'คลัง'ชี้เงินออมกบช.ปีแรกแตะ5.4หมื่นล.

'คลัง'ชี้เงินออมกบช.ปีแรกแตะ5.4หมื่นล.

สศค.คาดเงินออมกบช.ปีแรกแตะ 5.4 หมื่นล้านบาท หากมีการบังคับใช้กฎหมาย อยู่ระหว่างกฤษฎีกาพิจารณาร่างกฎหมาย ในช่วงแรกกฎหมายจะบังคับให้บริษัทขนาดใหญ่ที่มีพนักงาน 100 คนขึ้นไปต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนนี้ กำหนดใส่เงินฝ่ายละเท่ากับหรือมากกว่า 3%

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)กระทรวงการคลังเปิดเผยว่า สศค.ประเมินว่า ในปีแรกของการบังคับใช้กฎหมายกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติหรือกบช.จะมีเม็ดเงินไหลเข้ากองทุนราว 5.4 หมื่นล้านบาท ขนาดของกองทุนดังกล่าว มาจากการกำหนดให้ปีแรกที่บังคับให้บริษัทเอกชนขนาดใหญ่และบริษัทที่ประสงค์จะเข้าสู่ระบบกบช.เท่านั้น หลังจากนั้น จะทยอยให้บริษัทขนาดเล็กลงมาเข้าสู่ระบบ ซึ่งจะทำให้ขนาดกองทุนขยายใหญ่ขึ้น

ทั้งนี้ แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย แต่ยังมีเวลาให้ภาคเอกชนที่เป็นผู้สมทบเงินเข้ากองทุน กบช.ร่วมกับลูกจ้าง ในการเตรียมตัวรองรับกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ เป็นกฎหมายที่จะบังคับให้ทุกบริษัทในประเทศไทยจะต้องมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับลูกจ้าง เพื่อให้ลูกจ้างมีเงินบำนาญภายหลังการเกษียณอายุจากการทำงานอย่างน้อย 50% ของรายได้ก่อนเกษียณ

สำหรับความคืบหน้ากฎหมาย ล่าสุดคณะรัฐมนตรีิอนุมัติร่างกฎหมายฉบับนี้ เมื่อวันที่ 30 มี.ค.นี้ ยังจะต้องใช้เวลาพิจารณาร่างกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาอนุมัติ และกฎหมายฉบับนี้ยังจะต้องใช้เวลาเตรียมการจัดตั้งกองทุนอีก 360 วัน จึงจะสามารถเริ่มเปิดรับสมาชิกของกองทุนได้

นอกจากนี้ ในปีแรกของการบังคับให้ภาคธุรกิจต้องจ่ายเงินสมทบ จะเป็นการทำในลักษณะทยอยนำบริษัทที่มีความพร้อมก่อนธุรกิจขนาดเล็ก โดยปีแรกกำหนดให้กิจการเอกชนที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป อาทิิ กิจการที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ,กิจการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย,รัฐวิสาหกิจ,องค์การมหาชน เป็นต้น จากนั้น ในปีที่ 4 กำหนดให้บริษัทเอกชนที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป จะต้องเข้าสู่ระบบ กบช. และในปีที่ 6 เป็นต้นไป กำหนดให้บริษัทที่มีพนักงานตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปจะต้องเข้าสู่ระบบ กบช.

สำหรับอัตราการนำส่งเงินเข้า กบช.นั้น กฎหมายกำหนดว่าในปีที่ 1-3นับตั้งแต่วันที่ กบช.เปิดรับสมาชิก ให้ลูกจ้างและนายจ้าง จ่ายเงินเข้า กบช.ฝ่ายละ มากกว่าหรือเท่ากับ 3%ของค่าจ้าง ที่กำหนดเพดานสูงสุดของค่าจ้างไว้ไม่เกิน 6 หมื่นบาท/เดือน ปีที่ 4-6นำส่งเข้ากองทุนฝ่ายละมากกว่าหรือเท่ากับ 5%,ปีที่ 7-9นำส่งเข้าฝ่ายละ มากกว่าหรือเท่ากับ7%และปีที่ 10 เป็นต้นไป นำส่งเข้ากองทุนฝ่ายละไม่เกิน 10%ของค่าจ้าง

กรณีลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างน้อยกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน ให้นายจ้างนำส่งเงินเข้ากองทุนในส่วนที่นายจ้างมีภาระต้องนำส่ง ฝ่ายเดียว โดยลูกจ้างไม่ต้องนำส่ง ,กรณีนายจ้างและลูกจ้างประสงค์จะนำเงินส่งเข้ากองทุน สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด กฎหมายก็เปิดให้นายจ้างและลูกจ้างสามารถนำส่งเข้ากองทุนเพิ่มสูงสุดไม่เกิน 30%ของค่าจ้างโดยไม่จำกัดเพดานค่าจ้าง ในกรณีที่บริษัทเอกชนนั้นๆมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของตนเองอยู่แล้ว และนำส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราไม่ต่ำกว่าที่ กบช.กำหนด บริษัทเอกชนนั้นๆจะไม่นำส่งเงินเข้า กบช.ก็ได้