ThaiBMA ชี้นักลงทุนแห่ซื้อไฮยิลด์บอนด์ ต้นปีนี้กว่าหมื่นล้าน เหตุดอกเบี้ยสูง

ThaiBMA ชี้นักลงทุนแห่ซื้อไฮยิลด์บอนด์ ต้นปีนี้กว่าหมื่นล้าน เหตุดอกเบี้ยสูง

“13 บจ.”เตรียมขายหุ้นกู้เสี่ยงสูง เม.ย.-พ.ค. รวม 8.3 พันล้าน หวังนำเงินขยายธุรกิจ ด้านสมาคมตราสารหนี้ ชี้ต้นปีนี้ขายแล้ว 1.6 หมื่นล้าน-นักลงทุนให้ตอบรับที่ดี เหตุดอกเบี้ยสูง ก.ล.ต เผยปัจจุบันยังไม่มี บจ.ยื่นจัดตั้งกองทุนไฮยิลด์บอนด์

จากการรวบรวมข้อมูลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่า ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.2564 มีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เตรียมเสนอขายหุ้นกู้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Non-rated) และหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับลงทุน (Non-Investment Grade) หรือ ตราสารหนี้กลุ่มเสี่ยง (ไฮยิลด์บอนด์) ที่ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) แล้ว 13 บริษัท รวมมูลค่า 8.3 พันล้านบาท (รวมหุ้นกู้สำรองขาย) ดอกเบี้ยระหว่าง 3.45-9.6%

ทั้งนี้ บจ.ที่มี มูลค่าการเสนอขายหุ้นกู้สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) มูลค่ารวมไม่เกิน 1,500 ล้านบาท ถัดมา บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์ (NER) มูลค่า 1,300 ล้านบาท และบมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) มูลค่า 1,000 ล้านบาท เท่ากับ บมจ.มั่นคงเคหะการ (MK) ที่มีมูลค่าเสนอขาย 1,000 ล้านบาท

161698758148

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ในช่วงต้นปี 2564 หุ้นกู้เสี่ยงสูง หรือไฮยิลด์บอนด์ มียอดระดมทุนรวม 1.6 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้มูลค่าคงค้าง (Outstanding) ของหุ้นกู้กลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.3 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 48% และมากกว่า 50% เป็นหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียน (บจ.)

ส่วนภาพรวมการระดมทุน พบว่านักลงทุนยังให้การตอบรับดี เพราะผู้ออกเสนออัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เพื่อจูงใจนักลงทุน หลังจากปี 2563 เกิดปรากฏการณ์หุ้นกู้เสี่ยงสูงเลื่อนไถ่ถอนจากผลกระทบโควิด-19 นอกจากนี้ ผู้ออกหุ้นกู้บางส่วนนำสินทรัพย์มาค้ำประกันเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุน สอดคล้องกับผู้ออกตราสารส่วนใหญ่ที่อยู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

สำหรับกลไกป้องกันความเสี่ยงหุ้นกู้ดังกล่าวนั้น  ก.ล.ต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแนวทางดูแลโดยมีแผนจัดให้จัดตั้งกองทุนหุ้นกู้เสี่ยงสูง และกองรีทที่ให้สิทธิเจ้าของเดิมซื้อคืน (REIT with buy back condition) รวมถึงมาตรการโกดังพักหนี้ ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ 

นางสาวจอมขวัญ คงสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ติดต่อเข้ามาเพื่อจัดตั้งกองทุนไฮยิลด์ บอนด์ เพราะผู้ออกหุ้นกู้เสี่ยงสูงยังมีทางเลือกในการเลื่อนไถ่ถอนและเสนออัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้นให้แก่นักลงทุน ส่วนหุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ เช่น หุ้นกู้ของ บมจ.เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป (ACAP) หรือ บมจ.การบินไทย (THAI) ได้เข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายแล้ว

นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์ (NER) กล่าวว่า ในเดือน เม.ย.บริษัทฯ เตรียมขายหุ้นกู้ 1.3 พันล้านบ้าน อัตราดอกเบี้ย 5.85%  เพื่อต้องการเงินทุนมาใช้ขยายโรงงานและซื้อวัตถุดิบ แม้หุ้นกู้ชุดดังกล่าวจะยังไม่ได้รับการจัดอันดับเครดิต แต่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอจัดทำอันดับเครดิตหุ้นกู้เพื่อให้ได้รับต้นทุนในอนาคตที่ถูกลง