‘ศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลนคลองโคน’ อนุบาลสัตว์น้ำ-สร้างรายได้ชุมชน อย่างยั่งยืน
สมัยก่อน “คลองโคน” ไม่มีอะไรเลย กันดาร ผิดกับปัจจุบันที่มี “ศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลนคลองโคน” ยิ่งส่งเสริมให้ชุมชนดูแล “ป่าชายเลน” ยิ่งทำให้มีนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปี ชีวิตความเป็นอยู่คนในชุมชนดีขึ้น ปัญหาเรื่องปากท้องน้อยลงตามมา
"ศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลนคลองโคน" อยู่ที่ ตำบลคลองโคน สมุทรสงคราม ที่นี่มี "ป่าชายเลน" ซึ่งถือเป็นเป็นแหล่งอนุบาล กุ้ง หอย ปู ปลา เพื่อเป็นอาหารสำหรับชาวบ้าน ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นแหล่งผลิตออกซิเจนที่ดีที่สุด ดูดซับคาร์บอนไดออกไซน์ เพราะป่าชายเลน ลักษณะใบเยอะ ลำต้นสูง คายน้ำ ชอบน้ำ รากเยอะ ลดโลกร้อนได้ดี ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าชายเลนทั้งหมดราว 1.5 ล้านไร่
บ้านคลองโคน จ.สมุทรสงคราม ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ป่าชายเลนที่สำคัญ แต่เดิมมีพื้นที่ป่าชายเลนกว่า 3.7 หมื่นไร่ หลังจากที่มีการบุกรุกเพื่อนำมาทำนากุ้งและใช้ประโยชน์อื่นๆ ทำให้ป่าชายเลนเหลือเพียง 600 ไร่ ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลใกล้ชายฝั่งได้สูญเสียไป จนไม่สามารถทำการประมงชายฝั่งได้ ประชากรในพื้นที่แยกย้ายไปประกอบอาชีพในต่างถิ่น
ปภัสร์พงษ์ รัตนพงศ์ธระ ผู้ช่วยศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลนคลองโคน เล่าว่า ปัญหาคือ ชาวบ้านอยู่กินกับธรรมชาติ พอธรรมชาติถูกทำลาย กุ้ง หอย ปู ปลา ก็ถูกทำลาย คนในชุมชนต้องเดินทางไปรับจ้างนอกพื้นที่ ขณะเดียวกัน ในเวลานั้นการเลี้ยงกุ้งกำลังเป็นที่นิยม หลายคนจึงแปรสภาพป่าชายเลนให้เป็นบ่อเลี้ยงกุ้งและที่อยู่อาศัย
ในปี 2434 ชาวบ้านในพื้นที่โดยการนำของ ผู้ใหญ่ไพบูลย์ รัตนพงศ์ธระ (ผู้ใหญ่ชงค์) ได้ช่วยกันฟื้นสภาพของป่าชายเลน เพื่อให้ความอุดมสมบูรณ์กลับคืนมาอีกครั้ง แม้ในช่วง 3 ปีแรก จะไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากขาดองค์ความรู้ในการฟื้นฟู ปลูกป่า พันธุ์ไม้ ต่อมาหน่วยงานรัฐเริ่มเห็นความสำคัญ นักวิชาการได้เข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้
อีกทั้ง พระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเห็นความสำคัญของการปลูกป่าชายเลน จึงได้เสด็จมาทรงปลูกป่าชายเลนที่คลองโคนด้วยพระองค์เอง ในปี 2540, 2541, 2542, 2545 และ 2547 กระทั่งปัจจุบัน พื้นที่ป่าชายเลนของบ้านคลองโคนกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง เกิดสัตว์น้ำชายฝั่งมากมาย สามารถทำการประมงเลี้ยงชีพได้อย่างพอเพียง
“ในช่วงแรกใช้วิธีการระดมทุน เรือ ต้นกล้า และคนมาช่วยปลูก แต่ยังไม่สำเร็จผล เพราะไม่รู้ว่าจะปลูกต้นอะไร พื้นที่แต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน เช่น คลองโคน เป็นโคลน 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องปลูกต้นโกงกาง ต้นแสม แต่ตอนนั้นปลูกทุกพันธุ์ ทำให้ต้นไม้ที่ปลูกไปไม่รอด ทางจังหวัดเล็งเห็นความตั้งใจจึงส่งนักวิชาการ รวมถึงมหาวิทยาลัยมาวิจัยจนรู้ว่าต้องปลูกโกงกาง เรียนรู้การขยายพันธุ์ น้ำ ดิน ที่เหมาะ”
เมื่อได้องค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ ขั้นตอนถัดมา คือ การกระจายความรู้ สู่การเปิดศูนย์เรียนรู้เล็กๆ กระทั่ง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จมาเมื่อปี 2540 ผู้ใหญ่ชงค์ จึงทำการจัดตั้ง “ศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลนคลองโคน” เพื่อให้คนภายนอกมาเยี่ยมชม เรียนรู้ แห่งแรกใน "คลองโคน" ให้ความรู้ในการปลูกพันธุ์ไม้ป่าชายเลน พร้อมแนะนำพื้นที่ที่สามารถปลูกป่าแล้วโอกาสรอดสูง หรือตรงไหนไม่ควรปลูก และทำความเข้าใจต้นไม้ที่จะปลูก
ปภัสร์พงษ์ อธิบายต่อไปว่า พอมีการขยายองค์ความรู้ ต้องมีการติดตามผล ซึ่งส่วนใหญ่ 80 เปอร์เซ็นต์ งอกงามดี และอีก 20 เปอร์เซ็นต์ อาจจะมาจากปัจจัยด้านต่างๆ อาทิ น้ำจืดลงมาเยอะ หรือ มลพิษจากโรงงาน ซึ่งมีผลกระทบต่อต้นอ่อน หรือเหตุสุดวิสัยเช่น พายุ และลิงที่เข้ามาทำลายแปลง แต่ส่วนใหญ่ค่อนข้างงอกงาม เป็นป่าเกิดใหม่ที่ช่วยฟื้นฟูและซ่อมแซม โดยใน 1 ปี ใช้เวลา 8 เดือน ในการซ่อมแซมป่า และอีก 4 เดือน จะปลูกขยายไปในทะเลตามน้ำขึ้นน้ำลง เช่น หากช่วงน้ำขึ้นจะปลูกป่าด้านในเป็นการซ่อมแซมป่า หากน้ำแห้งไม่สามารถนำเรือเข้าไปได้ จะปลูกด้านนอกซึ่งเป็นเลนนิ่ม อัตราการรอดน้อยกว่า แต่หากต้นไม้งอกก็จะมีประโยชน์ ช่วยยึดเกาะหน้าดิน
ทั้งนี้ แม้ในช่วงแรกอาจจะไม่ได้รับความร่วมมือ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่พอสำเร็จผลเกิดเป็นรูปธรรม ทำให้ทุกฝ่ายยอมรับประโยชน์ของป่าชายเลน นอกจากจะทำให้ชาวบ้านที่ทำอาชีพประมงได้สัตว์น้ำกลับคืนมาจากป่าชายเลน ยังได้อาชีพใหม่คือ การท่องเที่ยว โฮมสเตย์ และร้านอาหาร
ปัจจุบัน คลองโคน มีผืนป่าชายเลนราว 8,000 ไร่ ทั้งในและนอกเขตอนุรักษ์ ในพื้นที่สมุทรสงคราม ขณะที่อีก 2 หมื่นกว่าไร่ ถูกแปรสภาพเป็นพื้นที่อยู่อาศัย มีโฉนดที่ดิน และทำบ่อกุ้ง
พร้อมกันนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานของทางภาครัฐช่วยสอดส่องดูแล มีโฮมสเตย์ไม่ต่ำกว่า15 แห่ง ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ และร้านอาหาร 10 กว่าแห่ง เป็นผลจากโครงการปลูกป่า การสนับสนุนจากทางจังหวัด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่ช่วยเข้ามาโปรโมต
ชาวบ้านบางส่วนได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มอาชีพตามความถนัด เช่น กลุ่มชาวเรือ กลุ่มทำอาหาร กลุ่มกระเตง (กระท่อมของชาวประมงที่ปลูกกลางทะเลเพื่อให้เฝ้าฟาร์มหอยแครง) และเกิดเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขึ้นมา ต่อไปไม่ต้องกังวลว่าใครจะไปทำลายป่า เพราะทุกคนรู้ว่าสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เป็นการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน
“ผมเกิดและโตที่นี่ สมัยก่อนคลองโคนไม่มีอะไรเลย กันดาร ไม่มีนักท่องเที่ยว หากุ้งหาหอยปูปลาอย่างเดียว หากปีไหนน้ำเสีย ชาวบ้านก็ขาดรายได้ ลูกหลานไม่ได้เรียนต่อ จบป.6 ต้องช่วยออกทะเล เพราะรายได้ไม่คงที่และไม่แน่นอน ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวมีตลอดทั้งปี หากไม่ได้ออกทะเล ก็มาวิ่งเรือให้นักท่องเที่ยวทำให้ชีวิตความเป็นอยู่คนในชุมชนดีขึ้น ปัญหาเรื่องปากท้องน้อยลง ป่าชายเลน ประโยชน์คือ ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นแหล่งอนุบาล กุ้ง หอย ปู ปลา เพื่อเป็นอาหารสำหรับชาวบ้าน เป็นแหล่งผลิตออกซิเจนที่ดีที่สุด เพราะป่าชายเลน ลักษณะ ใบเยอะ ลำต้นสูง คายน้ำ ชอบน้ำ รากเยอะ ลดโลกร้อนได้ดีมาก เป็นไม้ที่ให้ออกซิเจนแก่โลก” ผู้ช่วยศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลนคลองโคน กล่าวทิ้งท้าย
"พริมา มารีน" อาสาต่อลมหายใจป่าโกงกาง
บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) นำทีมคณะผู้บริหาร พร้อมด้วยพนักงานจิตอาสากว่า 50 คน จัดกิจกรรม ปลูกป่าชายเลน #อาสาต่อลมหายใจป่าโกงกาง ณ ศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลนคลองโคน จ.สมุทรสงคราม เพื่อฟื้นฟูป่าชายเลน ซึ่งถือเป็นแหล่งอาหาร สร้างอาชีพ สร้างรายได้ของคนในชุมชน
ทั้งนี้ พริมา มารีน ในฐานะผู้ให้บริการขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์น้ำมันกึ่งสำเร็จรูป และปิโตรเคมีเหลวทางเรือ ถือเป็นบริษัทฯ ที่มีการดำเนินธุรกิจการขนส่งทางทะเลอย่างครบวงจรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค จากความทำงานใกล้ชิดกับท้องทะเล นำมาซึ่งความตระหนักและเดินหน้าเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบนิเวศทางทะเลที่มีความสำคัญ
วิริทธิ์พล จุไรสิทธุ์ ผู้อำนวยการสายงานการเงินและบัญชี บริษัท พรีมา มารีน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าเป็นที่ทราบกันดีว่า พริมา มารีน ดำเนินธุรกิจด้านการขนส่งน้ำมัน และผลิตภัณฑ์ ปิโตรเลียมทางทะเลโดยเรือเดินทะเลมายาวนานมากกว่า 30 ปี เราใช้พื้นที่ในการขนส่งไม่ว่าจะทะเล มหาสมุนทร หรือแม่น้ำมาตลอด ทั้งนี้ ทางบริษัทฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการฟื้นฟูโดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลมาอย่างต่อเนื่อง และมีการจัดกิจกรรมเป็นประจำทุกปี
ในพื้นที่ คลองโคน จ.สมุทรสงคราม ถือเป็นพื้นที่ป่าชายเลนที่มีความสำคัญต่อประชากรในพื้นที่ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนา ซ่อมแซม บูรณะอย่างสม่ำเสมอ ทางบริษัทฯ จึงให้ความสนใจในการจัดกิจกรรมที่นี่เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นคืนธรรมชาติที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น ให้พันธุ์ไม้กลับมาสมบูรณ์ และเป็นที่พักพิงของสัตว์น้ำต่อไปอย่างยั่งยืน