องคมนตรี ลงพื้นที่ชายแดนใต้ ปัตตานี-ยะลา
"พลากร สุวรรณรัฐ" องคมนตรี ลงพื้นที่ชายแดนใต้ จ.ปัตตานี และ จ.ยะลา เชิญสิ่งของพระราชทาน เยี่ยมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ ผู้นำศาสนา และราษฎร
นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เชิญพระราชกระแส จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยพี่น้องชาวไทยชายแดนใต้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดูแลทุกข์สุขอย่างใกล้ชิด ทรงมีพระราชประสงค์ให้บ้านเมืองกลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็ว
โดยระหว่างวันที่ 7 – 8 เมษายน 2564 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ปฏิบัติภารกิจในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา
การนี้ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี และคณะฯ เชิญเครื่องไทยธรรมพระราชทาน จำนวน 9 ชุด ไปถวายแด่พระสงฆ์ ณ วัดราษฎร์บูรณะ (วัดช้างให้) ตำบลควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี โอกาสนี้ พระสงฆ์สวดมนต์ถวายพระพรชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมกันนี้องคมนตรี เชิญพระราชกระแสจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยพี่น้องชาวไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากล่าวแก่คณะสงฆ์และประชาชนที่เข้าร่วมในพิธี
วัดราษฎร์บูรณะ (วัดช้างให้) เป็นวัดเก่าแก่ที่มีสมเด็จพะโคะ หรือ หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ภายในวัดมีสถานที่สำคัญ คือ สถูปบรรจุอัฐิหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด วิหารสมเด็จหลวงพ่อทวด พระอุโบสถ วิหารพระครูวิสัยโสภณ และหอระฆัง
ต่อมา องคมนตรี และคณะฯ เดินทางไปยังศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา การนี้ได้รับฟังสรุปข้อมูลการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โอกาสนี้ องคมนตรี ได้กล่าวกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติใน ศอ.บต. ว่ารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งหลังจากได้รับฟังข้อมูลในการดำเนินงานของ ศอ.บต. พบว่ามีการดำเนินงานที่คืบหน้าและมีการบูรณาการเชิงรุกที่เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่ในด้านต่าง ๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างทั่วถึงในทุก ๆ ด้าน ตั้งแต่ด้านสังคม เศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่
“ในฐานะที่เคยดำรงตำแหน่ง ผอ. ศอ.บต. มาก่อน มาในวันนี้ขอบอกว่าไม่มีอะไรที่จะแนะนำนอกจากขอชมเชยว่า ศอ.บต. ในวันนี้มีผลงานดี แนวทางและวิธีการในการดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย มีการดำเนินงานในเชิงรุกที่เจ้าหน้าที่ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่จริง สัมผัสกับปัญหาและร่วมกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ช่วยกันแก้ไขจนบรรลุผลได้อย่างรวดเร็ว สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จึงลดน้อยลงตามลำดับ และมีการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ที่ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์ อย่างเป็นรูปธรรม” องคมนตรีกล่าว
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นหน่วยงานอำนวยการระดับพื้นที่ซึ่งรัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย จัดตั้งขึ้นในปี 2524 ทำหน้าที่เร่งรัด กำกับ ดูแล ประสานงาน ผนึกกำลังและติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานฝ่ายพลเรือน และตำรวจในพื้นที่ให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของนโยบายความมั่นคงแห่งชาติเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นหนักงานด้านสังคมจิตวิทยา การเมือง การปกครอง การพัฒนาประสิทธิภาพข้าราชการ การพัฒนาเศรษฐกิจสังคม การเสริมสร้างความเข้าใจอันดี และความร่วมมือในระดับท้องถิ่นกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งประสานการปฏิบัติงานกับส่วนราชการฝ่ายทหาร และกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหารที่ 43 (พตท.43) ซึ่งเป็นหน่วยงานอำนวยการที่จัดตั้งพร้อมกัน แต่มีภารกิจหลักในการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้ายทุกรูปแบบ ภายใต้การกำกับดูแลของแม่ทัพภาคที่ 4 และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้
จากนั้น ในช่วงบ่ายองคมนตรีและคณะ ได้เดินทางไปยังมัสยิดกลางประจำจังหวัดยะลา ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา การนี้ ได้รับฟังประวัติความเป็นมาของมัสยิดกลาง และพบปะเยี่ยมเยียนโต๊ะอิหม่าม ผู้นำศาสนา และราษฎรในพื้นที่ พร้อมเยี่ยมชมและศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมของมัสยิดกลางแห่งนี้
โอกาสนี้ โต๊ะอิหม่าม ผู้นำศาสนา และราษฎร ร่วมสวดดุอาร์ เพื่อถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โอกาสนี้องคมนตรี ได้เชิญพระราชกระแส จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยพี่น้องชาวไทยมุสลิม โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดูแลทุกข์สุขอย่างใกล้ชิด ไปกล่าวแก่พี่น้องชาวไทยมุสลิม ในครั้งนี้ด้วย
สำหรับมัสยิดกลางประจำจังหวัดยะลา จัดตั้งขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2497 ในที่ดินของนายอุสมาน ดอฮะ โดยมี หะยีอับดุลฮามิด อับดุลซอมัด เป็นอิหม่าม มัสยิดแห่งนี้ชื่อว่า มัสยิดเราฏอตุลยันนะห์ โดยเมื่อปี พ.ศ.2499 รัฐบาลได้ให้งบประมาณสนับสนุนเพื่อปรับขยายขนาดของตัวอาคารมัสยิดให้สามารถจุคนได้ถึง 300 คน และต่อมาในปี พ.ศ.2522 รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อขยายพื้นที่และสร้างอาคารมัสยิดดังที่เห็นในปัจจุบัน มัสยิดแห่งนี้ใช้เป็นศาสนสถานสำคัญที่ชาวไทยมุสลิมประกอบศาสนกิจและประชุมเพื่อศึกษาธรรม นับเป็นมัสยิดที่สง่างามและเป็นที่ภาคภูมิใจของชาวจังหวัดยะลา
และในวันที่ 8 เมษายน 2564 องคมนตรีและคณะฯ เชิญสิ่งของพระราชทาน แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และเยี่ยมชมศูนย์ศิลปาชีพบ้านพิเทน ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี พร้อมสอบถามถึงชีวิตความเป็นอยู่และเชิญพระราชกระแส ทรงห่วงใยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมากล่าวกับราษฎรยังมาซึ่งความปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้