ก.แรงงาน เร่ง 'จ้างงานผู้สูงอายุ'เพิ่มทักษะการประกอบอาชีพ
"กระทรวงแรงงาน" เผยขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล สนับสนุนภาคเอกชน "จ้างงานผู้สูงอายุ" จัดหางานให้ผู้สูงอายุตามความเหมาะสม พัฒนาทักษะฝีมือเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ
เนื่องในวันที่ 13 เมษายนของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing society) โดยเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด เนื่องจากปัจจุบันนี้มีจำนวน "ผู้สูงอายุ" ทั้งสิ้นประมาณ 12 กว่าล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุที่ทำงานประมาณ 4.7 กว่าล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 36.91
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ"กระทรวงแรงงาน"ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิต "ผู้สูงอายุ"
- "ก.แรงงาน หนุนเอกชน "จ้างงานผู้สูงอายุ"
เนื่องจาก "ผู้สูงอายุ" เป็นส่วนหนึ่งของ"กลุ่มเปราะบาง" โดยการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย โดยปรับปรุงระบบ"บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ"และ"เบี้ยยังชีพ"ของประชาชน อาทิ "ผู้สูงอายุ"และคนพิการที่มีรายได้น้อย ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า "กระทรวงแรงงาน" ได้มีนโยบายที่สำคัญในการสนับสนุนส่งเสริมแรงงาน"ผู้สูงอายุ" ให้มีงานทำการเตรียมรองรับการเข้าสู่สังคม "ผู้สูงอายุ" ได้แก่ ด้านการพัฒนา "ทักษะฝีมือ"เพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ จำนวน 8,200 กว่าคน มีการขับเคลื่อนผ่านโครงการที่สำคัญ เช่น การฝึกทักษะอาชีพต่างๆ ทั้งรูปแบบการฝึกปกติและฝึกผ่านระบบออนไลน์ การฝึกอบรมแรงงานผู้สูงอายุ การส่งเสริมการตลาดสินค้าสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น
- ส่งเสริมการมีงานทำ "จ้างงานผู้สูงอายุ" ผ่านโครงการรัฐ-เอกชน
ด้านส่งเสริมการมีงานทำ ขับเคลื่อนผ่านโครงการสำคัญ เช่น การออกประกาศขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนสนับสนุนการจ้างงานรายชั่วโมง (Part -Time) สำหรับ"ผู้สูงอายุ" การ "จ้างงานผู้สูงอายุ"เข้าทำงานตามความเหมาะสม โครงการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ กิจกรรม 1 อำเภอ 1 ภูมิปัญญา
โครงการขยายโอกาสการมีงานทำให้ผู้สูงอายุว่า ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีเป้าหมายรวม 17,615 คน ประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่ ส่งเสริมการประกอบอาชีพให้ผู้สูงอายุ เป้าหมาย 2,580 คน และส่งเสริมการ "จ้างงานผู้สูงอายุ"ในอาชีพที่เหมาะสมกับวัย และประสบการณ์ เป้าหมาย 15,035 คน
กิจกรรมสานพลังประชารัฐ จัดหางานให้ผู้สูงอายุ ได้แก่ การสำรวจข้อมูลผู้สูงอายุ ประชุมนายจ้าง สถานประกอบการเพื่อรวบรวมตำแหน่งงานว่าง จัดหางานให้ "ผู้สูงอายุ" และกิจกรรมสร้างโอกาสการมีงานทำให้ผู้สูงอายุ ด้วยการจ้างทำงานในหน่วยงานของกรมการจัดหางาน เป็นต้น
- คุ้มครอง "ผู้สูงอายุ" ให้ได้รับสิทธิตามกฎหมาย
ในปี 2564 จากข้อมูลของกรมการจัดหางาน พบว่า มี "ผู้สูงอายุ"ได้รับการส่งเสริมการประกอบอาชีพและส่งเสริมการจ้างงานแล้ว 10,514 คน แบ่งเป็นผู้สูงอายุได้รับการส่งเสริมการประกอบอาชีพ 1,113 คน สร้างรายได้ให้ผู้สูงอายุ 185,850 บาท ผู้สูงอายุได้รับการส่งเสริมการจ้างงาน 9,401 คน ผู้สูงอายุใช้บริการจัดหางาน 888 คน และได้รับการบรรจุงาน 739 คน
ด้านการคุ้มครองให้ได้รับ "สิทธิตามกฎหมาย" ขับเคลื่อนผ่านโครงการสำคัญ เช่น การส่งเสริมความรู้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้าน การปฏิรูประบบบำนาญ ส่งเสริม "สวัสดิการแรงงานสูงอายุ"เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต การออกหน่วยเคลื่อนที่ให้บริการสวัสดิการด้านสุขภาพแก่แรงงานผู้สูงอายุ
การส่งเสริมความรู้และหน้าที่และความปลอดภัยในการทำงานแก่แรงงานนอกระบบสูงอายุในภาคเกษตร เป็นต้น และด้านประกันความมั่นคงในชีวิต ขับเคลื่อนผ่านโครงการสำคัญ เช่น โดยการขยายการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิม 60 ปีบริบูรณ์เป็นไม่กำหนดอายุขั้นสูง ประกันเงินบำนาญขั้นต่ำให้แก่ทายาท
กรณีผู้ประกันตนเสียชีวิตภายใน 60 เดือน ปรับสูตรการคำนวณบำนาญของผู้ประกันตนเมื่อเกษียณอายุ และพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้ผู้รับบำนาญสามารถเป็นผู้ประกันตนต่อไป โดยได้รับสิทธิประโยชน์ 3 กรณี คือ เจ็บป่วย ทุพพลภาพและตาย และรณรงค์ให้แรงงานภาคอิสระและผู้สูงอายุสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 เป็นต้