ไฟเขียวกรอบแผนพัฒนาชาติ ฉบับที่ 13 มุ่งพลิกโฉมประเทศไทย
ครม. ไฟเขียวกรอบแผนพัฒนาชาติ ฉบับที่ 13 มุ่งพลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่าสังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน กำหนด 13 หมุดหมายสร้างการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เศรษฐกิจ - สังคมประเทศ
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ครอบคลุมปี 2566-70 ล่าสุดสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อยู่ระหว่างจัดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วนในช่วงเดือนมี.ค. – พ.ค.64 ผ่าน 3 ช่องทางหลัก คือการประชุมระดมความเห็นระดับกลุ่มจังหวัดทั้ง 18 กลุ่มจังหวัดการประชุมระดมความเห็นกลุ่มเฉพาะ และการระดมความเห็นผ่านสื่อออนไลน์และสื่อสาธารณะ โดยเมื่อผ่านการระดมความคิดเห็นแล้วจะยกร่างแผนพัฒนาฯ เสนอครม.เห็นชอบและรายงานรัฐสภาต่อไป
สำหรับร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ถือเป็นแผนสำคัญของการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทย ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยตามแผนฉบับนี้ กำหนดเรื่องหลัก คือ มุ่งพลิกโฉมประเทศไทยให้เท่าทันและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งสร้างความสมดุลในการกระจายผลประโยชน์จากการพัฒนาแก่ทุกภาคส่วนเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นธรรม เสริมสร้างคุณภาพชีวิต และรักษาความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไทยไปสู่ประเทศที่มีเศรษฐกิจสร้างคุณค่า และสังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืนภายใต้องค์ประกอบที่ต้องดำเนินการ 4 ด้าน เศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค และวิถีชีวิตที่ยั่งยืน
ขณะเดียวกันปัจจัยสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศ สศช.กำหนดเอาไว้ 13 เรื่องที่ประเทศไทยให้ความสำคัญในช่วงระยะเวลา 5 ปี คือ ประเทศไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง,ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่าและความยั่งยืน,ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน,ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง,ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและจุดยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค,ไทยเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและบริการดิจิทัลของอาเซียน
รวมทั้งประเทศไทยต้องมีผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)ที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้,ไทยมีพื้นที่และเมืองหลักของภูมิภาคที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจ ทันสมัย และน่าอยู่,ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลงและคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม,ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ,ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ,ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และไทยมีภาครัฐที่มีสมรรถนะสูง