'เยลเลน' เชื่อ 'แบงก์สหรัฐ' แข็งแกร่ง จ่ายปันผล-ซื้อหุ้นคืนได้
"เจเน็ต เยลเลน" แสดงความเชื่อมั่นธนาคารพาณิชย์สหรัฐ ฟื้นจากผลกระทบโควิด-19 อย่างแข็งแกร่ง และมีสามารถจ่ายปันผล ซื้อหุ้นคืนได้
นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ แถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาเมื่อวันพุธ (24 มี.ค.) ว่า ธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐ มีสถานะที่แข็งแกร่งเพียงพอที่จะได้รับอนุญาตให้จ่ายเงินปันผลและซื้อหุ้นคืน โดยมุมมองดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า นางเยลเลนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ในระหว่างการแถลงครั้งนี้ นายเชอร์รอด บราวน์ ประธานคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาได้ตั้งคำถามว่า นางเยลเลนคัดค้านการที่ธนาคารพาณิชย์จะจ่ายเงินปันผลและซื้อหุ้นคืนหรือไม่ ซึ่งนางเยลเลนกล่าวว่า ก่อนหน้านี้เธอคัดค้าน แต่ขณะนี้เธอมองว่าสถาบันการเงินของสหรัฐมีสถานะที่แข็งแกร่งมากขึ้น และ “มีความสามารถในระดับหนึ่ง” ที่จะดำเนินการตามกฎระเบียบ เพื่อที่จะจ่ายเงินปันผลให้กับบรรดาผู้ถือหุ้นได้อีกครั้ง
วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันพยายามกดดันนางเยลเลนในประเด็นที่เธอสนับสนุนแผนการนำเงินสำรองฉุกเฉินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกมาช่วยเหลือกลุ่มประเทศยากจนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะที่สมาชิกวุฒิสภาอีกหลายรายได้แสดงความกังวลว่า การดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการสร้างภาระครั้งใหม่ให้กับผู้เสียภาษีชาวอเมริกัน โดยการอภิปรายในเรื่องนี้ทำให้นางเยลเลน และนายจอห์น เคนเนดี วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันจากรัฐลุยเซียนา ถกเถียงกันอย่างดุเดือด
นายเคนเนดีกล่าวว่า ในการนำเงินจากกองทุนสิทธิพิเศษถอนเงิน (SDR) ของ IMF ออกมาใช้นั้น กระทรวงการคลังต้องออกพันธบัตรล็อตใหม่มูลค่า 1.80 แสนล้านดอลลาร์เพื่อเป็นทุนในการจัดสรรเงินให้กับประเทศอื่นๆ ซึ่งจะต้องมีการแปลงค่าเงิน SDR ไปเป็นสกุลเงินต่างๆ โดยสกุลเงิน SDR นั้น อิงกับตะกร้าเงินซึ่งประกอบด้วยดอลลาร์สหรัฐ, ยูโร, ปอนด์, เยน และหยวน
อย่างไรก็ดี นางเยลเลนได้โต้แย้งแนวคิดดังกล่าว โดยระบุว่า การนำเงิน SDR มาใช้ จะไม่เพิ่มภาระให้กับประชาชนผู้เสียภาษี และการจ่ายดอกเบี้ยให้กับพันธบัตรที่ออกจำหน่าย จะถูกชดเชยด้วยดอกเบี้ยที่ได้รับจากการถือครอง SDR โดยระบุว่า ไม่มีเงินที่จะต้องจ่ายคืน ไม่ต้องกังวล และดอกเบี้ยที่เราได้รับจากการถือครองสกุลเงิน SDR นั้น จะหักล้างต้นทุนที่เกิดจากการออกพันธบัตร