4 คำถาม 'เศรษฐกิจ' กับโควิดรอบ 3

4 คำถาม 'เศรษฐกิจ' กับโควิดรอบ 3

เคลียร์ชัด 4 คำถามประเด็น "เศรษฐกิจ" กับการระบาดของโควิดรอบ 3 เมื่อต้องเผชิญการกับโควิดรอบใหม่ กระทบต่อเศรษฐกิจไทยแค่ไหน? จะกลายเป็นจุดเปราะบางต่อการฟื้นตัวหรือความเชื่อมั่นของต่างชาติแค่ไหน? และวันนี้สูตรในการแก้คืออะไร?

วันพฤหัสบดีที่แล้ว สำนักข่าวซีเอ็นบีซี (CNBC) ประเทศไทยได้โทรมาขอสัมภาษณ์ผมในประเด็นการระบาดของโควิดรอบ 3 ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศเราและผลที่จะมีต่อเศรษฐกิจ ซึ่งผมก็ตอบรับและให้ความเห็นไป วันนี้จึงอยากแชร์ความเห็นที่ผมได้ให้ไปให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ เป็นการตอบคำถาม 4 ข้อที่ทางซีเอ็นบีซีได้ถามในรายการ

1.ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจกับการเผชิญโควิดรอบใหม่

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจมีแน่ เพราะ หนึ่ง การระบาดคราวนี้มีแนวโน้มจะรุนแรง จากที่เป็นการระบาดในประเทศระหว่างคนในประเทศ จากเชื้อที่สามารถแพร่ได้เร็วทำให้อัตราการแพร่ระบาดจะเร่งตัวมาก ขณะที่เทียบกับปีที่แล้ว ประเทศเราก็การ์ดตกทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ การแพร่ระบาดจึงไปเร็วมาก ดูจากตัวเลขเห็นได้ว่าอาทิตย์ก่อน ตัวเลขคนติดเชื้อใหม่ยังเป็นตัวเลขแค่สองหลัก แต่ปัจจุบันเป็นสามหลัก และเพิ่มขึ้นทุกวันแบบก้าวกระโดด กระจายตัวเร็ว ซึ่งตอนนี้ก็มีมากกว่า 20 จังหวัดที่พบการระบาดรอบใหม่

สอง ผลต่อเศรษฐกิจมีสองทาง คือ การระบาดกระทบความมั่นใจหรือ sentiment ของผู้บริโภคทำให้ประชาชนระมัดระวังตัวไม่อยากออกไปไหน งดท่องเที่ยว ไม่ใช้จ่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีในแง่การลดการแพร่ระบาด แต่ก็กระทบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสาขาที่ต้องพึ่งการใช้จ่ายของประชาชน เช่น ท่องเที่ยวและร้านอาหาร ทำให้การบริโภคในประเทศจะชะงักงัน ซึ่งมีผลโดยตรงต่อโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจขณะนี้ที่มีการบริโภคเป็นตัวนำ อีกด้านคือการเจ็บป่วย การกักตัว การทำงานที่บ้าน รวมถึงผลกระทบต่อการทำงานที่จะมาจากมาตรการของรัฐที่จะทำให้กระบวนการการผลิตถูกกระทบ และจะเสียหายมากถ้าภาคการผลิตที่กำลังส่งออกได้ถูกกระทบตามไปด้วย

ทั้งหมดกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะชะงัก การขยายตัวลดลง แต่จะลดมากหรือน้อยขึ้นอยู่ว่าการระบาดคราวนี้จะยืดเยื้อนานแค่ไหน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับมาตรการที่รัฐบาลจะใช้ควบคุมการระบาดว่าจะเข้มข้นและมีประสิทธิภาพหรือไม่

2.ความสมดุลของการใช้นโยบายควบคุมการแพร่ระบาดที่มีประสิทธิภาพ ขณะที่ต้องระวังผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

แนวคิดเรื่องความสมดุลระหว่างการควบคุมการระบาดและผลที่จะมีต่อเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่เราพูดกันมานานตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่จริงๆ แล้วความสมดุลไม่มี คือหาจุดสมดุลไม่ได้ เหมือนถ้าเราเจ็บป่วยและต้องรักษาตัวแต่เลือกทั้งสองอย่าง คือ รักษาตัวไปด้วยและทำงานไปด้วย การเจ็บป่วยก็จะยืดเยื้อ ไม่หายเร็ว ทำให้ในระยะยาวความเสียหายจะมาก เทียบกับถ้าเรารีบรักษาไม่ไปทำงาน การเจ็บป่วยจะหายเร็ว ดังนั้นระยะสั้นผลกระทบมี แต่จะจบเร็วและระยะยาวจะดีกว่า

กรณีโควิดก็เหมือนกัน คือมีสองทางเลือกว่าเราจะเลือกแก้ปัญหาสาธารณสุข หรือเลือกเรื่องเศรษฐกิจ ให้ความสำคัญอันไหนก่อน ถ้าเลือกทั้งสองอย่าง การระบาดก็จะยืดเยื้อและอาจบานปลายจนควบคุมไม่ได้ ในต่างประเทศเราจึงเห็นหลายประเทศในรอบ 3 นี้ เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี เลือกที่จะหยุดการระบาดโดยจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ให้ทำได้เฉพาะที่จำเป็น และพยายามลดผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจด้วยการกระจายการฉีดวัคซีน ของเราก็ต้องเลือกเช่นกัน

ในความเห็นของผม ควรต้องเลือกสาธารณสุขก่อน พยายามหยุดการระบาดโดยเร็วด้วยมาตรการที่ทำเต็มที่เท่าที่จะทำได้ และควรทำแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้สถานการณ์ระบาดบานปลาย ซึ่งเทียบกับปีที่แล้วเราอาจทำได้ง่ายกว่า เพราะมีประสบการณ์และการระบาดคราวนี้มาจากกรุงเทพฯ เป็นหลัก ถ้าหยุดการระบาดที่กรุงเทพฯ ได้ เศรษฐกิจส่วนอื่นๆ ของประเทศก็จะไม่ถูกกระทบ และถ้าดูจากปีที่แล้ว คนในประเทศโดยเฉพาะคนในกรุงเทพฯ พร้อมจะให้ความร่วมมือ เพราะทุกคนไม่อยากให้ประเทศมีการระบาดรุนแรง เพราะเสี่ยงต่อสุขภาพและการใช้ชีวิต

3.จุดเปราะบางเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นช้าและต่างชาติไม่เชื่อมั่น แม้ก่อนหน้าจะคุมการระบาดได้ดี

เศรษฐกิจไทยมีจุดอ่อนหลายอย่างตั้งแต่ก่อนโควิด เห็นได้จากประเทศเรามีเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำสุดในอาเซียน จุดอ่อนสำคัญของเราในสายตาต่างประเทศคือ เศรษฐกิจพึ่งการท่องเที่ยวมาก เมื่อการท่องเที่ยวไม่มีจากผลของโควิด เศรษฐกิจก็ไม่มีฐานที่จะเติบโต ที่สำคัญแม้โควิดเกิดขึ้น ในแง่นโยบายเราก็ไม่ได้ปรับตัวที่จะลดพึ่งพาการท่องเที่ยว หรือปรับตัวเพื่อให้ทรัพยากรหรือแรงงานในภาคท่องเที่ยวสามารถโยกย้ายไปหารายได้ในทางอื่น เช่น ปรับทักษะแรงงานเพื่อไปทำงานในสาขาเศรษฐกิจอื่น หรือกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในสาขาเศรษฐกิจอื่น ตรงกันข้ามเราพยายามเร่งเปิดประเทศให้กลับไปสู่รูปแบบเดิมแม้สถานการณ์ระบาดยังมีทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมจะมีความเสี่ยงมากขึ้นไปอีก

สำหรับภาคการส่งออกขณะนี้กลับมาขยายตัวตามความต้องการในต่างประเทศที่มีมากขึ้นซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เช่น ผลิตภัณฑ์เกษตร สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ถึงจุดหนึ่งเราก็จะไปต่อไม่ได้ เพราะปัญหาความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาเป็นสิบๆ ปี ภาคเอกชนเราไม่ได้มีการลงทุนใหม่เลย โดยเฉพาะด้านนวัตกรรม ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่มีสินค้าใหม่ๆ ที่จะเป็นตัวสร้างรายได้และนำการเติบโตทางเศรษฐกิจเทียบกับประเทศอื่นๆ ทำให้ในสายตาต่างประเทศ ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจเราในระยะสั้นมีไม่มาก

ที่สำคัญประเทศเราก็มีปัญหาโครงสร้างหลายเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข (เช่น การทุจริตคอร์รัปชัน การแข่งขันที่มีน้อยลง ความต่อเนื่องของนโยบายและประสิทธิภาพระบบราชการที่มีขั้นตอนมาก) เหล่านี้เป็นข้อจำกัดต่อการทำธุรกิจในบ้านเราในสายตาต่างประเทศ เศรษฐกิจไทยจึงดูไม่สดใสไม่เป็นประเทศที่น่าสนใจเหมือนแต่ก่อนเทียบกับประเทศอื่น

4.สูตรในการแก้เศรษฐกิจสำหรับโควิดรอบ 3 จะใช้แนวนโยบายการเงินการคลัง เช่น ลดดอกเบี้ย อัดฉีดการคลังแบบเดิม เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจได้หรือไม่

คิดว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำเพราะเป็นเครื่องมือด้านนโยบายที่มี ประเด็นคือที่ผ่านมาการแก้ไขเศรษฐกิจเน้นการประคองสถานการณ์ไม่ให้เลวร้ายลง ให้แรงงานและบริษัทที่มีปัญหายังพออยู่ได้ โดยใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำ อัดฉีดสภาพคล่อง ปรับโครงสร้างหนี้ มีมาตรการพักหนี้ไม่ให้บริษัทที่มีปัญหาทางการเงินต้องล้มละลาย หรือฟ้องร้องกัน ในส่วนของผู้ใช้แรงงานและประชาชนรายได้น้อยที่ถูกกระทบจากโควิด ก็มีการเยียวยาโดยการแจกเงิน เหล่านี้เป็นมาตรการประคองสถานการณ์ให้คนมีใช้จ่าย ไม่อด บริษัทไม่ล้มละลาย แต่ไม่ใช่หรือไม่มีมาตรการที่จะกระตุ้นการจ้างงาน กระตุ้นการลงทุนของเอกชนเพื่อเสริมสร้างการขยายตัวของเศรษฐกิจ ผลคือมาตรการที่ทำไปมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจน้อยมาก

จากนี้จึงจำเป็นที่มาตรการเศรษฐกิจต้องเดินออกจากการเยียวยาไปสู่การฟื้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมประเทศไปสู่การเติบโตรอบใหม่ ซึ่งบทบาทนำในเรื่องนี้ต้องมาจากภาคเอกชนไม่ใช่ภาครัฐ ตรงข้ามภาครัฐควรใช้อำนาจที่มี ให้เวลามากขึ้นกับการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ ที่ประเทศมีด้วยการปฏิรูปอย่างจริงจัง ให้เศรษฐกิจมีโอกาสเติบโตได้มากขึ้นและกระจายประโยชน์จากการเติบโตไปสู่คนในประเทศอย่างทั่วถึง