จุดยืนเสี่ยง-มวลชนหาย ‘ม็อบราษฎร’ แรงได้อีก ?
การชุมนุมกลุ่ม 'ราษฎร'ในห้วงที่ผ่านมา ไม่ทำให้ระดับมวลชนกระเตื้องขึ้น พอจะสั่นคลอนเสถียรภาพ 'พล.อ.ประยุทธ์' ขณะที่ 'แกนนำ'ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบังคับใช้กฎหมาย ทั้ง ‘คดีเก่า-คดีใหม่’ จับไปคุมกันขังระนาว
ตกอยู่ในสภาวะ “ขาลง” สำหรับการชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘ราษฎร’ ที่ไม่สามารถกดดันการบริหารงานรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แม้แกนนำคนสำคัญทยอยถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุม และแยกตัวนำไปฝากขังเรือนจำต่างๆ จนสร้างความไม่พอใจ แต่การรวมตัวของมวลชนก็ไม่ได้เปรี้ยงปร้างเช่นปีที่ผ่านมา
นับตั้งแต่ 4 แกนนำราษฎร ประกอบด้วย อานนท์ นำภา พริษฐ์ ชิวารักษ์ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ตกเป็นผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ และยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116 จากการชุมนุม “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร” เมื่อปี 2563 จนถูกควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำกลางคลองเปรม ตั้งแต่ 9 ก.พ.2564
ทำให้แกนนำที่เหลืออยู่พยายามยกระดับการเคลื่อนไหว ด้วยการนัดหมายมวลชนชุมนุมในย่านธุรกิจใจกลางเมืองทั้ง สกายวอล์กแยกปทุมวัน หน้าห้างมาบุญครอง หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) หวังกดดันให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังทั้งหมด
หรือการจัดกิจกรรม “เดินทะลุฟ้า คืนอำนาจให้ประชาชน” ระยะทาง 247.5 กิโลเมตร ของ “จตุภัทร์ บุญภัทรรักษ” หรือ ไผ่ ดาวดิน ที่ตั้งจุดสตาร์ทจากเมืองโคราช เก็บแต้มสะสมมวลชนให้ได้เรือนหมื่นเรือนแสน หวังยกทัพไปสมทบกันที่กรุงเทพฯ แต่ผลตอบรับกลับไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง
แม้กระทั่งการเปลี่ยนเป้ามาเป็น ‘ค่ายทหาร’ สถานที่ตั้งบ้านพักหลวง ‘พล.อ.ประยุทธ์’ หรือศาลอาญารัชดา และเรือนจำกลางคลองเปรม โดยใช้ยุทธวิธีดาวกระจาย ตั้งแต่ห้าแยกลาดพร้าว สถานีบีทีเอสวัดพระศรีมาหาธาตุ
เรียกได้ว่างัดมาทุกกระบวนท่าแล้วก็ไม่ทำให้มวลชนราษฎรกระเตื้องพอที่จะก่อให้เกิดคลื่นลูกใหญ่สั่นคลอนเสถียรภาพ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ในทางตรงกันข้าม แกนนำที่เหลืออยู่ต่างถูกเจ้าหน้าที่รัฐบังคับใช้กฎหมาย ทั้ง ‘คดีเก่า-คดีใหม่’ ถูกจับไปคุมขังกันระนาว
เริ่มจากนักร้อง ไชยอมร แก้ววิบูลพันธุ์ หรือ ‘แอมมี่’ The Bottom Blues” ผู้ต้องหาข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ บริเวณหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม ที่โดนไป 4 ข้อหา และมีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต
‘โตโต้’ ปิยรัฐ จงเทพ แกนนำการ์ดวีโว่ ก็ถูกตั้งข้อหาหนัก ฐานเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อฯ หลังตำรวจบุกเข้าควบคุมตัวที่ลานจอดรถห้างสรรพสินค้าย่านรัชโยธิน ตามเบาะแสเตรียมวัสดุอุปกรณ์เข้าก่อเหตุความวุ่นวายในการชุมนุม 6 มี.ค.ที่ผ่านมา
คล้อยหลังมาเพียงแค่ 2 วัน ‘รุ้ง-ไผ่-ไมค์’ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ ภาณุพงศ์ จาดนอก ก็เดินเข้าเรือนจำในคดีและข้อหาเดียวกับชุดของ ‘อานนท์-เพนกวิน’
และ 25 มี.ค.นี้ ‘แกนนำ’ล็อตใหญ่ ประกอบด้วย ‘มายด์’ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, ครูใหญ่-อรรถพล บัวพัฒน์, เบนจา อะปัญ, บอล-ชนินทร์ วงษ์ศรี, ชลธิศ โชติสวิสดิ์, วัชรกร ไชยแก้ว, ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, กรกช แสงเย็นพันธ์, สุธินี จ่างพิพัฒนวกิจ, รวิสรา เอกสกุล, อัครพล ตีบไธสง, โจเซฟ (สงวนชื่อสกุลจริง) เอ (สงวนชื่อสกุลจริง) จะถูกนำตัวส่งฟ้องคดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี ด้วยความผิด ม.112 และ ม. 116
ขณะนี้ ‘แกนนำราษฎร’ กำลังประสบปัญหา ‘มวลชน’ไม่เอาด้วยกับการชุมนุม หลังจากแนวทางที่เคยมุ่งขับไล่รัฐบาล ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ผิดเพี้ยนไปจากเดิม รวมถึงเนื้อหาสาระ ที่ขาดซึ่งข้อมูล-หลักฐานมารองรับ อีกทั้งความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสำคัญทำให้จำนวนคนเข้าร่วมลดน้อยลงเรื่อยๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกระทำของแกนนำ และแนวร่วมส่วนหนึ่ง แสดงออกถึงการเหยียบย่ำประเทศตัวเอง เช่น การปลดธงชาติแทนที่ด้วยผ้าสี ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับการชุมนุมทางการเมืองในอดีต ไม่ว่าจะเกิดความขัดแย้งในสังคมรุนแรงเพียงใด จึงเป็นปัจจัยทำให้ ‘ม็อบราษฎร’ ไปได้ไม่สุดเหมือนม็อบเสื้อเหลือง เสื้อแดง และ กปปส.