‘Hospitel’ คืออะไร? ทำไมรัฐถึงเร่งหา ‘โรงแรม’ รองรับผู้ป่วยโควิดระลอก 3
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 3 ล่าสุดวันนี้ (14 เม.ย.) ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงว่าประเทศไทยพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 1,335 ราย เป็นวันแรกที่มีพบผู้ป่วยเกินหลักพันคนต่อวัน!
แบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 1,326 ราย และติดเชื้อจากต่างประเทศ 9 ราย รวมพบผู้ติดเชื้อโควิดระลอกใหม่ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.จนถึงปัจจุบัน 7,047 รายแล้ว เสียชีวิตสะสม 3 ราย กลับบ้านได้แล้วรวม 896 ราย
ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่พุ่งเกินหลักพันคนต่อวัน สร้างความกังวลต่อภาคประชาชนว่าจะมีจำนวนเตียงเพียงพอต่อการรักษาหรือไม่!
การบริหารจัดการเตียงของหน่วยงานภาครัฐด้วยการดึง “ผู้ประกอบการโรงแรม” หลายแห่งซึ่งช่วงนี้ยังไม่มีดีมานด์จากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้ปรับเป็น “Hospitel” (ฮอสพิเทล) หรือ “หอผู้ป่วยติดโรคโควิด-19 เฉพาะกิจ” จึงถูกหยิบยกเป็นประเด็นอีกครั้งเหมือนการระบาดระลอกแรกเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา
คำว่า Hospitel นั้น มาจากการผสมระหว่างคำ 2 คำ คือคำว่า Hospital ที่แปลว่า โรงพยาบาล และคำว่า Hotel ที่แปลว่า โรงแรม มีจุดประสงค์เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่รุนแรง ด้วยการปรับเปลี่ยนโรงแรมให้เป็นพื้นที่เฝ้าระวังอาการ เนื่องจากผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ทางโรงพยาบาลสามารถรองรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพสูงสุด
แนวทางการปรับโรงแรมเป็น ‘ฮอสพิเทล’
- ทางกระทรวงสาธารณสุขกำหนดว่าจะต้องเป็นโรงแรมที่มีห้องพักมากกว่า 30 ห้องขึ้นไป
- เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลมาแล้วไม่น้อยกว่า 5-7 วัน และมีผลภาพถ่ายรังสีปอดคงที่
- ผู้ป่วยยินดีให้ความร่วมมือ สามารถสื่อสารได้รู้เรื่อง ดูแลตนเองได้ดี ไม่ก้าวร้าว และไม่มีความเสี่ยงทางจิตเวช
- ผู้ป่วยไม่มีไข้ กรณีมีโรคประจำตัว ต้องควบคุมอาการได้ดี
- ต้องจัดยาให้พร้อม สำหรับให้ผู้ป่วยรับประทานด้วยตัวเองจนครบตามแผนการรักษาของแพทย์
- โรงพยาบาลต้นทางต้องยินดีรับผู้ป่วยกลับเข้ารักษาที่โรงพยาบาล หากผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลง
‘ฮอสพิเทล’ ต่างจาก ‘โรงพยาบาลสนาม’ (Field Hospital หรือ Cohort Center) อย่างไร
- โรงพยาบาลสนามเป็นการจัดตั้งที่พักสำหรับการสังเกตอาการผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการในพื้นที่ที่มีการควบคุม สามารถเข้าไปดูแลได้อย่างใกล้ชิด ทันท่วงที
- นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้ป่วยทั่วไปในโรงพยาบาลไม่เสี่ยง มีเตียงเพียงพอ
- จะต้องมีการคัดกรอง ไม่รับกลุ่มที่มีอาการ หรือมีความเสี่ยง รวมถึงระบบส่งต่อกรณีที่ต้องการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน
- มีระบบดูแลรักษาพยาบาลเบื้องต้น และระบบสำคัญๆ ของโรงพยาบาล โดยเฉพาะระบบการควบคุมการติดเชื้อ เพื่อป้องกันการระบาด สู่บุคคลภายนอกและชุมชน
- ชุมชนปลอดภัย จัดพื้นที่ควบคุม ลดการแพร่กระจายเชื้อ และยังช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลไม่เสี่ยงติดโรคโควิด-19
ก่อนหน้านี้ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สำหรับการบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งที่เป็นโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และฮอสพิเทล (ข้อมูล ณ วันที่ 11 เม.ย. 2564) จำนวนทั้งหมด 23,483 เตียง ครองเตียง 5,226 เตียง ว่าง 18,257 เตียง เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ (ข้อมูล ณ วันที่ 11 เม.ย.2564) จำนวนเตียงทั้งหมด 5,715 เตียง ครองเตียง 2,715 เตียง ว่าง 3,000 เตียง แยกเป็นโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ 161 เตียง กรมควบคุมโรค 2 เตียง กรมสุขภาพจิต 51 เตียง. กระทรวงกลาโหม 81 เตียง กรุงเทพฯ 386 เตียง รพ.ตำรวจ 0 เตียง โรงเรียนแพทย์ 243 เตียง เอกชน 1,132 เตียง รวม 2,056 เตียง และโรงพยาบาลสนามและฮอสพิเทล 944 เตียง
“อย่างไรก็ตาม กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แจ้งว่ามีการจัดหาฮอสพิเทลที่เป็นโรงแรมที่ร่วมกับสถานพยาบาล เพื่อนำผู้ติดเชื้อมีอาการน้อยไปดูและเพิ่มเติมเบื้องต้นได้อีก 3,900 เตียง”