คมนาคมผุดเส้นทางเชื่อมด่วนจตุโชติ
คมนาคมเข็นโครงข่ายทางพิเศษ หนุนสร้างทางเชื่อมด่วนช่วงจตุโชติ - ถนนวงแหวนรอบ 3 จี้ กทพ.ศึกษาความเหมาะสม ชง ครม.เห็นชอบเปิดประมูล พ.ย.นี้ ขณะที่เส้นทางหลักด่วนฉลองรัช - นครนายก – สระบุรี ตั้งเป้าลงทุน 8 หมื่นล้าน ตอกเสาเข็มภายในปี 2566
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือเรื่องบูรณาการความเชื่อมโยงโครงการเชื่อมระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-MAP) และโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ช่วงจตุโชติ-ถนนวงแหวนรอบ 3 โดยระบุว่า ที่ประชุมได้ติดตามและเร่งรัดโครงการโครงข่ายทางถนนของกรมทางหลวง (ทล.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) รวมไปถึงโครงการแลนด์บริดจ์
“โครงการที่ต้องบูรณาการร่วมกันอย่างโครงการทางพิเศษ สายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ตอนนี้จะต้องพิจารณาในระยะที่ 1 ให้สอดรับกับโครงการถนนวงแหวนรอบที่ 3 ฝั่งตะวันออกที่เชื่อมต่อกัน คาดว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องการเชื่อมต่อทุกโครงการจากแต่ละหน่วยงาน และกลับมาประชุมอีกครั้งในช่วงปลาย เม.ย.นี้”
รายงานข่าวจาก กทพ. เผยว่า โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี แบ่งการดำเนินการออกเป็น 4 ระยะ โดยระยะที่ 1 ช่วงจตุโชติ-ถนนวงแหวนรอบ 3 (กับจุดเชื่อมต่อทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง) ระยะทาง 20.40 กิโลเมตร (กม.) ขณะนี้ กทพ. อยู่ระหว่างบูรณาการแนวทางการออกแบบเป็นลักษณะทางแยกต่างระดับร่วมกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายวงแหวนรอบนอกรอบที่ 3 (M91) ของ ทล. เพื่อลดผลกระทบของประชาชนจากการเวนคืนพื้นที่ และลดความสับสน ในการเดินทางของผู้ใช้ทาง
ทั้งนี้ ได้กำหนดเป้าหมายและแผนเร่งรัดดำเนินงาน โดยให้ดำเนินการทบทวนการศึกษาความเหมาะสม คาดว่าจะแล้วเสร็จใน เม.ย. 2564 จากนั้นจะนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. ในช่วง เม.ย.-พ.ค. 2564 ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป ซึ่งหากกรณี ครม.มีมติอนุมัติโครงการประมาณ ก.ย. 2564 อาจเริ่มขั้นตอนประกวดราคาได้ในช่วง พ.ย.-ธ.ค. 2564
สำหรับโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี (ช่วงจตุโชติ-ถนนวงแหวนรอบ 3) ส่วนที่ 1 มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางหลวงหมายเลข 305 (ถนนรังสิต-นครนายก) จากนั้นแนววิ่งมา ทางทิศใต้ ผ่านพื้นที่ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี และตัดทางหลวงหมายเลข 3312 (ถนนลำลูกกา) แล้วมุ่งหน้าลงไปทางทิศใต้ข้ามคลองหกวาสายล่าง เข้าสู่เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร ตัดถนนมิตรไมตรี ข้ามคลองแสนแสบ เข้าสู่เขตพื้นที่แขวงโคกแฝด และสิ้นสุดโครงการ
ในส่วนของโครงข่ายทางพิเศษฉลองรัช - นครนายก - สระบุรี ถือเป็นโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงไปยังจังหวัดนครนายกและจังหวัดสระบุรี เป็นทางเลือกในการเดินทางที่สะดวกรวดเร็วและเป็นการเพิ่มโครงข่ายถนนเพื่อแบ่งเบาปริมาณจราจรบนถนนปัจจุบัน อีกทั้งช่วยในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนครนายก และจังหวัดสระบุรี ระยะทาง 104.7 กม. เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร (ทิศทางละ 3 ช่องจราจร) ใช้งบประมาณลงทุน 80,594 ล้านบาท แยกเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 7,395 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 73,198 ล้านบาท ซึ่งตามแผน กทพ.คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2566 และแล้วเสร็จและเปิดใช้บริการในปี 2569