'สภาพัฒน์'เปิดเวทีระดมความเห็นสื่อมวลชนต่อกรอบ 'แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13'
สภาพัฒน์เปิดเวทีเชิญสื่อมวลชนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ “กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570)” เพื่อนำไปใช้ในการกำหนดแนวทางของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 พลิกโฉมประเทศไทย สู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน
วันนี้ (31 มีนาคม 2564) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมระดมความเห็นต่อ “กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570)” กลุ่มสื่อมวลชน ณ ห้อง 531 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยมีสื่อมวลชนอาวุโส ผู้บริหารระดับสูง และสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เข้าร่วมประชุมจำนวนประมาณ 40 คน อาทิ นายธงชัย ณ นคร กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน และเทคโนโลยีสารสนเทศ นายไมตรี ลิมปิชาติ สื่อมวลชนอาวุโส นายสมาน สุดโต ที่ปรึกษาโพสทูเดย์ออนไลน์ นายสุวัฒน์ ทองธนากุล บรรณาธิการ Green Innovation & SD นางสาวจันทรา ชัยนาม กรรมการผู้จัดการและนักจัดรายการวิทยุ นายเกษมสันต์ วีระกุล ประธานกรรมการ บ.ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) และผู้ดำเนินรายการ Good morning Asean นายเฉลิมชัย ยอดมาลัย กรรมการบริหาร บรรณาธิการข่าว และคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์แนวหน้า นายวัชระ แวววุฒินันท์ นายกสมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) นายสิทธิเดช จันทรศิริ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
นายดนุชา พิชยนันท์ กล่าวว่า สื่อมวลชน นับเป็นภาคีการพัฒนาที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อสังคม ในการติดตามและรายงานเหตุการณ์ ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ วิเคราะห์และชี้แนะแนวทางการพัฒนาประเทศ รวมถึงสร้างบรรยากาศของการพัฒนา และกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น สศช. จึงได้จัดระดมความคิดเห็นจากสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ขึ้นในวันนี้ เพื่อให้ผู้แทนจากสื่อมวลชนซึ่งเป็นภาคีการพัฒนาที่สำคัญ ได้ร่วมคิด ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการจัดทำกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 นี้
เลขาธิการ สศช. กล่าวต่อไปว่า กรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 นี้มีเป้าหมายเพื่อ “พลิกโฉมประเทศไทย สู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน” โดยสิ่งที่ต้องทำ คือ การเปลี่ยนผ่านประเทศ หรือการ transform ประเทศใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ (1) การเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจฐานทรัพยากรไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมและองค์ความรู้ หรือการมุ่งสู่เศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (2) การเปลี่ยนผ่านจากสังคมที่มีเพียงบางกลุ่มที่เข้าถึงโอกาสไปสู่สังคมที่มีโอกาสสำหรับทุกคนและทุกพื้นที่ หรือการสร้างสังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค (3) การเปลี่ยนผ่านจากการผลิตและการบริโภคที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไปสู่วิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความปลอดภัยหรือการเสริมสร้างวิถีชีวิตที่ยั่งยืน และ (4) การเปลี่ยนผ่านจากกำลังคนทักษะต่ำและภาครัฐที่ล้าสมัย ไปสู่กำลังคนและภาครัฐที่มีสมรรถนะสูง
เลขาธิการฯ กล่าวด้วยว่า ภายหลังการระดมความเห็นในครั้งนี้ สศช. จะนำความคิดเห็นที่ได้มาประมวลและปรับปรุงกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
แล้วนำเสนอต่อสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หลังจากนั้น จะแต่งตั้งคณะกรรมการ
ยกร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 แต่ละด้าน เพื่อจัดทำร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ที่สอดคล้องกับกรอบที่จัดทำไว้ และจะมีการระดมความเห็นร่วมกับภาคีการพัฒนาต่อร่างแผนฯ ในช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องต้นปี 2565 ต่อไป
จากนั้น นายวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำเสนอ “ร่างกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13” ซึ่งกำหนดแนวทางและหมุดหมายการพัฒนาให้ตอบสนองกับบริบทการพัฒนาที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ 6 ถึงปีที่ 10 ของยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีประเด็นการพัฒนา ๔ ด้านดังกล่าว ซึ่งภายใต้องค์ประกอบในแต่ละด้าน จะมีการกำหนด "หมุดหมาย”
ที่เป็นการบ่งบอกถึงสิ่งที่ประเทศไทยปรารถนาจะ ‘เป็น’ มุ่งหวังจะ ‘มี’ หรือต้องการจะ ‘ขจัด’ ในช่วงระยะเวลา 5 ปีของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เพื่อให้การขับเคลื่อนเป้าหมายการ “พลิกโฉมประเทศไทย สู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน” ไปสู่การปฏิบัติ มีทิศทางที่ชัดเจนและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม จำนวน 13 หมุดหมาย คือ
(1) ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปมูลค่าสูง (2) ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่าและความยั่งยืน (3) ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน (4) ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง (5) ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและจุดยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค
(6) ไทยเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและบริการดิจิทัลของอาเซียน (7) มุ่งลดความเหลื่อมล้ำระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่และ SMEs (8) มุ่งลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ (9) มุ่งเพิ่มพลวัตการเลื่อนชั้นทางสังคมและลดความเหลื่อมล้ำเชิงรายได้และความมั่งคั่ง
(10) ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ (11) ไทยสามารถปรับตัวและ
ลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ (12) ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และ (13) ไทยมีภาครัฐที่มีสมรรถนะสูง
ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถแสดงความคิดเห็นต่อกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ของ สศช. ได้ทางเว็บไซต์ www.nesdc.go.th, Facebook สภาพัฒน์, Twitter สภาพัฒน์, Line สภาพัฒน์ Update, Email : [email protected] แบบสอบถามออนไลน์ และตู้ ปณ.49 ปทฝ.หลานหลวง กรุงเทพฯ 10102