แพทย์เตือนนักเที่ยวกินเห็ดขี้ควาย ผิดกฎหมาย พิษรุนแรงถึงตายได้
สบยช. เตือนกลุ่มนักเที่ยวนิยมกิน “เห็ดเมา หรือ เห็ดขี้ควาย” ผิดกฎหมาย พิษออกฤทธิ์รุนแรงอาจเสียชีวิตได้
นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในปัจจุบัน มีกระแสการลักลอบจำหน่ายเห็ดเมา หรือ เห็ดขี้ควาย ซึ่งในบางกลุ่มนิยมนำมากินเพื่อให้เกิดอาการมึนเมา ซึ่งเห็ดเมา หรือ เห็ดขี้ควาย เป็นเห็ดพิษซึ่งขึ้นอยู่ตามกองขี้ควายแห้ง พบได้ทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย สีของเห็ดจะมีสีเหลืองซีด คล้ายสีฟางแห้ง บนหัวของร่มจะมีสีน้ำตาลเข้มจนถึงสีดำ บริเวณใกล้ตัวร่มจะมีแผ่นเนื้อเยื่อบางๆ สีขาว แผ่ขยายออกรอบก้าน แผ่นนี้มีลักษณะคล้ายวงแหวน ลักษณะของเห็ดที่สมบูรณ์และโตเต็มที่ตรงบริเวณหมวกจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6.5 – 8.8 ซม. ความสูงของลำต้นประมาณ 5.5 – 8 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.8 – 1.0 ซม.
ทั้งนี้ในประเทศไทย จัดว่าเห็ดเมาหรือเห็ดขี้ควาย เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 โดยผู้ใดผลิต ขาย นำเข้า หรือส่งออก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 -15 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 – 1,500,000 บาท ผู้เสพจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า เห็ดเมา หรือ เห็ดขี้ควาย เป็นที่รู้จักทั่วไปในกลุ่มนักเที่ยว ซึ่งถูกเรียกว่า “Magic Mushroom” มีการแพร่ระบาดอยู่ในกลุ่มนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม โดยนิยมนำไปปั้นผสมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกฮอล์จะเป็นตัวทำละลายให้พิษออกฤทธิ์เร็วและรุนแรงมากขึ้น ฤทธิ์ในทางเสพติด ในเห็ดขี้ควายมีสารออกฤทธิ์ทำลายประสาทอย่างรุนแรง คือ ไซโลซีน และไซโลไซบีน ผสมอยู่ ซึ่งออกฤทธิ์หลอนประสาท เมื่อกินเข้าไปจะทำให้มีอาการมึนเมา ประสาทหลอน ไม่สามารถลำดับทิศทางได้ เห็นภาพ แสง สีต่างๆ ลวงตา มีความคิดและอารมณ์เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหากกินมากเกินไปอาจจะทำให้ควบคุมสติไม่อยู่ เกิดประสาทหลอนอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน หายใจติดขัดและอาจเสียชีวิตได้ เตือนกลุ่มนักเที่ยวและประชาชนทั่วไป ที่คิดจะกินเห็ดชนิดนี้ ทั้งเพื่อให้เกิดความมึนเมาหรือนำมาปรุงเป็นอาหารให้ระวังพิษรุนแรง ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ ทั้งนี้พิษของเห็ดจะไม่ถูกทำลายด้วยความร้อน หากประสบปัญหาเกี่ยวกับยาและ สารเสพติด สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่
โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 หรือดูข้อมูลได้ที่ www.pmindat.go.th