'การทูตวัฒนธรรม’ บอกความเป็นไทยมุมใหม่
ผู้อำนวยการกองการทูตวัฒนธรรม กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ชวนคุยเรื่องการทูตที่จะบ่งบอกความเป็นไทยมุมใหม่ยุคโควิด-19 ที่ตอบโจทย์วัยรุ่นและคนรุ่นใหม่
การดำเนินนโยบายต่างประเทศจำเป็นต้องใช้ทุกเครื่องมือเพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ วัฒนธรรมก็สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมการดำเนินงานทางการทูตได้ เหมือนที่ครั้งหนึ่งมหาอำนาจเคยใช้การทูตปิงปอง การทูตแพนด้าจนเป็นที่เลื่องลือ ถึงยุคนี้มีการทูตหน้ากาก การทูตวัคซีน แล้วไทยจะใช้การทูตแบบไหนในยุคที่ต้องฟื้นตัวจากโควิด-19 ระบาด อรพินทร์ หาญชาญชัยกุล ผู้อำนวยการกองการทูตวัฒนธรรม กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับกรุงเทพธุรกิจ
ผอ.เจี๊ยบ เริ่มต้นด้วยการอธิบายว่า ทั้งการทูตปิงปอง การทูตแพนด้า การทูตวัฒนธรรมล้วนเป็นส่วนหนึ่งของซอฟท์เพาเวอร์ ที่ตามทฤษฎีของโจเซฟ ไนน์ หมายถึง อำนาจนุ่ม อำนาจละมุน เป็นความสามารถในการจูงใจหรือโน้มน้าวเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการมากกว่าการใช้การบีบบังคับ หรือการให้สิ่งตอบแทน ตรงข้ามกับฮาร์ดเพาเวอร์ที่ใช้กำลังทหาร ช่วงสงครามเย็นมีการใช้ซอฟท์เพาเวอร์กันมาก เช่น จีนใช้การทูตปิงปองในช่วงเปิดประเทศ ในยุโรปใช้การประกวดร้องเพลง “ยูโรวิชัน” หรือสถาบันสอนภาษา British Councill, เกอเธ่, อาลิยองซ์ ฟรองเซส์ พวกนี้ก็คือซอฟท์เพาเวอร์ใช้การเรียนภาษาเป็นตัวเชื่อมโยงกับคนที่ไปเรียน การให้ทุนการศึกษาก็เป็นซอฟท์เพาเวอร์อย่างหนึ่ง เป็นการฝังเมล็ดพันธุ์ให้เขาชอบประเทศเรา
ตามทฤษฎีของโจเซฟ ไนน์ ที่มาของซอฟท์เพาเวอร์ ได้แก่ 1. นโยบายต่างประเทศ 2. ค่านิยมทางการเมือง 3. วัฒนธรรม จึงเกิดคำว่า “การทูตวัฒนธรรม” แต่การทูตวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้วนับศตวรรษ นักสำรวจ นักเดินทาง พ่อค้า ครูและศิลปินต่างเป็นตัวอย่างของ “ทูตที่ไม่เป็นทางการ” หรือ “ทูตทางวัฒนธรรม”
เมื่อถามถึงการทูตวัฒนธรรมของไทยที่ได้รับการยอมรับจากตะวันตก ผอ.เจี๊ยบ ตอบอย่างไม่ลังเล “อาหารไทย” นอกจากนี้แต่ละปีกระทรวงการต่างประเทศบูรณาการกับกระทรวงวัฒนธรรมจัดงานในธีมต่างๆ เช่น ธีมผ้าไทย นำผ้าจัดแสดงที่ตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น การนำศิลปวัฒนธรรมของไทย เช่น โขนไปแสดงในสถานที่สำคัญ เช่น รอยัลอัลเบิร์ตฮอลล์ในกรุงลอนดอน และโอเปราเฮาส์ของซิดนีย์
กรุงเทพธุรกิจตั้งข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ วัฒนธรรมในการนำเสนอของภาครัฐไทย มักออกมาในรูปของผ้าไทย รำไทย แต่ตอนนี้ คนรุ่นใหม่อยากได้อะไรที่ฉีกออกไปจากเดิม ผอ.กองการทูตวัฒนธรรมอธิบายว่า เรื่องนี้แล้วแต่สถานการณ์ กระทรวงต่างประเทศไม่ได้ทำแค่ผ้าไทย
“เราทำหลายอย่างมาก กีฬาเราก็ทำ เช่น มวยไทย ซึ่งรัฐบาลประสงค์จะผลักดันให้มวยไทยได้รับการบรรจุในโอลิมปิก" รองนายกรัฐมนตรีดอน ปรมัตถ์วินัย ก็ให้ความสำคัญในเรื่องกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมวยไทยและตะกร้อ โดยประสงค์จะให้เผยแพร่ในต่างประเทศ ด้วยเห็นว่า กีฬาทั้งสองประเภทนี้เป็นเอกลักษณ์ของไทย อีกทั้งยังเสริมสร้างให้ผู้ฝึกมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ซึ่งถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศด้วยอีกทางหนึ่ง กระทรวงฯ จึงมีแผนที่จะนำตระกร้อไปเผยแพร่ในต่างประเทศควบคู่กับมวยไทย
ในส่วนของอุตสาหกรรมบันเทิง กระทรวงฯ จัดงานเทศกาลภาพยนตร์ไทยในประเทศต่างๆ โดยเน้นในอาเซียน ซึ่งนอกจากจะนำเสนอภาพยนตร์แล้ว ยังจัดงานลักษณะแฟนมีต เช่นที่เวียดนาม เกิดปรากฏการณ์ห้างแตกมาแล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้วแต่กลุ่มเป้าหมายว่า จะชอบภาพยนตร์แนวไหน สมัยที่เธอประจำการอยู่ที่เบอร์ลิน ฝ่ายเยอรมนีจัดเทศกาลหนังของคุณเจ้ย อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล โดยจัดฉายมาราธอน
"คนดูเยอะมาก งานแบบนี้ก็แล้วแต่กลุ่มเป้าหมาย” ผอ.เจี๊ยบย้ำพร้อมเล่าต่อว่า ช่วงที่เกิดโควิด ไปต่างประเทศไม่ได้ เธอก็เลยมาคิดว่า จะทำอย่างไรกับโครงการของกองการทูตวัฒนธรรม ต้องหันมามองงานตนเองใหม่ เกิดทริปนำสื่อมวลชนไปทัศนศึกษาที่ลพบุรี อยุธยา
“สถานทูตเองก็ตกที่นั่งลำบาก จัดงานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยวไม่ได้ อย่างเทศกาลไทยที่กรุงโตเกียวมีคนมาร่วมเป็นแสนๆ คน เมื่อกรุงโตเกียวประกาศภาวะฉุกเฉินด้วยสถานการณ์โควิด การจัดงานใหญ่ที่มีคนมารวมกันจำนวนมากจึงเป็นไปไม่ได้เลย”
ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ กระทรวงต่างประเทศจึงต้องคิดใหม่เรื่องการจัดเทศกาลไทย เช่น สถานทูตบางแห่งจัดสอนทำอาหารออนไลน์ ส่งส่วนผสมไปให้ผู้สมัครถึงบ้านแล้วก็นัดวันเวลาสอนทำผัดไทยผ่านทางออนไลน์ เสร็จแล้วทุกคนก็จะมีผัดไทยฝีมือตัวเอง
“แต่จะให้สอนทำผัดไทยเหมือนกันทั้งโลกก็ไม่ไหว (สถานทูต) โตเกียวตั้งข้อสังเกตว่า ซีรีส์ไทยกำลังดังมากที่ญี่ปุ่น จึงกลายเป็นโครงการ Thai Drama Festival 2021 ในรูปแบบการจัดกิจกรรมระหว่างนักแสดงจากประเทศไทยกับแฟนคลับที่ญี่ปุ่น เพื่อโปรโมทละครไทยในญี่ปุ่นซึ่งกำลังโด่งดังมาก ตีเหล็กต้องตีตอนร้อน ถ้าไม่ทำตอนนี้แล้วจะทำตอนไหน” ผอ.เจี๊ยบตั้งคำถามพร้อมเล่าถึงงาน Thai Drama Festival 2021 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-4 เม.ย. ถือเป็นงานด้านการทูตวัฒนธรรมที่ตอบโจทย์วัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ ทั้งยังมีภาคที่เป็นงานเสวนาวิชาการด้วย โดยตัวเธอเอง ตัวแทนจากช่อง 3 และตัวแทนจากทีวีอาซาฮีที่ซื้อละครไทยไปฉายจะร่วมเวทีเสวนา
ผอ.เจี๊ยบยกตัวอย่างเกาหลีใต้ที่ส่งออกวัฒนธรรมผ่านซีรีส์มาเป็น 20 ปี มาประสบความสำเร็จเมื่อ Parasite ได้รับรางวัลออสการ์ “ซอฟท์เพาเวอร์เป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องและต้องใช้เวลานานมาก” ซึ่งคำถามที่ตามมาคือ หลังโควิดใครๆ ก็อยากได้เงินกันทั้งนั้น แล้วการทูตวัฒนธรรมจะทำเงินเข้าประเทศได้มากน้อยแค่ไหน
“จริงๆ แล้วการทูตวัฒนธรรมนี่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงแค่การจัดงานครั้งเดียว แล้วนับตังค์ ต้องทำอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จึงจะสำเร็จ แต่หากสำเร็จแล้ว จะต่อยอดทางเศรษฐกิจอื่นๆ ได้เช่นกัน เช่น ภาพยนตร์ “อ้ายคนหล่อลวง” ที่ไปฉายในประเทศเพื่อนบ้าน ทำรายได้มากมาย เราหวังว่า จะมีการต่อยอดทางเศรษฐกิจอื่นๆ ด้วย เช่น หวังว่า เขาจะรู้จักไทยมากขึ้น ชอบเรามากขึ้นและอยากมาบ้านเรามากขึ้น
เอาง่ายๆ เรารู้จักเกาะเซจูของเกาหลีใต้จากอะไร จากซีรีส์ ตอนประจำการอยู่ฟิลิปปินส์ปี 2000 ได้ดูซีรีส์จากอารีรังทีวี เห็นตัวละครใช้มือถือซัมซุง ขับรถยนต์ฮุนได รู้จักต๊อกบกกีจากซีรีส์ เรารู้ว่าคนเกาหลีชอบกินไก่ทอดกับเบียร์จากซีรีส์ มันไม่ได้เกิดจากซีรีส์เรื่องเดียว แต่เกิดซ้ำๆ ๆ ๆ จนเราซึมซับวิถีชีวิตของคนเกาหลี นี่คือซอฟท์เพาเวอร์”
ส่วนคำว่า “วัฒนธรรม” ผอ.เจี๊ยบกล่าวว่า ถ้าเราไม่จำกัดความคิดของเราให้แคบตามจารีตว่าวัฒนธรรมคืออะไร แต่ตีความในความหมายที่กว้าง ตามที่อาจารย์ธงทอง (จันทรางศุ) เคยพูดในงานเสวนาของกระทรวงต่างประเทศว่า ถ้าวัฒนธรรมหมายถึงวิถีชีวิต จะเป็นอะไรที่เราเล่นได้เยอะมาก
“แต่ส่วนตัวมองว่าไม่ว่าเราจะทำคอนเทนท์แบบไหนก็ตามจะวัฒนธรรมเชิงอนุรักษ์ หรือวัฒนธรรมคือวิถีชีวิต ถ้าเสนอได้อย่างแนบเนียน คนดูไม่รู้สึกว่า ถูกยัดเยียด เชื่อว่าทำได้หมด” นี่คือคำตอบจาก ผอ.กองการทูตวัฒนธรรม กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ