สธ.เร่งหาข้อสรุป 'แอสตร้าเซเนก้า' คาดฉีดต่อสัปดาห์หน้า
สธ. เร่งรวบรวมข้อมูลอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า อาการลิ่มเลือดอุดตันไม่น่าเกี่ยวกับวัคซีน อยู่ระหว่างหาข้อสรุปจากทั่วโลก และ องค์การอนามัยโลก คาดใช้เวลา 1 สัปดาห์ สรุปผลเดินหน้าฉีดต่อ
จากกรณีที่ประเทศไทย ชะลอการฉีดวัคซีน "แอสตร้าเซนเนก้า" เมื่อวันศุกร์ที่ 12 มี.ค. 64 ที่ผ่านมา รวมถึงหลายประเทศในยุโรป เนื่องจากพบอาการไม่พึงประสงค์ ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่ามาจากวัคซีนหรือไม่ แต่เพื่อความมั่นใจด้านความปลอดภัยของประชาชน จึงชะลอการฉีดไปอีก 1-2 สัปดาห์
วันนี้ (13 มีนาคม 2564) ที่ กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวประเด็นวัคซีนโควิด-19 โดยระบุว่า สำหรับการสรุปสถานการณ์ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ประจำวันเสาที่ 13 มีนาคม 2564 นพ.โอภาส ระบุว่า ไม่มีรายงานผู้มีอาการไม่พึงประสงค์รุนแรง ที่ได้รับการยืนยันจากคณะผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีอาการไม่พึงประสงค์ไม่รุนแรง แต่ไม่มีรายใดที่มีอาการรุนแรงที่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเกิดจากวัคซีน ดังนั้น ถือว่าปลอดภัย
“ขณะที่ วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ที่ชะลอฉีดในหลายประเทศ มีข้อมูลเพิ่มเติมมากขึ้นว่า อาการที่เกี่ยวกับลิ่มเลือดอุดตันไม่น่าจะเกี่ยวกับวัคซีน ทางกระทรวงสาธารณสุข กำลังรวบรวมข้อมูลจากทั่วโลกและองค์การอนามัยโลก คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์หน้าและจะได้ดำเนินการฉีดต่อไป”
นพ.โอภาส กล่าวต่อไปว่า เป้าหมายในการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ได้แก่ 1. เพื่อลดอัตราการป่วยและตายกลุ่มเป้าหมาย คือ ประชากรกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยรุนแรงและเสียชีวิตหากติดเชื้อ ได้แก่ ประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 2. เพื่อปกป้องระบบสุขภาพของประเทศ กลุ่มเป้าหมาย คือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ทั้งภาครัฐและเอกชน และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสกับผู้ป่วยในงาน 3. เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ กลุ่มเป้าหมาย คือ ประชาชนทั่วไป แรงงานในภาคธุรกิจบริการ ท่องเที่ยว อุตสาหกรรม (กรณีที่เป็นแรงงานต่างชาติ จะเป็นการร่วมจ่ายโดยเจ้าของกิจการ)
อ่านเพิ่มเติม ทำไมต้องเลื่อนฉีด “แอสตร้าเซนเนก้า” ไปอีก 2 สัปดาห์
อ่านเพิ่มเติม อย่าตื่นตระหนก! 'อุดตันเส้นเลือดดำ' พบใน 'ยุโรปมากกว่าเอเชีย 3 เท่า'
ภาพรวมจัดสรรวัคซีน 63 ล้านโดสปี 2564
ทั้งนี้ ภาพรวมจัดสรรวัคซีน 63 ล้านโดสปี 2564 ได้แก่ ซิโนแวค 2 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 26 ล้านโดส และ แอสตร้าเซเนก้า 35 ล้านโดส มีดังนี้
แผนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ปี 2564
จำนวน รพ. และ ระยะเวลาในการให้บริการวัคซีนโควิด
โรงพยาบาลรัฐ และเอกชน ประมาณ 1,000 แห่ง รวม 63 ล้านโดส
- ระยะที่ 1 รณรงค์ เดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2564 (นาน 3 เดือน) จำนวน 2 ล้านโดส
- ระยะที่ 2 รณรงค์ เดือนมิถุนายน - ธันวาคม 2564 (นาน 7 เดือน) จำนวน 61 ล้านโดส
การวางแผนให้บริการ 7 เดือน สำหรับ 63 ล้านโดส
- โรงพยาบาล 1,000 แห่ง
- ฉีด 500 โดส/วัน เป็นเวลา 20 วัน/เดือน
- จำนวนเฉลี่ยต่อเดือน = 10 ล้านโด๊ส
- หากขยายไปให้บริการที่ รพ.สต. บางแห่งใน 10,000 แห่ง จะเพิ่มความสะดวกและลดเวลา
วัคซีนโควิด ฉีดไปแล้วเท่าไหร่
จำนวนผู้ได้รับวัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทย ข้อมูล ณ วันที่ 12 มีนาคม 2564 เวลา 18.00 น.
จำนวนผู้ได้รับวัคชีนในวันที่ 12 มีนาคม 2564 รวม 4,269 ราย
- บุคลากรการแพทย์/สาธารณสุข รวม อสม. 761 ราย
- เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 700 ราย
- บุคคลที่มีโรคประจำตัว 722 ราย
- ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 2,086 ราย
จำนวนผู้ได้รับวัคชีนสะสม (28 กุมภาพันธ์ - 12 มีนาคม 2564) รวม 44,409 ราย
- บุคลากรการแพทย์/สาธารณสุข รวม อสม. 29,243 ราย
- เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 9,591 ราย
- บุคคลที่มีโรคประจำตัว 1,756 ราย
- ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 3,819 ราย
อ่านเพิ่มเติม เปิดประสิทธิภาพ-ข้อห้าม วัคซีน 'แอสตร้าเซนเนก้า'
ฉีดเท่าไหร่ถึงจะมีภูมิคุ้มกันหมู่
นพ.โอภาส อธิบายว่า ภูมิคุ้มกันหมู่พิจารณาหลายปัจจัย เช่น ประสิทธิภาพของวัคซีน สถานการ์การระบาดของโรคในพื้นที่นั้นๆ ตัวเลขที่ชัดเจนตอบได้ทุกเหตุการณ์เป็นไปไมได้ แต่คร่าวๆ ต้องมีภูมิคุ้มกันหมู่ราว 60-80% ของประชากร อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญ และหลายหน่วยงานพยามรวบรวมข้อมูล เพื่อตอบคำถาม อาจจะมีการทำวิจัยเพิ่มเติม
“แม้ตอนนี้เราจะมีวัคซีน 63 ล้านโดส ประเทศไทยยังไม่ละความพยายามในการจัดหาเพิ่มเติมเพื่อฉีดให้กับคนไทย ย้ำว่า วัคซีนมีความปลอดภัย ไม่ต้องกังวล หน่วยงานทุกหน่วยจะทำอย่างดีที่สุด เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงวัคซีน” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว