'ปชป.'ปรับแผนใหม่ เล็งแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา สะเดาะกลอน ม.256
"ประชาธิปัตย์" โอดผลลงมติร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำ เล็งปรับแผนใหม่ แก้รายมาตรา พุ่งเป้าสะเดาะกลอน ม.256
วันที่ 18 มี.ค. นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และรองประธานวิปรัฐบาล กล่าวภายหลังผลการลงมติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ วาระ 3 เมื่อวานที่ผ่านมาว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยสิ่งที่พรรคได้เสนอยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีความชัดเจนในขอบเขตอำนาจของรัฐสภา และมุ่งไปสู่อนาคตว่าหากมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกจะมีกระบวนการอย่างไร ว่าต้องทำประชามติหรือแก้ไขมาตรา 256 ก่อน แต่สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องการมากที่สุดเพื่อสะเดาะกลอนมาตรา 256 เพราะรู้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีวิกฤตจากการที่แก้ไขได้ยาก โดยสะท้อนให้เห็นจากการประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 17 มี.ค.แล้วว่า ไม่ว่าจะศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาอย่างไร แต่ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถผ่านได้
"คะแนนเห็นชอบออกมาก็ต้องยอมรับความเป็นจริง และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญยังตีความไม่ชัดเจน เป็นสิ่งที่ประชาธิปัตย์เสนอญัตติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ เพราะยังมีประเด็นข้อสงสัยอยู่ แต่ธงก็คือ ส.ว.เขาจะคว่ำตั้งแต่วาระ 1 แล้ว เพราะเขาเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไข"นายชินวรณ์ ระบุ
นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการแก้รัฐธรรมนูญเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และรัฐธรรมนูญ 2560 ก็เป็นสลักตัวหนึ่งของบ้านเมือง โดยเฉพาะสลักประตูกลอนที่เปิดไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยยังไม่ถูกแก้ไข โดยเรื่อง ส.ว.ถ้ารัฐธรรมนูญถูกแก้ไขก็อยู่ได้ 4 ปี ถ้าไม่ถูกแก้ไขก็อยู่ได้ครบ 7 ปี ตนไม่ได้หมายถึงเรื่องส่วนตัว แต่หมายถึงกลไกที่ถูกวางไว้แบบนี้ ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นนโยบายรัฐบาลจะมีการเดินหน้าต่อไปอย่างไร ต้องมาคิดร่วมกันว่า ถ้ายึดนโยบายที่จะทำงานร่วมกัน จะมาคิดหลักสำคัญว่าจะเสนอแก้ไขเป็นรายมาตราอย่างไร
"ถ้าแก้ทั้งฉบับก็จะมีปัญหาคำถามที่ยังค้างอยู่ว่า ต้องทำก่อนเสนอญัตติ หรือว่าเสนอญัตติเพื่อให้เห็นรูปร่างเค้าโครงพิมพ์เขียวก่อนทำประชามติ ไม่ได้หมายถึงร่างใหม่เพียงแต่แก้ไขประเด็นเหมือนที่แก้ไขมา ดังนั้นเพื่อไม่ให้มีปัญหาเราก็เอาประเด็นเป็นรายมาตราดีหรือไม่ เพื่อนำมาสู่การขับเคลื่อนที่สามารถเป็นไปได้โดยไม่ต้องนำไปสู่การตีความ เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้พูดถึงการแก้ไขเป็นรายมาตรา เนื่องจากศาลได้วินิจฉัยเฉพาะหมวด 15/1 แต่อีกฝ่ายก็ตีความว่า สามารถดำเนินการได้เป็นรายมาตราได้ แต่การตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) คงไม่ได้แล้ว ถ้าตีความอย่างนี้ก็จะเป็นความขัดแย้งแบบนี้ จึงต้องคิดว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป"นายชินวรณ์ กล่าว
นายชินวรณ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนเหตุการณ์การลงคะแนนของ ส.ส.รัฐบาลเมื่อวันที่ 17 มี.ค.ก็ไม่เหนือความคาดหมาย เพราะตนได้พูปคุยกับนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และประธานวิปรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ได้เตรียมการก่อนหน้านี้แล้วว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้จะสู้ให้สุดทาง ถึงแม้รู้ว่าโหวตเห็นชอบไปก็ถูกคว่ำ แต่ยามเฝ้าประตูเขาเข้มแข็งก็ต้องอาศัยประชาชน เพราะสลักจะอยู่ต่อไป เนื่องจากเจตนารมณ์ต้องการคุ้มครองรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยฝีมือของนายมีชัย ฤชุพันธุ์อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นอกจากใส่สลักแล้วก็ใส่กุญแจหลายดอก
"เมื่อวานได้คุยกับท่ายวิรัชว่า ถ้าไม่ได้ขณะนี้แต่พรรคยังมีนโยบายที่เห็นว่า ยังมีจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญในส่วนไหนบ้างที่เร่งด่วน ก็มาแก้ไขเป็นรายมาตรา ถ้าเห็นตรงกันอยากให้แก้ไขรายมาตรา 256 เพื่อสะเดาะกลอนตัวนี้ก่อน"นายชินวรณ์ กล่าว