เช็คก่อนใช้ 'ม.33เรารักกัน' VS 'เราผูกพัน' เงื่อนไขต่างกันยังไง?
รัฐคลอดโครงการใหม่ "เราผูกพัน" เพื่อช่วยเหลือเยียวยากลุ่ม "ข้าราชการ" รายได้น้อย แล้วโครงการนี้มีความแตกต่างกับ "ม.33เรารักกัน" ของกลุ่มผู้ประกันตน มาตรา33 ยังไงบ้าง? ทั้งในแง่รายละเอียด เงื่อนไข และการใช้งาน
เมื่อรัฐบาลกำลังจะคลอดโครงการใหม่ป้ายแดง ภายใต้ชื่อ "เราผูกพัน" ซึ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือ "ข้าราชการ" ผู้มีรายได้น้อยจำนวนประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งปล่อยโครงการต่อจาก "ม33เรารักกัน" ที่เป็นมาตรการเยียวยากลุ่มลูกจ้าง "ผู้ประกันตน มาตรา33" ลองมาเช็คลิสต์ความเหมือนและความต่างของสองมาตรการนี้กันหน่อย
1. หลักการของโครงการ "เราผูกพัน" vs "ม33เรารักกัน"
โครงการ "เราผูกพัน" : แจกเงินเยียวยาเพื่อช่วยเหลือ "ข้าราชการ" ผู้มีรายได้น้อย ที่มีจำนวนประมาณ 1 ล้านคน และลูกจ้างหรือพนักงานรัฐอีก 2 แสนคน โดยการช่วยเหลือจะเป็นในลักษณะช่วยลดค่าครองชีพ ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนสรุปรายละเอียดต่างๆ เบื้องต้นกระทรวงการคลังมีข้อมูลข้าราชการที่เหมาะสมได้รับสิทธิอยู่ในระบบหมดแล้ว คาดว่าจะได้เงินน้อยกว่า 4,000 บาทต่อคน
โครงการ "ม33เรารักกัน" : เป็นมาตรการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าครองชีพสำหรับ "ผู้ประกันตนมาตรา 33" ที่มีจำนวนประมาณ 9.2 ล้านคน ด้วยการมอบเงินเยียวยาจำนวน 4,000 บาทต่อคน แบ่งโอนจ่ายสัปดาห์ละ 1,000 บาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
2. เงื่อนไข/คุณสมบัติ "เราผูกพัน" vs "ม33เรารักกัน"
โครงการ "เราผูกพัน"
- เป็นข้าราชการ/ลูกจ้างพนักงานในหน่วยงานรัฐ
- ต้องเป็นข้าราชการผู้มีรายได้น้อย (ข้าราชการที่มีรายได้สูงจะไม่ได้รับสิทธิในมาตรการนี้)
- ข้าราชการที่มีสิทธิ ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียน เนื่องจากคลังมีฐานข้อมูลอยู่ในระบบแล้ว
- คาดว่ามาตรการนี้ จะได้ข้อสรุปหลังเทศกาลสงกรานต์ 2564
โครงการ "ม33เรารักกัน"
- มีสัญชาติไทย
- มีเงินฝากทุกบัญชีรวมกันไม่เกิน 5 แสนบาท ดูข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563
- เป็นผู้ที่อยู่ในมาตรา 33 ของผู้ประกันตน โดยมีข้อมูลอยู่ในระบบประกันสังคม ณ วันที่ 15 ก.พ.64 หรือเคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 เมื่อวันที่ 19 ม.ค.64
- เป็นผู้ที่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน)
- เป็นผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิโครงการ "เราชนะ"
3. การโอนเงิน/การใช้เงิน "เราผูกพัน" vs "ม33เรารักกัน"
โครงการ "เราผูกพัน" : หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาว่าจะจ่ายเงินในรูปแบบใด จึงจะเหมาะสมกับสถานการณ์ที่สุด ซึ่งอาจจะเป็นหนึ่งในสองวิธี ดังนี้ 1.โอนเงินเข้าแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” หรือ 2. โอนเงินใส่บัญชีธนาคารข้าราชการรายได้น้อยโดยตรง ส่วนจะเลือกใช้วิธีใดต้องขอทบทวนก่อน เพราะข้าราชการบางส่วนอยู่ในโครงการคนละครึ่ง ซึ่งใช้จ่ายผ่านแอพฯ “เป๋าตัง” อยู่แล้ว
โครงการ "ม33เรารักกัน" : รับโอนเงินเป็นรายสัปดาห์ๆ ละ 1,000 บาท จนครบ 4,000 บาท (เงินงวดแรกที่จะได้ขึ้นอยู่กับว่ากดยืนยันตัวตนช่วงไหน อ่านเพิ่ม : 'ม.33เรารักกัน' เช็คสิทธิ แล้ว ต้องรู้ไทม์ไลน์โอนเงิน 3 ช่วง วันไหนบ้าง?) ผู้ที่ได้รับสิทธิจะสามารถใช้วงเงินเยียวยา ได้จนถึงวันที่ 31 พ.ค.2564
โดยในแต่ละสัปดาห์ไม่จะเป็นต้องใช้จำนวนให้หมด สามารถเก็บสะสมไว้ใช้ได้จนถึงวันสิ้นสุดมาตรการ ซึ่งไม่สามารถกดออกมาเป็นเงินสดได้ ส่วนการใช้จ่ายเงินนั้น ผู้ที่ได้รับสิทธิสามารถใช้ซื้อสินค้าและจ่ายค่าบริการกับร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการ โดยมีหมวดหมู่สินค้าต่างๆ ได้แก่
1. ร้านอาหารและเครื่องดื่ม
2. ร้านธงฟ้าฯ
3. ร้านสินค้า OTOP
4. สินค้าทั่วไป เช่น ร้านขายของฝาก ร้านซ่อมทุกประเภท เช่ารถยนต์/มอเตอร์ไซค์ ร้านขายอุปกรณ์เพื่อการกีฬา ร้านขายสินค้าเกษตร ร้านบริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง/ขายอาหารสัตว์ ร้านบริการจัดสวน ร้านขายเสื้อผ้า มินิมาร์ท ตลาดสด
5. โรงแรม/ที่พัก เช่น โฮมสเตย์ หอพัก แมนชั่น อพาร์ทเมนท์ แฟลต
6. สุขภาพ/ความงาม เช่น ร้านขายเครื่องสำอางและบำรุงผิว ร้านขายยาและอาหารเสริม ร้านเสริมสวย ร้านทำเล็บ ร้านสปา ร้านนวด
7. ขนส่งสาธารณะ ได้แก่ แท็กซี่ รถตู้ จักรยานยนต์ สามล้อถีบ รถสองแถว รถไฟฟ้า รถไฟ เรือ รถ บขส.
8. รับเหมา/งานช่าง/ทำความสะอาด
9. สุขภาพ/การแพทย์ เช่น สถานพยาบาลประเภทที่ไม่รับผู้ป่วยค้างคืน กลุ่มบริการด้านสุขภาพและการแพทย์ คลินิก
------------------------
ที่มา : กระทรวงแรงงาน, สำนักงานประกันสังคม, กระทรวงการคลัง, ไทยคู่ฟ้า