"กรรมการสมานฉันท์" รายงานผลคุยตัวแทนม็อบ สะท้อนแนวทาง รัฐต้องจัดพื้นที่แสดงความเห็น
“กก.สมานฉันท์” สะท้อนแกนนำผู้ชุมนุมไม่พอใจ จนท.รัฐสองมาตรฐานกับม็อบแต่ละกลุ่ม แนะเร่งอำนวยความยุติธรรมในคดี – จัดพื้นที่แสดงความเห็น –รัฐอำนวยความสะดวกการชุมนุมไม่ใช่ความรุนแรง
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์ ที่มีนายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ฐานะประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ เป็นประธานการประชุม
ทั้งนี้มีวาระพิจารณาที่สำคัญ คือ รับฟังความเห็นตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุม โดยนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี โฆษกคณะกรรมการฯ ได้ไปพูดคุยนอกรอบกับแกนนำผู้ชุมนุมบางกลุ่ม ซึ่งได้สะท้อนความไม่พอใจในเรื่องการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันของเจ้าหน้าที่รัฐกับกลุ่มผู้ชุมนุมแต่ละฝ่าย และกังวลถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ยังมีความหวังว่ากระบวนการรัฐสภา จะมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหา และเสนอแนะให้คณะกรรมการฯ เร่งให้เกิดการอำนวยความยุติธรรมในเรื่องคดีความต่าง ๆ ของผู้ชุมนุม การจัดพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น และรัฐต้องอำนวยความสะดวกในการชุมนุมโดยไม่ใช้ความรุนแรง
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับฟังความเห็นจากนายบุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับผู้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง รวมทั้งเหยื่อกลุ่ม กปปส. และกลุ่มเสื้อแดง พบว่ามีความเหมือนและความต่าง โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะมีความรู้สึกคล้าย ๆ กัน คือ ไม่ชอบให้มีคนพูดถึงพวกเขาในเชิงด้อยค่า ลดทอนความเป็นมนุษย์ และการปรามาสว่าพวกเขาถูกจ้างมา รวมทั้งพวกเขาได้ใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่เข้าร่วมชุมนุมซึ่งผลกระทบนั้นลึกซึ้งและละเอียดอ่อนมาก
โดย นายบุญเลิศ ระบุด้วยว่า แต่สิ่งที่ทั้ง2ฝ่ายมีความเหมือนกันคือการรับฟังสื่อเพียงข้างเดียวจนไม่ได้ฟังสื่ออีกข้างหนึ่ง ทำให้ไม่เข้าใจและเปิดรับมุมมองความคิดเห็นที่แตกต่าง นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของสองมาตรฐานที่พวกเขายังรู้สึกอยู่ ดังนั้น ความพยายามแสวงหาความยุติธรรมและความสมานฉันท์ต้องมีความสมดุลกันเพื่อให้คนยอมรับได้ และควรเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางเพื่อสร้างสังคมอารยะ อีกทั้งหากมีการชุมนุม คณะกรรมการฯ ควรเข้าร่วมสังเกตการณ์เพื่อให้เกิดความเข้าใจในสถานการณ์
นอกจากนี้ที่ประชุมยังรับทราบรายงานความคืบหน้าของคณะอนุกรรมการทั้ง 2 คณะ ดังนี้ 1.คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นและสื่อสารสาธารณะ รายงานสรุปผลการสานเสวนาประชาธิปไตยที่เยาวชนพึงปรารถนา เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ทีมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นการจัดครั้งแรก โดยในภาพรวมถือว่าประสบความสำเร็จและตรงตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ซึ่งได้มีการรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายจากผู้เกี่ยวข้องทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ในประเด็น “ประชาธิปไตยที่เยาวชนพึงปรารถนา” โดยสรุปฉันทามติได้ 5 ประเด็น ดังนี้ 1.ต้องการเห็นการเปิดพื้นที่ให้มีการใช้สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ความเท่าเทียม และต้องการเห็นความรักความสามัคคีของคนในประเทศ2. ต้องการเห็นประชาธิปไตยที่มีการใช้กฎ กติกา ที่ชัดเจนในการจัดการและแก้ปัญหาต่าง ๆ ร่วมกัน รวมถึงเสียงส่วนใหญ่ต้องเคารพเสียงส่วนน้อย 3. ต้องการเห็นสังคมที่ไม่ใช้ความรุนแรงกับกลุ่มที่แสดงออกโดยการชุมนุม และควรจัดเวทีให้มีการพูดคุยกันระหว่างนักเรียน/นักศึกษา และฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง4. ต้องการเห็นภาครัฐเข้ามาดูแลบัณฑิตจบใหม่ โดยการจัดหางานรองรับให้ตรงกับสายงานและความชำนาญ 5. ต้องการเห็นประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน โดยเน้นภาคการเกษตร.