คนโสดเฮ ! สธ. จัด 'โสดมิตติ้ง' เครือข่ายคนโสดคุณภาพ
สธ. จัดกิจกรรม ‘โสดมีตติ้ง - For baby’ จับฉลากเลือกคนโสดให้มีโอกาสพบปะ พูดคุย สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน พร้อมสร้างการมีคู่ที่มีคุณภาพ และส่งเสริมทุกการเกิดในประเทศไทยให้มีคุณภาพเช่นเดียวกัน
วันนี้ (31 มีนาคม 2564) ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานจับรางวัลผู้โชคดีจากกิจกรรม “โสดมีตติ้ง” และ “For baby” ณ โรงแรมชาเทรียม ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร ว่า ผลการศึกษาจากโครงการเจริญพันธุ์และสุขภาวะ พบว่า คนไทยต้องการมีคู่รักหรือคู่สมรส ร้อยละ 63.3 แต่ในความเป็นจริงคนไทยมีคู่เพียงร้อยละ 53.9 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากยังไม่เจอคนที่ใช่
กิจกรรม “โสดมีตติ้ง” จึงเกิดขึ้นจากความเข้าใจวิถีชีวิตของคนโสดที่เปลี่ยนแปลงไป โดยสร้างโอกาสให้คนโสดได้เรียนรู้พัฒนาศักยภาพตนเอง ได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ที่ต่างสถานที่ทำงาน ต่างอาชีพ ต่างที่มา เพื่อเรียนรู้ และพัฒนาสัมพันธภาพ เป็นเครือข่ายคนโสดที่มีคุณภาพ ส่วนจะมีคู่รักเกิดขึ้นหรือไม่นั้น ขอให้เป็นเรื่องของพรมลิขิตและ การตัดสินใจของหนุ่มสาวในอนาคต
สำหรับกิจกรรม “For baby” เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้คู่รักเห็นความสำคัญกับการตรวจสุขภาพก่อนมีบุตร โดยส่งเสริมให้คู่รักที่วางแผนมีบุตร ตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรองโรคทางพันธุกรรม และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และสำหรับคู่รักที่มีบุตรยาก กระทรวงสาธารณสุขกำลังผลักดันให้เกิดสิทธิประโยชน์ ในการรักษาภาวะมีบุตรยาก ซึ่งในกิจกรรมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสถานพยาบาลที่ให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์กว่า 20 แห่งทั่วประเทศ มีแพคเกจตรวจสุขภาพก่อนมีบุตร และตรวจคัดกรองภาวะมีบุตรยากฟรี รวมกว่า 226 รางวัล และแพคเกจราคาพิเศษอีกว่า 1,000 รางวัล
ทั้งนี้ การส่งเสริมให้การเกิดทุกรายมีคุณภาพ เป็นสิ่งจำเป็นเพราะแนวโน้มการเกิดลดต่ำลงเรื่อย ๆ โดยในปี 2563 จำนวนการเกิดของเด็กไทยลดต่ำกว่าหกแสนคนเป็นครั้งแรก จากนโยบายประชากรเรื่องการคุมกำเนิดที่ดำเนินการต่อเนื่องหลายปี การเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้หญิงมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรม ทำให้คนนิยมอยู่เป็นโสดมากขึ้น
"ความต้องการมีบุตรน้อยลงหรือไม่ต้องการมีบุตร จากความกังวล เรื่องคนช่วยเลี้ยงดูบุตร ความมั่นคงในหน้าที่การงาน กำลังคนที่ลดต่ำลง และคุณภาพของคนที่ส่งผลต่อการ สร้างผลผลิตและการพัฒนาประเทศในอนาคต ดังนั้น การเพิ่มจำนวนการเกิดที่มีคุณภาพจึงสำคัญอย่างยิ่ง” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า แม้ว่าประเทศไทยจะทำได้ดีในเรื่องของการลดอัตราการตายของทารกแรกเกิด แต่ในเรื่องคุณภาพนั้นยังไม่ดีเท่าที่ควร ข้อมูลการการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยล่าสุด พบทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ 2,500 กรัม ร้อยละ 9.5 การกินนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน มีเพียงร้อยละ 14.0 และ ข้อมูลของกรมอนามัยยังพบว่า มีพัฒนาการล่าช้า ปัญหาผอม เตี้ย และอ้วนจากภาวะโภชนาการและการขาดการออกกำลังกาย
แต่สิ่งที่น่าห่วงคือเมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตเข้าสู่วัยแรงงานก็ย่อมมีจำนวนน้อยลง และเป็นแรงงานที่ไม่มีคุณภาพ ที่สำคัญยังต้องแบกรับดูแลผู้สูงอายุจำนวนมาก และต้องดูแลเด็กรุ่นใหม่อีก เรียกได้ว่าปริมาณและคุณภาพไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ ก็จะยิ่งกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ ดังนั้น นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 - 2569) ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ
จึงตั้งเป้าให้มีอัตราเจริญพันธุ์รวมต้องไม่ต่ำกว่า 1.6 มีการวางแผนการตั้งครรภ์ ลดอัตราการตายมารดาและทารกแรกเกิด เด็กอายุ 0-5 ปี มีพัฒนาการสมวัยสูงดีสมส่วน เป็นต้น โดยมาตรการสำคัญคือพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่ระยะก่อนสมรส ก่อนมีบุตร ตั้งครรภ์ คลอด และหลังคลอด เพื่อให้ทุกการเกิดในประเทศไทย มีคุณภาพ