่หลับ' น่ากลัวแค่ไหน?

‘วันนอนหลับโลก’ ล้วงลึกปัญหา 'นอนไม่หลับ' น่ากลัวแค่ไหน?

คนไทยกว่า 19 ล้านคนมีอาการ "นอนไม่หลับ" อะไร? เป็นสาเหตุให้คนเรานอนไม่หลับ แม้จะรู้สึกง่วงสุดๆ ก็ตาม และอาการเหล่านี้ส่งผลเสียต่อร่างกายยังไง? เนื่องใน "วันนอนหลับโลก" ชวนมารู้ลึกเรื่องนี้กันหน่อย

วันที่ 19 มีนาคม 2564 ถูกกำหนดให้เป็น "วันนอนหลับโลก" เพราะการนอนถือเป็นกิจกรรมสำคัญของชีวิตมนุษย์ ดังนั้นแล้ว “การนอนอย่างมีคุณภาพ” จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก แต่เชื่อว่า 90% ของคนที่กำลังอ่านบทความนี้ ก็กำลังมีปัญหาเกี่ยวกับอาการ “นอนไม่หลับ” ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนไปล้วงลึกปัญหาการนอนหลับ พร้อมปัจจัยที่ทำให้นอนไม่หลับว่ามีอะไรบ้าง? มาดูกัน.. 

161545636655

  • ปัญหาวายป่วง ทำไมเรา "นอนไม่หลับ"

1 ใน 3 กิจกรรมของชีวิตคือการนอน ถ้าการนอนไม่สำคัญพระเจ้าจะกำหนดให้เรานอนกันทำไม? รศ.นพ.ณัฐพงษ์ เจียมจริยธรรม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลว่า 

ปัญหาทุกวันนี้ไม่ใช่เราไม่นอน แต่คือการนอนไม่หลับ

จากข้อมูลในปี 2563 พบว่า ประชากรไทยมีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับประมาณ 19 ล้านคน ปัญหาการนอนไม่หลับนั้นเกิดขึ้นได้ในประชากรทุกช่วงอายุ คนส่วนมากจะมีอาการนอนไม่หลับ 1 หรือ 2 คืน แต่บางครั้งอาจเกิดขึ้นนานเป็นสัปดาห์ เดือน หรือ ปี โรคนอนไม่หลับมักเป็นในผู้หญิงและผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ กรมการแพทย์ได้บัญญัติถึง “อาการนอนไม่หลับ” ว่าเกิดได้ใน  2 กรณีได้แก่ 

- Adjustment Insomnia โรคนอนไม่หลับจากปัญหาการปรับตัว

เป็นปัญหาหลับได้ยาก หรือหลับไม่สนิท เป็นเวลาไม่กี่คืน และน้อยกว่า 3 เดือน โรคนอนไม่หลับชนิดนี้มักเกิดจากความตื่นเต้นหรือความเครียด 

ยกตัวอย่างในเด็กอาจจะพลิกตัวในคืนก่อนที่โรงเรียนจะเปิดเทอม โรคนอนไม่หลับอาจเกิดในคืนก่อนการสอบสำคัญ หรือ ก่อนการแข่งขันกีฬา ส่วนผู้ใหญ่ ก็อาจหลับได้ไม่ดีก่อนการพบปะทางธุรกิจที่สำคัญ หรือการทะเลาะกันของสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนสนิท 

คนส่วนมากมักมีปัญหานอนไม่หลับเมื่อต้องห่างจากบ้าน การเดินทางไปในที่เวลาต่างจากเดิม การออกกำลังกายก่อนเวลาเข้านอน (ภายใน 4 ชั่วโมง) หรือเวลาเจ็บป่วยก็เป็นสาเหตุของโรคนอนไม่หลับชนิดนี้ เมื่อสถานการณ์ความตึงเครียดผ่อนคลาย หรือปรับการนอนหลับได้ การนอนหลับก็จะกลับมาเป็นปกติ

- Chronic insomnia โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง

คือ การนอนไม่หลับนานมากกว่า 1 เดือน คนที่นอนไม่หลับส่วนมากมักจะกังวลกับการนอนหลับของตน แต่นั่นเป็นสิ่งผิดที่จะโทษปัญหาการนอนหลับทั้งหมดว่าเกี่ยวกับความกังวล การศึกษาของ American Academy of Sleep Medicine กล่าวไว้ว่า ผู้ป่วยโรคนอนไม่หลับอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ หรือ การทำงานของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติในระหว่างนอนหลับ ผู้เชี่ยวชาญโรคจากการนอนหลับจะสามารถช่วยหาสาเหตุและแนะนำการรักษาที่มีประสิทธิภาพได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

  • อะไรคือสาเหตุของโรคนอนไม่หลับ?

โรคนอนไม่หลับอาจเป็นอาการของปัญหาอื่น เช่น การมีไข้ หรือ ปวดท้อง หรืออาจเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกันทั้งด้านจิตใจ พฤติกรรมประจำวัน หรือแม้แต่โรคอื่นๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่ 

: ปัจจัยทางด้านจิตใจ

ความเครียดเรื้อรัง อย่างเช่น เด็กที่มีความเจ็บป่วยรุนแรง หรืองานที่ได้ผลกำไรน้อย ล้วนก่อให้เกิดปัญหาการนอนหลับ การเรียนรู้ที่จะจัดการกับความเครียดจะช่วยรักษาโรคนอนไม่หลับได้

: ชีวิตประจำวัน

สารกระตุ้น อย่างคาเฟอีน แอลกอฮอล์ หรือการสูบบุหรี่ คือสารกระตุ้นที่ทำให้เรานอนไม่หลับ รวมถึงยาลดน้ำหนัก ยาแก้แพ้ และยาแก้หอบหืด ยาลดน้ำมูกบางชนิดก็มีสารกระตุ้นผสมอยู่ด้วย

ชั่วโมงทำงาน ต้องยอมรับว่าการทำงานเป็นกะคือ อุปสรรคของอาการนอนไม่หลับ แต่ถ้าเราไม่ทำงานนั้นเราจะไปหารายได้จากไหน ทางออกที่กรมการแพทย์แนะนำคือ พยายามรักษาตารางเวลาให้เหมือนเดิมในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ จะช่วยให้ระบบร่างกายนอนเป็นเวลาแน่นอนและยังคงตื่นได้ การตื่นในเวลาเดิมทุกๆ เช้าเป็นทางหนึ่งที่ช่วยให้รูปแบบการนอนสม่ำเสมอ การทำให้เป็นกิจวัตรเป็นสิ่งสำคัญ

การออกกำลังกาย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น เวลาที่ดีที่สุดในการออกกำลังกายคือช่วงบ่ายประมาณ 4 ชั่วโมงก่อนการเข้านอน ไม่ควรออกกำลังกายใกล้เวลาเข้านอน ควรเว้นอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนเข้านอนเพื่อให้จังหวะการเต้นของหัวใจช้าลงและอุณหภูมิร่างกายลดลง

ยานอนหลับ ควรใช้ภายใต้คำสั่งของแพทย์ ยานอนหลับบางชนิดจะหมดฤทธิ์ยาหลังจากไม่กี่สัปดาห์ถ้ารับประทานยาทุกคืน

161545610181

161545640051

: ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม 

เสียงรบกวน  ทำห้องนอนให้เงียบที่สุดเท่าที่จะทำได้ เสียงจากการจราจร เครื่องบิน โทรทัศน์ และเสียงอื่นๆ สามารถรบกวนการนอนหลับ แม้ว่าจะไม่ได้ทำให้ตื่นก็ตาม บางทีการเปิดอุปกรณ์ เช่น พัดลม ให้มีเสียงดังต่อเนื่อง เพื่อกลบเสียงที่อาจดังขึ้นมารบกวนระหว่างคืนอาจทำให้การหลับดีขึ้น

แสงสว่าง ใช้ผ้าม่านบังแสงหรือสีเข้มเพื่อทำให้ห้องนอนของไม่สว่างเกินไป แสงสว่างจะผ่านเปลือกตาแม้ว่าเปลือกตาของเราจะปิดอยู่ก็ตาม โดนเฉพาะแสงสีฟ้าจากจอของเราก่อนนอน ยิ่งไปกระตุ้นให้สารในสมองที่สั่งการเรื่องการนอนนั้นตื่นอยู่ตลอดเวลา 

: ความเจ็บป่วยทางร่างกายหรือจิตใจ

มีโรคทางกายหลายชนิดที่รบกวนการนอนหลับและทำให้มีอาการนอนไม่หลับได้ ปัญหาทางด้านจิตใจ โรคจากการนอนหลับชนิดอื่นๆ และความเจ็บป่วย อาจทำให้การนอนหลับเปลี่ยนไป ซึ่งง่ายที่จะวินิจฉัยโรคนอนไม่หลับผิดพลาดได้ การรักษาความเจ็บป่วยนั้นอาจจะรักษาอาการนอนไม่หลับด้วย

----------------------------

ที่มา : สำนักสุขภาวะ สสส., ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย