'ผู้ว่าฯปู'ป่วยรุนแรง แต่ภูมิคุ้มกัน 'โควิด19'ไม่ขึ้น
ถอดบทเรียนแนวทางรักษาโควิด19 “ผู้ว่าฯสมุทรสาคร” จากวิกฤติ ฟื้น และหายดี แพทย์เผยตรวจ“ผู้ว่าฯปู”ภูมิคุ้มกันไม่ขึ้น ฉีดวัคซีนซิโนแวคแล้ว 1 เข็ม รอติดตามต้องฉีดเข็ม 2 หรือไม่
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 19 มี.ค.2564 ที่หอประชุมราชแพทยาลัย รพ.ศิริราช ศ. ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นประธานแถลงข่าวเรื่อง “ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร” ออกจาก รพ. ศิริราช” พร้อมด้วย นายวีระศักดิ์ วิจิตรแสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ และทีมแพทย์ที่เกี่ยวข้อง หลังจากที่นายวีระศักดิ์ เข้ารับการรักษาใน รพ.ศิริราช ด้วยโรค “โควิด19”ตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค.2563 ขณะนี้อาการดีขึ้น จนสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ คณะแพทย์จึงอนุญาตให้กลับไปพักฟื้นที่บ้านได้
ตามที่นายวีระศักดิ์หรือ “ผู้ว่าฯปู” เปิดใจ “ทีมแพทย์ได้ฉุดขึ้นมาจากความตาย ไม่รู้ทำได้อย่างไร” แล้วตลอดเวลา 82 วัน ทีมแพทย์และบุคลากรศิริราช ให้การดูแลรักษา “ผู้ว่าฯปู” อย่างไร
อาการดีขึ้นแต่กลับต้องใส่ท่อช่วยหายใจ
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ในฐานะแพทย์เจ้าของไข้ กล่าวว่า เมื่อเริ่มมีการระบาดของโรคโควิด19ที่จ.สมุทรสาคร ในส่วนของกระทรววงสาธารณสุข(สธ.)ร่วมมือกับรพ.ในกรุงเทพฯวางแผนรับมือในจ.สมุทรสาคร จึงส่งทีมแพทย์เข้าไปร่วมดูแลรักษาผู้ป่วยในรพ.สมุทรสาคร บ้านแพ้ว กรุทุ่มแบน โดยตกลงว่าคนไข้อาการน้อย หรือไม่มีอาการ ดูแลที่รพ.ในสมุทรสาคร ถ้าอาการหนักขึ้นหรือไม่ดี จะส่งให้รพ.กรุงเทพฯโดยมีรพ.ศิริราชเป็นพี่เลี้ยงรพ.สมุทรสาคร
ช่วงปลายนเดือนธ.ค.2563 ผู้ว่าฯป่วยโรคโควิด19 ตอนนั้นทีมศิริราช และรพ.สมุทรสาครประเมินแล้วน่าจะไม่น่าไว้วางใจ อาการรุกลามได้ จึงเคลื่อนย้ายท่านมาดูแลที่รพ.ศิริราช มาเข้ารักษาที่ไอซียูโควิด19
ในช่วงแรก 2-3 สัปดาห์แรกเหมือนอาการปอดอักเสบค่อยๆดีขึ้น แต่ผ่านไปราว 2 วัน หายใจด้วยตัวเองไม่ไหวต้องใส่ท่อช่วยหายใจ หลังจากนั้นยืดเยื้อประมาณ 2-3 สัปดาห์
และเมื่อย้อนไปดูคนไข้วิกฤติโควิด19ที่ศิริราชดูแลหรือทั่วประเทศไทยดูแลในการระบาดรอบแรก พบว่าประมาณ 3 สัปดาห์กลุ่มคนที่รอดจะเลิกใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่กรณีผู้ว่าฯใช้เวลา 3 สัปดาห์ทั้งที่โควิดก็ดีขึ้นแล้ว เชื้อไวรัสก็เจอน้อยลงแล้ว แบคทีเรียหรือเชื้อแทรกซ้อนก็ให้ยาจนดีขึ้นหมดแล้ว
ตั้งคณะกรรมการแพทย์พิจารณารอบด้าน
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวว่า คณบดีจึงตั้งคณะกรรมการแพทย์มาช่วยกันมองให้รอบด้านต่างๆ สุดท้ายตัดสินใจว่า ผู้ว่าฯใช้เครื่องช่วยหายใจมานาน เพื่อให้การดูแลรักษาง่าย คล่องตัว ลดภาวะแทรกซ้อน จึงปรึกษากับครอบครัว ย้ายท่อช่วยหายใจจากปากมาที่คอ หรือเรียกว่าเจาะคอ จากนั้นจึงทำการตรวจสอบค้นพิเศษต่างๆ เพื่อยืนยันว่าปอดอักเสบจากโควิดทุเลาแล้ว แต่ที่ตั้งสมมติฐานคือเป็นปฏิกิริยาของร่างกาย จากที่ไวรัสไปกระตุ้น ทำให้เกิดปอดอักเสบอีกแบบ ไม่ใช่ปอดอัดเสบติดเชื้อ แต่เกิดจากภูมิต้านทานที่จะรื้อฟื้นร่างกายเอง
เมื่อหลักฐานต่างๆบ่งบอกไปทางนั้น การตัดสินใจจึงให้ยาที่จะระงับการอักเสบส่วนนั้น อาการ ก็ค่อยๆได้ผลช้าๆ ในที่สุดก็ปลอดภัยในเรื่องการหายใจ รวมเวลาอยู่ในไอซียูโควิด 34 วัน ก็ย้ายมาที่หออภิบาลการหายใจ เพื่อเตรียมการฟื้นฟู กลับมาหายใจด้วยตนเอง และเตรียมความพร้อมร่างกายในด้านต่างๆ ทั้งการกิน การพูด ซึ่งตอนแรกยังห่วงว่าสมองจะกลับคืนได้มากน้อยแค่ไหน แต่ช่วง 23 วันในหออภิบาลการหายใจ การฟื้นตัวต่างๆเร็วมาก เอาเครื่องช่วยหายใจ สายให้อาหาร เครื่องเจาะคอออกได้ พูดได้
“วันแรกที่ท่านพูดทุกคนก็ดีใจ รวมทั้งกินเองทางปากได้ เหลือเรื่องการฟื้นฟูกำลังกาย การเคลื่อนไหวร่างกายต่างๆ ส่วนทางสมองยิ่งดีใจใหญ่ เพราะสามารถจำรายละเอียดต่างๆได้ ออกความเห็น มีส่วนร่วมในการพูดคุยกับคนได้ดีขึ้น และย้ายมาอยู่ห้องพิเศาอีก 24 วัน และแพทย์อนุญาตให้ออกจากรพ.ไปพัฟื้นที่รพ.ได้”รศ.นพ.นิธิพัฒน์กล่าว
ส่วนตัวเองมองว่าความสำเร็จเกิดจากหลายส่วน 1.สภาวะสุขภาพเดิมของท่านผู้ว่าฯ ที่เป็นวัยเกษียณที่มีต้นทุนสุขภาพที่แข็งแรงมาก มีระยะวิกฤติทางเดินหายใจอยู่ 42 วัน ถ้าคนทั่วไปอาจเรียกว่า รากเลือด 2.ทีมต่างๆทุกสหสาขาวิชา ทุ่มเทในการดูแลรักษา 3.การสนับสนุนจากครอบครัว ภรรยาและลูกสาว และกำลังใจจากทางบ้าน มีส่วนช่วยเรื่องการฟื้นตัว และ4.ยกย่องท่านในแง่การมุ่งมั่นหลังผ่านช่วงวิกฤติแล้ว เพราะระยะการฟื้นฟูสิ่งสำคัญคือความมุ่งมั่นของคนไข้เองที่ต้องการฟื้นกลับมาทั้งร่างกายและสมอง จนสามารรถคืนปูสู่สาครได้
ถอดบทเรียนการรักษา
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ทุกๆรายที่เข้ามารักษาที่ศิริราช รวมถึงผู้ว่าฯจะถูกถอดบทเรียนเพื่อใช้ในการดูแลคนไข้รายต่อๆไป อย่างไรก็ตาม ชีวิตไม่ใช่บัญญัติไตรยางค์ ที่การรักษาจะบอกว่า วันที่ 2 วันที่ 3 ต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน เพียงแต่ก็จะมีการกำหนดเป็แนวทางปฏิบัติกลางว่าการรักษาควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งกรมการแพทย์ได้ออกแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด19เป็นมาตรฐานของประเทศไทยอยู่แล้ว
“กระบวนการรักษา ศิริราชได้เรียนจากคนไข้หนักทุกคน เป็นองค์ความรู้ที่ได้เรียนรู้ ซึ่งที่ผ่านมามีคนไข้วิกฤติแบบนี้ที่ศิริราชให้การรักษา แต่ไม่ได้แถลงข่าวแบบนี้ แต่ผู้ว่าฯเป็นบุคคลของประชาชนและคนจำนวนไม่น้อยอยากจะรู้ ซึ่งก่อนนำมาแถลงก็ต้องเคารพสิทธิผู้ป่วย ต้องได้รับการอนุญาตจากคนไข้หรือญาติใกล้ชิด เป็นการทำตามมาตรฐาน “ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์กล่าว
กำลังใจจากครอบครัว
อยากให้คนไทยมั่นใจว่ามประเทศไทยมีเกณฑ์ขั้นตอนการรักษาพยาบาล ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตจากโควิด19ที่ค่อนข้างต่ำ ส่วนของผู้ว่าฯเป็นคนไข้โควิด19 ที่ใช้เครื่องช่วยหายใจนานที่ สุดที่ศิริราช 42 วัน ในการระบาดรอบแรกคนไข้ที่ใช้นานที่สุด 17 วัน ซึ่งปัจจัยความสำเร็จในการรักษาพยาบาลไม่ได้อยู่ที่ตัวคนไข้เท่านั้น ครอบครัวก็มีส่วนสำคัญ
“ตอนอยู่ในห้องแยกและใส่ท่อช่วยหายใจ ทำให้ร่างกายดิ้น ต่อต้าน ก็จะหายใจเร็ว แต่เมื่อได้ยินเสียงภรรยาบอกว่า ช้าลงนะ ท่านก็จะหายใจช้าลง เพราะฉะนั้น เสียงที่คุ้นหู เป็นหนึ่งวิธีการทำให้คนไข้สงบ ไม่ต้องเจอภาวะแทรกซ้อนจากยา การรักษาที่ดีขึ้น วันที่เสียงของภรรยา กระทบหู คงเป็นวันที่ท่านตั้งใจว่าจะกลับสู่สมุทรสาครให้ได้ วันที่น้ำหวานลูกสาวเข้าไปเยี่ยมทำให้ท่านรู้สึกว่าท่านจะสู้กับศึกนี้ให้ได้ ซึ่งเป็นกำลังใจที่ทำให้การดูแลผู้ป่วยประสบความสำเร็จ”ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์กล่าว
4ปัจจัยโรครุนแรง
ปัจจัย 4 อย่างที่จะทำให้ผู้ติดโควิดอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต คือ 1.ตัวไวรัส ถ้าได้รับปริมาณไวรัสจำนวนมาก รวมถึง สายพันธุ์ ซึ่งตอนนี้มีคำถามเกิดขึ้นว่าสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ติดง่ายและรุนแรงขึ้นหรือไม่ เป็นสิ่งที่โลกติดตามอยู่ ประเทศไทยยังไม่มีสายพันธุ์นี้ระบาด 2.ภูมิคุ้มกันในแต่ละคน ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีภูมิร่างกายไม่ดี เช่น มะเร็ง เป็นต้น 3.โรคร่วม คนที่ปอดมีพยาธิสภาพไม่ดีอยู่ก่อน เมื่อติดเชื้อก็จะรุนแรงมากขึ้น โรคเกี่ยวกับอวัยวะต่างๆ
และ4.อายุ ผู้สูงอายุอวัยวะต่างๆไม่ได้ทำงาน 100 % การทำงานลดลง เมื่อติดไวรัสเข้าไปทำให้อวัยวะทำงานลดลงอีก เพราะฉะนั้น การป้องกันตัวเองจากการเจอไวรัสจำนวนมาก ด้วยการใส่หน้ากาก และล้างมือบ่อยๆเป็นสิ่งสำคัญ
ป่วยหนักแต่ภูมิคุ้มกัน “โควิด19”ไม่ขึ้น
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ทางวิชาการ เวลาป่วยวิกฤติ น้ำหนัก กล้ามเนื้อจะหายไป แพราะฉะนั้นการฟื้นตัวช่วงแรกน้ำหนักจะไม่ขึ้น จนเกิดภาวะสมดุลของร่างกายอาจจะใช้เวลา 1 เดือนถึงจะเกิด โดยสิ่งที่บ่งบอกคือน้ำหนักเริ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้ผู้ว่าฯน้ำหนักเริ่มขึ้น กลับไปทำงานได้
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ปกติคนทั่วไปเวลาป่วยด้วยโรค “โควิด19”ประมาณวันที่ 8 ขึ้นไปถ้าไม่เสียชีวิต ภูมิคุ้มกันจะค่อยๆขึ้น และจะอยู่ในระดับป้องกันโรคได้อยู่ในระยะเวลาหนึ่ง แต่มีรายงานแรกสหราชอาณาจักร พบว่าคนที่เป็นโควิด19 อยู่ 63 คนหลังติดตาม 2 เดือน มี 17 % ที่ ภูมิคุ้มกันหายไป แปลว่าจะมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้น เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน
กรณีผู้ว่าฯ คาดหวังจะมีภูมิคุ้มกันที่สูงเพราะเจ็บป่วยหนัก และหลังจากเข้ามาอยู่รพ.ได้ประมาณ 2-3สัปดาห์เชื้อไวรัสก้หายไปแล้ว ส่วนหนึ่งเกิดจากการได้ยาแต่ส่วนหนึ่งก็เชื่อว่าภูมิคุ้มกันท่านก็ขึ้น แต่สิ่งที่เกิดเมื่อมีการตรวจระดับภูมิคุ้มกันของผู้ว่าฯก่อนออกจากรพ.เพราะท่านจะกลับสมุทรสาครที่ยังมีความชุกการติดเชื้อ จึงเป็นห่วงและได้ตรวจ
“ปรากฎว่าภูมิคุ้มกันกลับไม่ขึ้น หรือจริงๆอาจจะขึ้นแล้วลงยังไม่รู้ ทำให้ได้ฉีดวัคซีนซิโนแวคให้ผู้ว่าฯแล้ว 1 เข็ม ซึ่งก็ควรได้ครบ 2 โดส แต่จะขอติดตามภูมิคุ้มกันท่านอีกครั้งกอ่นฉีดเข็มที่ 2 เพราะทางทฤษฎีหากภูมิคุ้มกันเคยขึ้นแล้วลง เมื่อได้วัคซีน 1 เข็มจะไปกระตุ้นและภูมิคุ้มกันสูงมาก การฉีดเข็มที่ 2อาจไม่จำเป็น”ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์กล่าว
คนไทยป้องกันการ์ดอย่าตก
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า คนไทยทุกคนที่ป่วยโรคโควิด19 ประเทศไทยไม่ทิ้งกันแน่นอน มีการวางระบบอยู่ใกล้ที่ไหนรักษาที่นั่น คนที่มีอาการรุนแรงจะมีระบบการส่งต่อ ที่สำคัญที่สุด คือป้องกันตัวเราเอง การ์ดอย่าตก เพราะโรคนี้จะอยู่กับเราอีกพักใหญ่ บางประเทศในยุโรปเข้าสู่การระบาดรอบ 3 แล้วและแรงด้วย เพราะฉะนั้นโควิด19ไม่หยุดที่รอบ 2 วัคซีนมีส่วนสำคัญช่วยประเทศ เพราะถ้ามีภูมิคุ้มกันหมู่จำนวนมากพอ อาจจะ 60-70%ของคนไทยก็มีโอกาสชนะไวรัสนี้ ถ้ามันไม่กลายพันธุ์ วัคซีนมีความปลอดภัย
ศิริราชยกระดับการดูแลผู้ป่วย
รศ.นพ.วิศิษฎ์ กล่าวว่า ผู้ว่าฯเป็นหนึ่งในผู้ป่วยอาการหนักของการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งในระลอกแรก ศิริราชดูแลคนไข้114 คน อาการหนักประมาณ 10 % ไม่มีผู้เสียชีวิต รอบใหม่รับคนไข้แล้ว 75 ราย อาการหนัก10กว่าราย อาการหนักและเสียชีวิต 2 ราย ซึ่งในรอบ 2 ศิริราชดูแลคนไข้หนักมากว่ารอบแรก ใช้ห้องความดันลบไป 7 ห้องเต็มจำนวน และขยายเพิ่มอีก 6 ห้องก็ใช้ทั้งหมด ห้องแยกโรคอีก 11 ห้อง และที่รพ.ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ส่งต่อได้อีก 51 เตียง ศักยภาพศิริราชสามารถดูแลคนไข้หนักได้ 69 รายและขยายไปได้อีก 6 เตียง โดยทำงานร่วมกับสธ.และทุกภาคส่วนภายใต้การทำงานแบบสหสาขา กรณีคนไข้หนักไม่ได้ดูแลโดยแพทย์ท่านเดียว แต่ดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ให้กำลังใจผู้ว่าฯสมุทรสาคร พลิกปูมชีวิต 'วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี' แม่ทัพหน้าปราบโควิด-19