ปภ.เตือนปชช.รับมือพายุฤดูร้อน 21-22 มี.ค.นี้
"นิพนธ์" สั่งกรม ปภ.เตรียมพร้อมรับมือ "พายุฤดูร้อน" 21-22 มี.ค.นี้ กำชับท้องถิ่นสำรวจความแข็งแรงป้ายโฆษณา
วันที่ 20 มี.ค. นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะที่กำกับดูแลกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเปิดเผยถึงสถานการณ์พายุฤดูร้อนที่ส่งผลกระทบในช่วง 2-3 วันนี้ ว่า ตามที่ได้มีการประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบในช่วงระหว่างวันที่ 21-22 มี.ค. โดยจะเกิดเป็นลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงสลับกับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงฟ้าผ่าที่รุนแรงในบางจุด สำหรับพื้นที่จะได้รับผลกระทบได้แก่ พื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคตะวันออก ภาคเหนือ ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและภาคใต้ตอนบน
นายนิพนธ์ กล่าวว่า สำหรับการเตรียมรับมือสถานการณ์นั้น กองอํานวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ได้มีการติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดโดยประสานความร่วมมือไปยังศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตทุกเขต ให้บูรณาการความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดจนประชาชน ให้ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการ รวมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนได้ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่สิ่งก่อสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง รวมถึงระวังอันตรายจากฟ้าผ่า และในส่วนของประชาชนที่เป็นเกษตรกร ควรหาทางป้องกันผลิตผลทางการเกษตรที่อาจได้รับความเสียหาย และระมัดระวังอันตรายจากฟ้าผ่าอีกด้วย
นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า ในช่วงเดือนก.พ. ถึง พ.ค. ของทุกปีประเทศไทยโดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเป็นเกิดสถานการณ์พายุฤดูร้อนอยู่เป็นประจำ ความเสียหายมากน้อยขึ้นอยู่กับสภาพแต่ละพื้นที่ ซึ่งการเตรียมการก็ได้มีการสั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เจ้าหน้าที่ ปภ.ให้มีการประสานการเตรียมการช่วยเหลือร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่นเพื่อดูแลประชาชนอย่างเร่งด่วนในจุดที่เกิดพายุ เนื่องจากบ้านเรือนของประชาชนอาจถูกกระแสลมกรรโชกแรงพัดหลังคา และทำให้บ้านเรือนเกิดความเสียหาย และจำเป็นต้องอพยพประชาชนไปยังพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว ซึ่งในส่วนนี้ทั้ง กิ่งกาชาด ปภ. และท้องถิ่นก็ต้องเข้าไปเยี่ยมเยียนดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างใกล้ชิด ทั้งเรื่อง การจัดเตรียมที่พักพิงชั่วคราว อาหารน้ำดื่ม ระบบสุขอนามัยต่างๆเพื่อการบรรเทาทุกข์เบื้องต้น
"กรมปภ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีการวิเคราะห์และประเมินปัจจัยสภาพความเสี่ยงในพื้นที่ เพื่อการประสานและบูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่น หน่วยงานภาคี เครือข่ายอาสาสมัคร โดยเฉพาะโครงสร้างป้ายโฆษณาต่างๆ ให้เข้าไปสำรวจความแข็งแรง เพราะอาจเกิดปัญหาเมื่อมีกระแสลมพายุที่รุนแรงได้ พร้อมทั้ง การเตรียมพร้อมในเรื่องเครื่องมืออุปกรณ์และแผนเผชิญเหตุ โดยประการสําคัญยังคงเน้นย้ำในเรื่องของการแจ้งเตือน ประชาชนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น การสร้างการรับรู้ในทุกช่องทาง ทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น โทรศัพท์ สื่อสังคมออนไลน์ วิทยุชุมชน เป็นต้น รวมทั้ง การเปิดช่องทางในการแจ้งเหตุผ่านทางโทรศัพท์สายด่วน 1784 หรือแจ้งผ่านไลน์ "ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784" Line ID @1784DDPM ตลอด 24 ชั่วโมง อีกด้วย"นายนิพนธ์ กล่าว