ครม.ยืดเวลายกเว้นอากรขาเข้าของใช้รักษา 'โควิด-19' ตั้งแต่ 4 ก.พ.-30 ก.ย.64
ครม.เห็นชอบขยายเวลามาตรการ ยกเว้นอากรศุลกากรที่มีความจำเป็น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาด "โควิด-19" ตั้งแต่ 4 ก.พ.-30 ก.ย.64 เตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ระลอกใหม่ ให้ปริมาณหน้ากากมีเพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ
เมื่อวันที่ 25 มี.ค.64 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุม ครม. เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 64 ครม. เห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ ..) และร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อผลิตเป็นหน้ากาก (ฉบับที่ ..) รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการขยายระยะเวลามาตรการยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับสินค้าหน้ากากชนิดที่ใช้ในห้องผ่าตัด หน้ากากกรองฝุ่น หมอกควัน หรือสารพิษ บรรดาที่เป็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย และหน้ากากกรองเชื้อโรค และหน้ากากทางการแพทย์นอกจากหน้ากากชนิดที่ใช้ในห้องผ่าตัด ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564
และขยายระยะเวลาการยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อผลิตเป็นหน้ากากที่ใช้ในห้องผ่าตัด หน้ากากกรองเชื้อโรค หน้ากากทางการแพทย์นอกจากหน้ากากชนิดที่ใช้ในห้องผ่าตัด และหน้ากากกรองฝุ่น หมอกควัน หรือสารพิษ บรรดาที่เป็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 "โควิด-19" ที่จะเกิดขึ้น
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้เคยมีมาตรการยกเว้นอากรศุลกากรเพื่อดูแล และเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ฉบับที่ 3 และ ฉบับที่ 7 และประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อผลิตเป็นหน้ากาก ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2563 ซึ่งขณะนี้ได้สิ้นผลใช้บังคับแล้ว
แต่โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในต่างประเทศยังมีการระบาดอย่างรุนแรง และเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ภายในประเทศ ประเทศไทยจึงควรมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว และเพื่อให้มีปริมาณหน้ากากเพียงพอสำหรับความต้องการใช้ของบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย กลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ และประชาชนสามารถเข้าถึงสินค้าหน้ากากได้อย่างทั่วถึง ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงเห็นควรขยายระยะเวลามาตรการยกเว้นอากรศุลกากรที่มีความจำเป็น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อให้มาตรการฯ ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง
“การขยายระยะเวลามาตรการยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับสินค้าดังกล่าว จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้โดยประมาณ 9 ล้านบาท และการสูญเสียรายได้ก็อาจจะเพิ่มสูงขึ้นตามปริมาณความต้องการภายในประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวจะเป็นการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่เกิดขึ้น เพื่อให้มีปริมาณหน้ากากเพียงพอสำหรับความต้องการใช้ของบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย กลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ และประชาชนสามารถเข้าถึงสินค้าดังกล่าวได้อย่างทั่วถึง” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว