ประกันเที่ยวสงกรานต์ ‘เพิ่มโควิด’ เบี้ยหลักสิบ คุ้มหลักแสน
ในช่วงวันเทศกาลสงกรานต์ 13-15 เม.ย.ของทุกปีควรจะเป็นเทศกาลที่มีความสุขเทศกาลหนึ่งถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุถึงขั้นเสียชีวิตเกิดขึ้น และเหตุผลสำคัญที่ทำให้วันสงกรานต์มีความเศร้าโศก กลายเป็น 7 วันอันตราย เพราะ “ขับรถเร็ว” “เมาแล้วขับ” ซึ่งภาครัฐรณรงค์ลดอุบัติเหตุ และอีกหนึ่งวิธีช่วยกระจายความเสี่ยงได้ ด้วยประกันระยะสั้น
อีกทั้งเป็นการต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ในปี 2564 ต่อเนื่องจากเทศกาลเปิดศักราชใหม่ “แบบยุคนิวนอร์มอล” ซึ่งประเทศไทยกำลังเริ่มกระจายการฉีดวัคซีนโควิด-19 แต่หลายคนยังกลัวแพ้และไม่กล้าฉีด ขณะเดียวก็ยังต้องควบคุมการแพร่ระบาดการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งการมีประกันช่วยเพิ่มความอุ่นใจได้เช่นกัน
ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ร่วมกับผู้ประกอบการภาคธุรกิจประกันภัย ทั้งประกันวินาศภัยและประกันชีวิตทั้งสิ้น27แห่ง ได้เปิดตัว ประกันภัย “สงกรานต์อุ่นใจ นิวนอร์มอล ซุปเปอร์พลัส” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีราคาถูก มาพัฒนาต่อยอดและเพิ่มความคุ้มครองโควิด-19 แบบ “เจอ-จ่าย-จบ” เพื่อขยายฐานการประกันภัยให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้น ในราคาผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงได้ และผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถซื้อเพื่อมอบความคุ้มครองให้กับพนักงานลูกจ้างของตน รวมทั้งลูกค้าผู้มีอุปการคุณได้เช่นกัน
สำหรับไฮไลท์สำคัญปีนี้จัดเต็ม เพิ่มเติมความคุ้มครองค่าใช้จ่ายจัดงานศพ กรณีการเสียชีวิต และเข้ารับรักษาตัวผู้ป่วยใน จากการฉีดฉีดวัคซีนโควิด-19 ภายหลังเริ่มต้นความคุ้มครองตามกรมธรรม์เท่านั้น วงเงิน 5,000 บาท และ วงเงิน300บาทต่อวัน และคุ้มครองโรคติดเชื้อโควิด-19 วงเงิน 3,000บาท ขณะที่คงเบี้ยประกันไว้เท่าเดิม จ่ายเพียง10บาท ยังคงคอนเซ็นเป็นกรมธรรม์ที่มีเบี้ยประกันถูกสุดในโลก
ทางด้านบริษัทประกันที่ร่วมให้ความคุ้มครอง มี 11 บริษัทประกันวินาศภัย ได้แก่ บมจ. กรุงเทพประกันภัย
,บมจ. กรุงไทยพานิชประกันภัย, บมจ. เจพี ประกันภัย , บมจ. ทิพยประกันภัย, บมจ. ไทยศรีประกันภัย
,บมจ. นวกิจประกันภัย,บมจ. ประกันภัยไทยวิวัฒน์
,บมจ. วิริยะประกันภัย, บมจ. เอเชียประกันภัย 1950
,บมจ. เอฟดับบลิวดี ประกันภัย, บมจ. แอลเอ็มจีประกันภัย
และอีก6 บริษัทประกันชีวิต ได้แก่ บมจ. กรุงเทพประกันชีวิต, บมจ. ไทยสมุทรประกันชีวิต , บมจ. เมืองไทยประกันชีวิต, บมจ. อาคเนย์ประกันชีวิต, บมจ. พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) , บมจ. เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต
นอกจากนี้ ยังมีอีก19หน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ธนาคารออมสิน, Black Canyon, คาเฟ่ อเมซอน, ปั้มน้ำมันบางจาก,ปั้มน้ำมันพีที, เคาน์เตอร์ เซอร์วิส, AIS,Shopee, แรบบิท อินชัวรันส์ โบรคเกอร์, หยั่น หว่อ หยุ่น, ไทยพาณิชย์ โพรเทค, ฐิติกร สำนักงานใหญ่จักรยานยนต์, ทีคิวเอ็ม อินชัวรันส์ โบรคเกอร์, ศรีกรุงโบรคเกอร์, เอ เอ็น ชี โบรกเกอร์เรจ,เทสโก้ เจเนอรัล อินชัวรันส์ โบรคเกอร์, แอดวานซ์ ดิจิทัล ดิสทริบิวชั่น,พีเคอาร์ โบรกเกอร์
,The 1 Central Limited (ห้างสรพสินค้าเซ็นทรัล)
รายงานข่าวจาก คปภ. กล่าวว่า สำหรับ ประกันภัยช่วงเทศกาล (ปีใหม่และสงกรานต์) แบบไมโครอินชัวรันส์ คปภ. เริ่มตั้งแต่ปี 2561 มีผู้ทำประกันภัยถึง 2 ล้านกรมธรรม์ และในปี 2562 อยู่ที่ 1.3 ล้านกรมธรรม์ แม้จำนวนผู้ทำประกันภัยในโครงการนี้จะลดลง แต่ในตลาดประกันภัยภาพรวมเพิ่มขึ้น เนื่องจากในปีนี้นั้น บริษัทประกันหันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันในลักษณะที่คล้ายกันออกมาขายในตลาดถือว่า ตอบวัตถุประสงค์ของคปภ. ที่ต้องการเป็นโมเดลต้นแบบให้บริษัทประกันนำไปต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกัน ทำให้ “คนมีรายได้น้อย” สามารถมีเครื่องมือบริหารความเสี่ยง และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ถือว่าประสบความสำเร็จ
ขณะที่ในปี 2563 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด -19 และมาตรการล็อกดาวน์ จึงหยุดโครงการนี้ไป และปีนี้ คปภ. กลับมาเดินหน้าเชิงรุกต่อคาดหวังว่า ด้วยการขยายความร่วมมือกับบริษัทประกันและช่องทางจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นกว่าทุกปีแล้ว จะทำให้มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น สะท้อนจากต้นปี 2564 มานี้ มียอดผู้ทำประกันภัยแล้ว 600,000 กรมธรรม์ มาจากในโครงการฯ (ช่วงเทศกาลปีใหม่) จำนวน 300,000 กรมธรรม์ และฝั่งบริษัทประกันที่พัฒนากรมธรรม์ออกมาคล้ายกันอีก 300,000 กรมธรรม์