ส่งออก 'กัญชง' ปี 64 อย.ยังอนุญาตบริษัทเดียว

ส่งออก 'กัญชง' ปี 64 อย.ยังอนุญาตบริษัทเดียว

อย.ออกใบอนุญาต “กัญชา”แล้ว 1,385  รายการ ครอบครอง-นำเข้า-ปลูก-จำหน่าย-สกัด ส่วน“กัญชง” 10 รายการ ย้ำ “กัญชา-กัญชง” ยังเป็นยาเสพติด ปลดล็อกบางส่วนใช้ประโยชน์ ทำเครื่องสำอาง-อาหาร ภายในเม.ย.นี้คกก.ทยอยเคาะอนุญาตใช้เพิ่มเติม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) รายงาน ณ วันที่ 12 มี.ค.2564 มีการออกใบอนุญาตเกี่ยวกับ “กัญชา”แล้ว 1,385 รายการ แยกเป็นใบอนุญาตครอบครอง 158 รายการ ใบอนุญาตนำเข้า 8 รายการ ใบอนุญาตปลูก 138 รายการ ใบอนุญาตจำหน่าย  1,043 รายการซึ่งส่วนใหญ่เป็นการอนุญาตให้จำหน่ายเพื่อการรักษาผู้ป่วยหรือสัตว์ป่วยในสถานพยาบาลของรัฐ ใบอนุญาตปรุง 5 ราย ใบอนุญาตแปรรูป/สกัด 33 รายการ ส่วนการส่งออกยังไม่มีการออกใบอนุญาตแต่อย่างใด 

  • บริษัทเดียวอนุญาตส่งออก “กัญชง”

ส่วนการอนุญาต “กัญชง” ข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.พ.2564 การอนุญาตยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง  ในปี พ.ศ. 2564  อย.อนุญาตรวม 10 รายการ โดยอนุญาตการปลูก 1 รายการ คือ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วัตถุประสงค์เพื่อศึกษา วิเคราะห์ วิจัย หรือปรับปรุงพันธุ์  ,การอนุญาตผลิต (ที่มิใช่การปลูก) 1 รายการ เป็นการอนุญาตกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สกัดสารจากดอกกัญชง วัตถุประสงค์เพื่อศึกษา วิเคราะห์ วิจัย หรือปรับปรุงพันธุ์,  การอนุญาตนำเข้า “เมล็ดพันธุ์กัญชง” 7 รายการวัตถุประสงค์เชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม และการอนุญาตส่งออก 1 รายการ วัตถุประสงค์เชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม คือบริษัท เฮิร์บ เทรเชอร์ จำกัด” โดยส่งออก CBD Isolated และCBD Distillated ไปประเทศ ใบอนุญาตทั้งหมดมีอายุถึง 31 ธ.ค.2564
161553468093

  • 29 บริษัทเข้าร่วม “กัญชา-กัญชง”

ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข  กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดกัญชาที่ถูกกฎหมายมีมูลค่า 17.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 5 แสนล้านบาท อัตราการเติบโตมากกว่า 17 % โดย “กัญชา”ในอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพสร้างรายได้สูงถึง 70% ของมูลค่าทั้งหมด ซึ่งจากการพัฒนากัญชาทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขได้ขยายไปสู่อุตสาหกรรมสุขภาพร่วมกับภาคเอกชน ผู้ผลิตที่มีศักยภาพ และวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกที่มีคุณภาพ  โดยปัจจุบันมีโรงงานผู้ผลิตยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ สมุนไพรเดี่ยว และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเข้าร่วม 29 บริษัท มีความต้องการวัตถุดิบกัญชารวมกันมากกว่า 30 ตัน  

  • “กัญชา-กัญชง”ต้องเป็นพืชเกษตรยั่งยืน

“ต้องไม่ทำให้มีซัพพลายมากจนเกินไป ไม่ต้องการให้ “กัญชา-กัญชง”เป็นสินค้าเกษตรที่ชั่ววูบชั่ววาบ แต่ต้องการให้เป็นสินค้าเกษตรที่มีความยั่งยืน เพราะฉะนั้น เมื่อใรขั้นตอนตั้งแต่ต้นน้ำ ปลางน้ำ และปลายน้ำ จะต้องทำให้มีมาตรฐานที่ดี การปลูกด้วยหลักวิชาการ สายพันธุ์ที่ดี ดูแลเรื่องคุณภาพ อย่าปลุกพันธุ์ทางหรือที่ไม่มีมาตรฐาน จะทำให้คุณภาพไม่ดี ผู้ใช้ก็จะไม่เชื่อมั่น”นายอนุทินกล่าว

  • กัญชา-กัญชง”ยังเป็นยาเสพติด 

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า 7 บริษัทที่ระบุถึงใบอนุญาตนำเข้านั้น เป็นเพียงการรับรองเป็นผู้มีคุณสมบัตินำเข้าเท่านั้น ขณะนี้ยังไม่มีบริษัทใดได้รับอนุญาตให้นำเข้าเมล็ดพันธุ์ เพราะการจะนำเข้าจะต้องยื่นขออนุญาตเป็นรายครั้งของการนำเข้าด้วย 

ทั้งนี้ ตามพรบ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ยังกำหนดให้ “กัญชา-กัญชง”เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 แต่อนุญาตให้นำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ได้ แต่ขณะนี้มีการเสนอปรับปรุงแก้ไข พรบ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับใหม่  ซี่งจะเพิ่มการเข้าถึงการรักษาให้ผู้ป่วยที่ได้รับการรับรองจากผู้ประกอบวิชาชีพสามารถขออนุญาตปลูกและใช้ “กัญชา”เพื่อรักษาโรคของตนเองได้  ต่อยอดภูมิปัญญาการแพทย์ในท้องถิ่นให้แพทย์แผนไทย โดยอนุญาตให้หมอพื้นบ้านสามารถขออนุญาตปลูกกัญชาเพื่อใช้ในการปรุงยาให้ผู้ป่วยของตนได้ และส่งเสริมอุตสาหกรรมยาของประเทศให้เกษตรกรสามารถขออนุญาตปลูกกัญชาภายใต้ความร่วมมือกับผู้ผลิตยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร อีกทั้งผู้ผลิตยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรสามารถผลิตยา “กัญชา”และส่งออกได้  รอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

  • ปลดล็อกให้ใช้บางส่วน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้ออกประกาศ เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เพื่อปลดล็อกส่วนของ “กัญชา”และ “กัญชง”ที่ได้จากการปลูกหรือผลิตในประเทศให้สามารถใช้ประโยชน์ได้โดยไม่จัดเป็นยาเสพติด  ได้แก่  ใบที่ไม่ติดกับช่อดอก กิ่ง ก้าน ลำต้น เปลือก ราก เส้นใย  สารสกัดที่มีCBDเป็นส่วนประกอบและกากที่เหลือจากการสกัดแต่ต้องมีTHCไม่เกิน 0.2% “เมล็ดกัญชง”และสารสกัดจากเมล็ดกัญชง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 15 ธ.ค.2563  ส่วนช่อดอกของกัญชงและกัญชา และเมล็ดกัญชายังถือเป็นยาเสพติด

“ประกาศนี้ทำให้ “กัญชา”และ “กัญชง”ที่ปลูกหรือผลิตในประเทศสามารถนำส่วนต่างๆที่ไม่ใช่ยาเสพติดไปใช้ประโยชน์ได้ ทั้งทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย ผลิตภัณฑ์สุขภาพและอื่นๆ เช่น ทำยา อาหารและเครื่องสำอาง แต่ไม่ว่าจะนำไปทำผลิตภัณฑ์ใด จะต้องเป็นการใช้ส่วนต่างๆที่ได้จากการปลูกที่ได้รับอนุญาตการปลูกถูกกฎหมาย ซึ่งการปลูก “กัญชา-กัญชง”จะต้องยื่นขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ก่อน โดยจะพิจารณาอนุญาตปลูกตามเกณฑ์ข้อกำหนดของกฎหมาย โดนสามารถตรวจสอบผู้รับอนุญาตถูกกฎหมายได้ที่ www.fda.moph.go.th ”นพ.ไพศาลกล่าว

161553471628
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา 

  • เครื่องสำอางอนุญาตใช้ “เมล็ดกัญชง”

นพ.ไพศาล กล่าวอีกว่า สำหรับการนำมาทำเป็นเครื่องสำอางนั้น ขณะนี้ที่มีการออกประกาศชอนุญาตให้ใช้แล้ว คือ ในส่วนของน้ำมันและสารสกัดจาก “เมล็ดกัญชง” ตามประกาศสธ. เรื่อง การใช้กัญชงในเครื่องสำอาง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 12 ม.ค.2564 ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องยื่นขอเลขจดแจ้งเครื่องสำอางกับอย.ตามพรบ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 กรณีการใช้ใบ รากนั้นผ่านขั้นตอนต่างๆของการออกกฎหมายเรียบร้อยรอนำเข้าสู่การพิจารณาคณะกรรมการเครื่องสำอาง ภายในเดือนมี.ค.นี้ ส่วนการใช้สารสกัดที่มีCBDเป็นส่วนประกอบและกากที่เหลือจากการสกัดแต่ต้องมีTHCไม่เกิน 0.2% อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาออกกฎหมาย คาดว่าจะสามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการเครื่องสำอาง ภายในเดือนเม.ย.นี้ ทั้ง 2 ฉบับ หากคณะกรรมการเครื่องสำอางให้ความเห็นชอบ จะเสนอนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุขพิจารณาลงนามต่อไป

  • ใช้ปรุงอาหารจำหน่ายตรงได้  

นพ.ไพศาล กล่าวด้วยว่า การนำมาทำเป็นอาหารนั้น กระทรวงได้ออกประกาศ ฉบับที่ 424  เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ.2564 สามารถใช้ส่วนของ “กัญชา”และ “กัญชง”ที่ไม่ใช่ยาเสพติดในผลิตภัณฑ์อาหารได้ ซึ่งอาหารจะแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ  1.อาหารที่จำหน่ายตรงต่อผู้บริโภค เช่น ในร้านอาหาร จะไม่ต้องขอเลขอย. สามารถนำมาใช้ทำอาหารได้ แต่จะต้องใช้ชิ้นส่วนจากการปลูกที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย

  • เม.ย.นี้คกก.เคาะอนุญาตเพิ่มเติม

และ 2.อาหารที่ตามพรบ.อาหาร พ.ศ.2522  กำหนดให้ต้องขออนุญาตจากอย. และอาหารที่มีบรรจุภัณฑ์นั้น ขณะนี้สามารถใช้ส่วน “เมล็ดกัญชง” น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือโปรตีนจากเมล็ดกัญชงในผลิตภัณฑ์อาหารได้ ตามมีประกาศสธ.ฉบับที่ 425  มีผลบังคบใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 5มี.ค.2564 ส่วนการใช้ใบ ราก  สารสกัดที่มีCBDเป็นส่วนประกอบและกากที่เหลือจากการสกัดแต่ต้องมีTHCไม่เกิน 0.2%ในผลิตภัณฑ์อาหารนั้น คาดว่าจะสามารถนำเข้าสู่การพิจารณาคณะกรรมการอาหารภายในเดือนเม.ย.นี้ ก่อนนำเสนอรองนายกฯต่อไปเช่นกัน

  • “คลินิกกัญชา” กว่า 700 แห่ง 

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. กล่าวว่า สธ. ได้ให้บริการ “คลินิกกัญชา”ทางการแพทย์ตั้งแต่ปี 2562 นำไปใช้ในผู้ป่วย เช่น โรคลมชัก พาร์กินสัน มะเร็งระยะสุดท้าย ผู้ป่วยประคับประคอง ระบบประสาทที่ดื้อต่อการรักษษ เข้าถึงการรักษา ด้วยกัญชามากขึ้น  โดยในปี 2564 ได้บรรจุกัญชาทางการแพทย์เป็นแผนพัฒนาระบบบริการ (Service Plan) สาขาที่ 20 ซึ่งเป็นสาขาล่าสุด  เพิ่มโอกาสการเข้าถึงในการรักษาโรคปัจจุบันเปิดให้บริการกัญชาทางการแพทย์ในโรงพยาบาลในสังกัดสธ. 700 กว่าแห่งทั่วประเทศ มีผู้มารับบริการมากกว่า 65,000 ราย รวมกว่า 100,000 ครั้ง โดยตั้งเป้าให้โรงพยาบาลสังกัดสธ.เปิดให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์ในทุกพื้นที่ และยังกำหนดให้สมุนไพร “กัญชา”และ”กัญชง” เป็นภารกิจสำคัญของสธ.ที่จะช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศด้วย