นายกฯสั่งดูแลส่งออก ป้องผลซ้ำวิกฤติสุเอซ
นายกฯ สั่งตามวิกฤติคลองสุเอซใกล้ชิดห่วงผลกระทบนำเข้า-ส่งออกสินค้า ชี้ปัญหาคลี่คลายเร็วทำผลกระทบน้อย ด้าน สรท.ลุ้นเปิดทางเรือ300ลำเข้าคิวผ่านคลอง ผวาสินค้าไทยถึงปลายทางล่าช้า ด้านพาณิชย์แนะเอกชนติดต่อผู้นำเข้า-ชิปเปอร์วางแผนรับขนส่งช้าสินค้าตกค้าง
จากเหตุการณ์เรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ Ever Given กีดขวางคลองสุเอซ ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. 2564 ส่งผลกระทบกับภาคการค้าระหว่างประเทศของโลกอย่างมีนัยสำคัญ แม้สถานการณ์ล่าสุดใกล้เคียงกับที่คลองสุเอซจะกลับมาใช้งานได้ตามปกติแล้ว แต่เรือสินค้าที่สะสมมานานเกือบสัปดาห์กำลังเป็นปัญหาลำดับถัดไปซึ่งไทยในฐานะประเทศพึ่งพารายได้จากการส่งออกสินค้าถึง 70% ของจีดีพีอยู่นิ่งไม่ได้กับเหตุการณ์นี้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องรู้ เพราะเป็นปัญหาในระดับภูมิภาค ทั้งนี้แม้จะแก้ปัญหาได้แล้วแต่ก็มีความเสียหายจำนวนมาก ซึ่งไทยได้พิจารณาตั้งแต่แรกโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขนส่งสินค้าทั่วไป อาจจะมีผลกระทบบ้าง จากการส่งมอบล่าช้าและค่าขนส่งสินค้าสูงขึ้น เพราะเรือต้องอ้อมไปส่งสินค้าเส้นทางอื่น ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและหามาตรการดูแลผู้ประกอบการส่งออกนำเข้าสินค้า หากสถานการณ์คลี่คลายในระยะเวลาอันสั้นก็จะไม่มีผลกระทบมากนัก
ส่วนผลต่อเรื่องพลังงานขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบเนื่องจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มีน้ำมันดิบจากลิเบีย 1 คาร์โก้ ซึ่งแก้ไขขายให้ยุโรปไปแล้ว ส่วนก๊าซธรรมชาติเหลวหรือก๊าซแอลเอ็นจีนั้น เป็นการซื้อขายที่มีสัญญาล่วงหน้าซึ่งผู้ขายจะต้องจัดหาและนำส่งให้ได้ ทั้งนี้เรื่องการค้าขายที่ต้องส่งออกไปยุโรปอาจจะต้องเสียเวลา แต่สามารถอ้อมไปใช้เส้นทางอื่นได้ ส่วนเรือที่ติดค้างในคลองสุเอซคงต้องรอ 10-12 วันเนื่องจากมีการขนตู้คอนเทนเนอร์ออกจากเรือที่อับปาง ซึ่งยังไม่มีผลกระทบกับไทยมากนัก
“รัฐบาลไม่เคยนิ่งนอนใจ ทุกอย่างนายกฯ ทราบดีและได้สั่งการแก้ปัญหาเตรียมการไว้อยู่หลายอย่างคาดการณ์ล่วงหน้าไว้ก่อนดีกว่าเพื่อแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา ผมทำงานเชิงรุกหมดทุกเรื่อง”
ผู้ส่งออกประเมินผลเรือรอคิว
นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ขนส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า วานนี้ (29 มี.ค.) เวลาประมาณ 10.17 น. ได้รับทราบข่าวดีว่าเรือลำดังกล่าว สามารถลอยลำได้แล้ว หลังจากดูดทรายบริเวณโดยรอบออก 27,000 คิว จากนี้ต้องดูว่า จะมีการจัดการจราจรอย่างไร เพราะมีเรือบรรทุกสินค้ามากถึงกว่า 300 ลำที่รอเข้าคิวผ่านคลองสุเอซ เพื่อขนส่งสินค้าจากเอเชียไปยุโรป และจากยุโรปไปเอเชีย
“ถ้าภายใน 1-2 วัน สามารถขยับเรือ และเปิดทางให้เรือที่รอเข้าคิวกว่า 300 ลำผ่านคลองไปได้ ก็น่าจะเดินเรือขนส่งสินค้าได้แล้ว แต่ไม่รู้ว่า จะต้องใช้เวลานานแค่ไหนในการเคลียร์คิวเรือทั้งกว่า 300 ลำ ถ้าเคลียร์ได้เร็ว ก็ไม่น่าจะทำให้สินค้าไทยส่งมอบให้ผู้ซื้อในยุโรปล่าช้ามากนัก และเชื่อว่า ผู้นำเข้าไม่น่าจะเรียกร้องค่าเสียหายอะไรจากผู้ส่งออกไทย เพราะเป็นเหตุสุดวิสัย โดยมีสินค้าไทยที่อยู่ในเรือEver-Givenเพื่อขนส่งไปยุโรปประมาณ 600 ตู้คอนเทนเนอร์ มีทั้งสินค้าอาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ ฯลฯ”
สำหรับสินค้าไทย ที่จะส่งมอบให้กับผู้ซื้อที่ยุโรปในเดือนเม.ย.นี้ ผู้ส่งออกคงต้องหารือร่วมกับสายเรือว่าจะใช้เส้นทางใด แต่ถ้าเคลียร์คิวเรือที่ตกค้างให้ผ่านไปได้อย่างรวดเร็ว ก็คงไม่เปลี่ยนเส้นทาง และผ่านคลองสุเอซ เพื่อไปยุโรปเหมือนเดิม แต่ถ้าล่าช้ามาก คงต้องพิจารณาการเปลี่ยนเส้นทาง โดยไปอ้อมที่แหลมกู๊ดโฮปแทน แต่ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นถึง 14 วัน และเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วย
พาณิชย์ห่วงขนส่งช้าสินค้าตกค้าง
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผ่านผ่านเวบไซด์กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้ราคาน้ำดับดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น 4% จากความกังวลการขนส่ง นอกจากนี้ คาดว่าจะกระทบต่อซับพลายเชนการผลิตโลก ขณะเดียวกันคาดว่าราคา Freight จะปรับตัวสูงขึ้น ซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนราคาสินค้าของไทยและความสามารถการแข่งขัน
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยควรเร่งประสานผู้นำเข้า/ชิปปิ้งปลายทางเพื่อประเมินสถานการณ์และวางแผนรับมือกับการขนส่งที่อาจเกิดความล่าช้า ทั้งระยะสั้น (มี.ค.-เม.ย.) และระยะยาว จากการเคลียร์สินค้าตกค้าในช่วงที่ไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ตามปกติ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หากสามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้ภายในไม่เกิน 1 เดือน หรือ เดือนครึ่ง จะกระทบการส่งออกไทยไปยุโรปไม่มากนัก เพราะบริษัทเดินเรือสามารถหันไปใช้เส้นทางอ้อมผ่านแหลมกู๊ดโฮปได้ แต่ต้องใช้ระยะเวลานานขึ้นประมาณ 2 สัปดาห์ และทำให้มีต้นทุนค่าขนส่งแพงขึ้น ซึ่งในระยะสั้นคาดว่าผู้ประกอบการจะสามารถรับมือได้ ด้านราคาน้ำมันในตลาดโลกก็ไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นมากนัก
ปัจจุบันไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปตลาดยุโรปเพียง 10% สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็น อาหารแปรรูป อาหารสด อาหารทะเลแช่แข็ง ยานยนต์ ชิ้นส่วน ส่วนประกอบ ดังนั้น ถ้าหากการขนส่งล่าช้าไม่เกินเดือนครึ่ง ก็เชื่อว่าระยะสั้นผู้ประกอบการจะรับมือได้ แต่หากนานกว่านั้น อาจส่งผลให้ราคาสินค้าที่ส่งไปปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 10-15% ตามต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศคู่แข่งก็จะประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน ดังนั้นคาดว่า ไม่น่าจะกระทบต่อการส่งออกของไทยโดยรวม
คาดใช้เวลาอีก3วันเปิดทางได้
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานวานนี้ (29 มี.ค.) ว่า เรือเอ็มวีเอเวอร์กิฟเวนที่ยาวกว่าสนามฟุตบอล 4 สนาม ขวางคลองสุเอซในแนวทแยงมุมระหว่างเกิดพายุทรายเมื่อวันที่ 23 มี.ค. กีดขวางเส้นทางขนส่งสินค้าสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจหลายพันล้านดอลลาร์บริษัทชิปปิงลอยด์ลิสต์รายงานว่า เรือที่คอยอยู่สองด้านของคลองทั้งในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลแดงสะสมรวม 425 ลำ นายโอซามา ราบี ผู้อำนวยการองค์การคลองสุเอซ (เอสซีเอ) กล่าวกับสถานีโทรทัศน์อียิปต์วานนี้ว่า เมื่อเรือเอเวอร์กิฟเวนลอยได้ทั้งลำ จะต้องใช้เวลาอีกสามวันครึ่งเพื่อเปิดเส้นทางจราจรที่ติดขัด ก่อนหน้านั้นนายราบีเผยว่า ความพยายามกู้เรือขยับท้ายเรือได้สำเร็จ ตำแหน่งเรือปรับไปอยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง 80%
“ท้ายเรือห่างจากฝั่ง 102 เมตร” จากเดิมที่ห่างจากฝั่ง 4 เมตร การกู้เรือจะเริ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อน้ำขึ้นอีกรอบในเวลา 11.30 น.ตามเวลาท้องถิ่น หรือ 16.30 น. วานนี้ตามเวลาประเทศไทย เพืื่อลากเรือให้ลอยได้อย่างสมบูรณ์แล้วขยับไม่ให้ขวางทางน้ำ
วิกฤตินี้ทำให้หลายบริษัทมีทางเลือกแค่สองทางคือรอหรือเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือไปรอบแอฟริกา ที่ต้องเสียค่าน้ำมันเพิ่มอีกมากในระยะทาง 9,000 กิโลเมตร การเดินทางระหว่างเอเชียกับยุโรปเสียเวลาไปอีกกว่า 1 สัปดาห์ ซึ่งแต่ละวันการกีดขวางคลองสุเอซสร้างความเสียหายให้กับการค้าโลกไปแล้วราว 6,000-10,000 ล้านดอลลาร์