เปิดศึกพรรคร่วม 'แก้ ม.272' คว่ำอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ
เมื่อข้อตกลงที่เคยจับมือไว้กับ "พลังประชารัฐ" บนเงื่อนไขการร่วมรัฐบาลของประชาธิปัตย์ กำลังท้าทายจุดยืนพรรคการเมืองอายุ 75 ปี
ถึงแม้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พ.ศ. … จะมีอันเป็นไปจากการโหวตวาระ 3 ไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา เมื่อ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา แต่กลับไม่ทำให้ความเคลื่อนไหวของพรรคร่วมรัฐบาลต้องหยุดลง
เมื่อท่าทีประชาธิปัตย์ออกมาประกาศเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญในรูปแบบ "รายมาตรา" ต่อไป จากนั้นเพียงไม่นาน "ชินวรณ์ บุญยเกียรติ" ส.ส.นครศรีธรรมราช ในฐานะประธานวิปพรรค ได้ร่วมหารือกับ "ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา" เพื่อเดินหน้าผนึกเสียงเตรียมยื่นญัตติ "แก้ไขรายมาตรา”
เป็นสัญญาณการเดินหน้าจาก 3 พรรคร่วม เพื่อเปลี่ยนเส้นทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ผลหารือ 3 พรรคร่วมรัฐบาล เตรียมเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขรายมาตรา โดยแยกเป็น 6 ฉบับ ประกอบด้วย
ฉบับที่ 1 มาตรา 256 ให้แก้ไขจาก”ยากให้ง่ายขึ้น”โดยใช้เสียง 3 ใน 5
ฉบับที่ 2 มาตรา 272 ส.ว.ไม่สิทธิ์โหวตนายกรัฐมนตรี
ฉบับที่ 3 หมวดสิทธิเสรีภาพและสิทธิชุมชน
ฉบับที่ 4 หมวดการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและธรรมาภิบาล
ฉบับที่ 5 การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ฉบับที่ 6 ระบบการเลือกตั้งเป็นบัตร 2 ใบ
สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราทั้ง 6 ฉบับ ที่ประชุมพรรคร่วมครั้งนี้ได้มอบหมายให้ประชาธิปัตย์ยกร่างและนำกลับมาหารืออีกครั้งในสัปดาห์หน้า ก่อนยื่นต่อประธานรัฐสภาในสมัยประชุมสมัยวิสามัญ ตั้งแต่วันพุธที่ 7 เม.ย.เป็นต้นไป เพื่อก้าวไปยังบันไดขั้นแรกสะเดาะกุญแจแก้รัฐธรรมนูญในมาตรา 256
ประเด็นขณะนี้จึงอยู่ที่ท่าที “พลังประชารัฐ” ในฐานะพรรคที่กุมเสียงสูงสุดในรัฐบาล จะจริงใจต่อญัตติแก้รัฐธรรมรอบใหม่แค่ไหนโดยเฉพาะประชาธิปัตย์ หนึ่งในองคาพยพสำคัญที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้
เมื่อเงื่อนไขตามนโยบายเร่งด่วนที่ "ประยุทธ์" เคยประกาศไว้เมื่อวันที่ 25-26 ก.ค.2562 ข้อ 12 ระบุไว้ว่า "การสนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความเห็นของประชาชน และการดำเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ" เป็นสิ่งที่ "ประชาธิปัตย์" กำลังเตือนความจำไปถึง “พลังประชารัฐ”
จึงเป็นที่มาของท่าที "พลังประชารัฐ" ตีกรรเชียงหนีแรงกดดันของพรรคร่วม และพยายามแก้สถานการณ์ โดยเตรียมเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราเช่นกัน ใน 5 ประเด็น 13 มาตรา ทว่าเนื้อหาของ พลังประชารัฐกลับไม่มีประเด็น “อำนาจ ส.ว.” ที่ต้องการให้ยกเลิก ส.ว.สรรหา และตัดอำนาจการโหวตเลือกนายกฯ ในมาตรา 272
ประเด็นนี้เป็นเส้นขนานที่ยัง "สวนทาง" กับ "จุดยืน" ประชาธิปัตย์ เพราะหากไล่เรียงร่างแก้ไขรัฐธรรมรายมาตราจากฝ่ายกฎหมายประชาธิปัตย์ ที่มี "ถวิล ไพรสณฑ์" เป็นประธานคณะทำงาน พบว่าประเด็นแก้ไข "มาตรา 272" ว่าด้วยการตัดอำนาจวุฒิสภาในการโหวตเลือกนายกฯ ประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญ ไม่น้อยกว่าการยกร่างในมาตราอื่น
"จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายของพรรค เร่งยกร่างแก้ไขรายมาตรา เน้นไปที่มาตรา 256 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมาตรา 272 การตัดอำนาจวุฒิสภาในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้ขณะนี้ประชาธิปัตย์กำลังเร่ง "ปรับร่าง" แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราให้สอดคล้องกับแนวทาง "ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา"
ล่าสุด "จุรินทร์" ถึงกับเคยเอ่ยปากว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ ถ้าไม่สนับสนุนให้เดินหน้าอย่างจริงจังตามนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา ก็อาจถูกนำมาใช้เป็นเงื่อนไขในการก่อเหตุทางการเมืองได้
ทั้งนี้ หากตรวจสอบไปยัง "ร่าง" ที่ทีมกฎหมายประชาธิปัตย์ ได้เสนอแก้รัฐธรรมนูญ 5 ญัตติ พบว่ามีตั้งแต่มาตรา 256 กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ ให้ปรับเสียงเห็นชอบในวาระ 1 และวาระ 3 โดยใช้เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา และตัดการกำหนดเสียง ส.ว.เห็นชอบด้วย 1 ใน 3 ออกไป
มาตรา 85 และมาตรา 91 การลงคะแนนเสียงประชาชน หรือระบบเลือกตั้งให้กลับไปใช้ “บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ” รวมถึง “สูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ” ซึ่งเป็นอีก 1 ร่างที่ฝ่ายกฎหมายประชาธิปัตย์เตรียมไว้
มาตรา 76 การปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาธิปัตย์เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ละเลยเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นมากพอสมควรจึงแยกญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอีกฉบับ เน้นเรื่องการกระจายอำนาจในท้องถิ่น
มาตรา 236 และมาตรา 237 แก้ไขเพิ่มเติมมาตราเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุล อาทิ การถ่วงดุลในองค์กรอิสระ ในกระบวนการดำเนินคดีไปถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ซึ่งกฎหมายปัจจุบันให้อำนาจประธานรัฐสภาเป็นผู้วินิจฉัยก่อนว่าเห็นควรจะส่งหรือไม่ แต่หากในอนาคตมีพรรคการเมืองใดที่มีสมาชิกเป็นประธานรัฐสภา อาจมีการต่อรองทางการเมืองเรื่องของการพิจารณาดำเนินคดีได้หรือไม่
ที่สำคัญในร่างญัตติแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 272 ว่าด้วยอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ ประชาธิปัตย์จะแยกอีกหนึ่งญัตติเช่นกัน
หากยังจำกันได้ ประเด็นมาตรา 272 เคยมีท่าที 12 พรรคการเมืองยื่นญัตติร่างแก้ไขมาตรานี้ โดยมี 16 ส.ส.ประชาธิปัตย์ลงชื่อสนับสนุน แต่สุดท้ายมีอย่างน้อย 5 ส.ส.ต้องถอนชื่อ จนทำให้ญัตติ "ปิดสวิตช์ ส.ว." ขณะนั้นต้องตกไป ภายหลังมีแรงกดดันจากแกนนำพรรค เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบความเป็นเอกภาพของรัฐบาล
แต่การกลับมาปัดฝุ่น "ปิดสวิตช์ ส.ว." กำลังเป็นเกมในสภารอบใหม่ระหว่าง "พรรคร่วม" ด้วยกัน เมื่ออีกด้านหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่ม ส.ว.สรรหา หรืออำนาจการเลือกนายกฯ เป็นกระดูกสันหลังของรัฐบาล "ประยุทธ์" ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่พาให้ "พลังประชารัฐ" เติบโตทางการเมืองอย่างรวดเร็วถึงทุกวันนี้
สุดท้ายต้องวัดกันที่กำลังภายใน "พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์" ว่าพรรคใดจะเปิดประตูแก้ไขรัฐธรรมนูญ "รายมาตรา" ได้กว้างกว่ากัน เมื่อการเสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐต้องใช้เสียง 1 ใน 5 ของสมาชิกที่มีอยู่ทั้งหมด หรืออย่างน้อย 98 คน
เมื่อข้อตกลงที่เคยจับมือไว้กับ "พลังประชารัฐ" บนเงื่อนไขการร่วมรัฐบาลของประชาธิปัตย์ กำลังท้าทายจุดยืนพรรคการเมืองอายุ 75 ปี จะทำตามนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นรูปธรรมตามที่ประกาศไว้แค่ไหน.