จีพีเอสซี จ่อตั้งโรงงานแบตเตอรี่ขนาด 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง
จีพีเอสซี เตรียมควัก 5,000 ล้านบาท สร้างโรงงานแบตเตอรี่แห่งใหม่ ขนาด 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) เล็งพื้นที่ภาคตะวันออก หวังรองรับความต้องการตลาดรถอีวี
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จํากัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า บริษัท มีแผนขยายโครงการผลิตแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ (Giga Scale) ในเชิงพาณิชย์แห่งใหม่ หรือ มีขนาดกำลังการผลิต เพิ่มขึ้น อยู่ที่ 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ต่อปี หรือ เท่ากับ 1,000 เมกะวัตต์ชั่วโมง(MWh) จากปัจจุบัน โครงการนำร่อง มีกำลังผลิตอยู่ที่ 30 MWh และพร้อมเริ่มดำเนินการผลิตภายในไตรมาส 2 ปี 2564
เนื่องจาก ปัจจุบัน พบว่า โรงงานต้นแบบผลิตแบตเตอรี่ G-Cell เทคโนโลยี Semi Solid ของ บริษัท 24M เซลล์แรกของประเทศไทย กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกกลุ่ม เพราะเป็นเทคโนโลยีที่ปลอดภัย สามารถปรับสูตรผลิตใช้ทั้งยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ขณะที่โรงงานผลิตในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จีน และนอร์เวย์ ก็ได้รับความนิยมเช่นกัน
นางรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ GPSC กล่าวว่า การศึกษาเบื้องต้น คาดว่า โรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งใหม่จะใช้เงินลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท และตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยการตัดสินใจขยายการลงทุนในครั้งนี้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีเป้าหมายจะขยายเป็น 100 เมกะวัตต์ชั่วโมง(MWh)นั้น เนื่องจากบริษัท เล็งเห็นขึ้นความต้องการใช้แบตเตอรี่ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ทั้งรถยนต์, เรือ, รถจักรยานยนต์, รถตุ๊กตุ๊ก, โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน
นอกจากนี้ โครงการ G-Box ระบบกักเก็บพลังงานผ่านแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System)ขนาด 150 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) นำร่องติดตั้งในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station สาขาหนองแขม เพื่อรองรับ EV Station คาดว่า ในอนาคตจะขยายการติดตั้งเพิ่มขึ้น
ส่วนการเติบโตในธุรกิจไฟฟ้า บริษัท อยู่ระหว่างเจรจาควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ(M&A)โครงการโรงไฟฟ้าในต่างประเทศหลายโครงการ เช่น ไต้หวัน, อินเดีย, เวียดนาม และ จีน เป็นต้น ส่วนจะสามารถปิดดีลในปีนี้ได้หรือไม่ ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดที่ชัดเจนได้ในขณะนี้ แต่ยืนยันว่า บริษัท ยังคงยึดมั่นนโยบายของบริษัทแม่ คือ ปตท. ที่กำหนดเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือทั้งเชื้อเพลิงฟอสซิล และพลังงานทดแทน แต่อย่างละ 8,000 เมกะวัตต์ ภายใน ปี 2573 จากปัจจุบัน มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือ คอนเวนชั่นนอล อยู่ที่ประมาณ 5,000 เมกะวัตต์ ส่วนการขยายกำลังการผลิตพลังงานทดแทน จะดำเนินการภายใต้บริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด หรือ GRP ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง ปตท.และ GPSC โดยถือหุ้นในสัดส่วน 50:50 เพื่อให้ GRP มีกำลังที่จะเข้าไปแข่งขันธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนเจาะตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น
“จีน ตอนนี้ นอกจากเข้าไปลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่เทคโนโลยี 24M แล้ว ก็ยังมีการศึกษาร่วมกับกลุ่ม ปตท.ในรูปแบบ GAS TO POWER ขณะที่ ไต้หวัน ก็ดูพลังงานลมเป็นหลัก ปัจจุบัน เข้าไปลงทุนแล้ว 1 โครงการ และกำลังเจรจาอีก 2-3 โครงการ”
ก่อนหน้านี้ GPSC ได้จัดตั้งบริษัทย่อย เพื่อดำเนินการเข้าลงทุนในบริษัท Anhui Axxiva New Energy Technology Co., Ltd. (“AXXIVA”) ประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงงานผลิตแบตเตอรี่ โดยใช้เทคโนโลยี 24 M มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท มีเป้าหมายกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ต่อปี คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปลายปี 2564 และเริ่มดำเนินการผลิตแบตเตอรี่เชิงพาณิชย์ภายในต้นปี 2565 เพื่อป้อนให้กับกลุ่มลูกค้าหลักในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศจีนและในอนาคต GPSC คาดหมายว่า จะสามารถต่อยอดและขยายความร่วมมือทางธุรกิจ และความร่วมมืออื่นๆ เช่น การจัดหาวัตถุดิบและ Electrode Active Materials ร่วมกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพของการแข่งขัน อีกทั้ง AXXIVA ยังมีแผนขยายกำลังการผลิตต่อไปในอนาคตเพื่อรองรับความต้องการใช้แบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า