‘ขาดแคลนไฟฟ้า’ปัญหาที่เลี่ยงไม่ได้ของเมียนมา

‘ขาดแคลนไฟฟ้า’ปัญหาที่เลี่ยงไม่ได้ของเมียนมา

‘ขาดแคลนไฟฟ้า’ปัญหาที่เลี่ยงไม่ได้ของเมียนมา ขณะบริษัทพลังงานชั้นนำออสเตรเลียประกาศลดขนาดธุรกิจในเมียนมาและถอนทีมงานเจาะสำรวจนอกชายฝั่งทะเลออกมาหมด เพราะไม่ต้องการสร้างรายได้ให้รัฐบาลทหารของประเทศนี้อีก

บริษัทพลังงานชั้นนำของโลกหลายแห่ง ตัดสินใจยุติโครงการพัฒนาก๊าซธรรมชาติในเมียนมาท่ามกลางข้อวิตกกังวลว่ากองทัพเมียนมานำผลประโยชน์จากบริษัทร่วมทุนกับต่างชาติไปใช้ปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง มีเพียง“โททาล” บริษัทพลังงานโลกสัญชาติฝรั่งเศสเพียงแห่งเดียวที่ยังคงเดินหน้าทำธุรกิจในเมียนมาต่อไป โดยให้เหตุผลว่า หากบริษัทเลิกผลิตพลังงาน ผู้เดือดร้อนคือประชาชนที่จะไม่มีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ

ปิโตรนาส บริษัทพลังงานรายใหญ่สัญชาติมาเลเซีย ประกาศเมื่อต้นเดือนนี้ว่าระงับการผลิตที่แหล่งเยตากุน นอกชายฝั่งทะเลทางตอนใต้ของเมียนมาอย่างไม่มีกำหนดแล้ว หลังจากที่บริษัทตัดสินใจลดกำลังการผลิตพลังงานลงอย่างมากตั้งแต่เดือนม.ค.ที่ผ่านมา โดยปิโตรนาสถือหุ้นในแหล่งพัฒนาพลังงานเยตากุน 40.9% ขณะที่บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.ของไทยและบริษัทร่วมทุน3แห่งคือรัฐบาลญี่ปุ่น บริษัทเจเอ็กซ์ นิปปอน ออยล์ แอนด์ ก๊าซ เอ็กซ์พรอเรชัน และบริษัทมิตซูบิชิ คอร์ป ถือหุ้นฝ่ายละ 19.3% ส่วนหุ้นที่เหลือ 20.5% ถือครองโดยเมียนมา ออยล์ แอนด์ ก๊าซ เอนเตอร์ไพรซ์ (เอ็มโอจีอี)

วู้ดไซด์ ปิโตรเลียม ของออสเตรเลีย ซึ่งที่ผ่านมาเข้าไปพัฒนาแหล่งก๊าซแห่งใหม่นอกชายฝั่งทะเลของเมียนมา ออกแถลงการณ์ประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกองทัพเมียนมาที่ใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้านการรัฐประหาร จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากและว่าผู้ชุมนุมจะออกมาชุมนุมอย่างสงบ

“เราลดขนาดธุรกิจในเมียนมาลงและถอนทีมงานเจาะสำรวจนอกชายฝั่งทะเลของเมียนมาออกมาหมดแล้ว วู้ดไซด์ไม่ต้องการผลิตสินทรัพย์ใดๆในประเทศนี้อีก รวมทั้งไม่สร้างรายได้ใดๆให้แก่กองทัพเมียนมา”แถลงการณ์จากวู้ดไซด์ ระบุ

ขณะที่ทีมงานด้านการสื่อสารของบริษัทพลังงานชั้นนำสัญชาติออสเตรเลีย ระบุว่า บริษัทได้เสร็จสิ้นการถอนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกแผนกรวมทั้งเครื่องจักรกลต่างๆออกจากเมียนมาตั้งแต่เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา

ที่ผ่านมา วู้ดไซด์ชนะการประมูลได้สิทธิพัฒนาแหล่งพลังงานผ่านการเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทโททาล และบริษัทพลังงานของรัฐบาลเมียนมา ซึ่งโครงการนี้มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

คณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ (ซีอาร์พีเอช) เป็นรัฐบาลพลัดถิ่นของเมียนมาทำจดหมายเปิดผนึกเมื่อกลางเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เรียกร้องให้กลุ่มบริษัทพลังงานชั้นนำของโลกยุติความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับเอ็มโอจีอี

ทุกวันนี้ ประมาณ 80% ของก๊าซธรรมชาติที่ผลิตในเมียนมาถูกส่งมายังประเทศไทย หรือไม่ก็ประเทศจีนผ่านทางท่อส่งก๊าซ โดยข้อมูลของสหประชาชาติ(ยูเอ็น)ระบุว่า เมื่อปีที่แล้ว เมียนมาส่งออกพลังงาน ที่รวมถึงก๊าซธรรมชาติคิดเป็นมูลค่า 3,300 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 20% ของยอดการส่งออกโดยรวมของประเทศ

อย่างไรก็ตาม แม้สัดส่วนการส่งออกก๊าซธรรมชาติจะดูน้อยลงเมื่อเทียบกับยอดส่งออกสิ่งทอของเมียนมาที่เพิ่มขึ้น แต่พลังงานยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักในรูปสกุลเงินต่างประเทศสำหรับเมียนมา

"อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซเป็นแหล่งรายได้ใหญ่สุดของกองทัพเมียนมา ด้วยเหตุนี้ ผมจึงคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องยุติความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัทวิสาหกิจของกองทัพเมียนมา"โทมัส แอนดรูว์ ผู้เขียนรายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมาของยูเอ็น ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการด้านความสัมพันธ์ต่างประเทศของวุฒิสภา เมื่อปลายเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา

ขณะที่“เคลลี เคอร์รี”เอกอัครราชทูตในสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ดูแลและติดตามประเด็นเกี่ยวกับสตรีทั่วโลก ระบุว่า บรรดาบริษัทตะวันตกที่ร่วมทุนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติกับเอ็มโอจีอีควรระงับการจ่ายเงินค่าพลังงานให้แก่บริษัทเอ็มโอจีอีสามเดือน เพื่อบังคับทางอ้อมให้กองทัพเมียนมายุติการขายน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ

แต่การเลิกผลิตก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินชีวิตของพลเมืองเมียนมา เนื่องจากปริมาณหนึ่งในห้าของก๊าซธรรมชาติที่ผลิตในประเทศนี้เป็นการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ และส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมพลังงาน โดยข้อมูลของทางการเมียนมา ระบุว่า ในปริมาณไฟฟ้าขนาด 6 กิกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติในสัดส่วน 40% ของความสามารถในการผลิตพลังงานของประเทศในปีงบการเงิน 2562

โททาล ซึ่งมีแหล่งก๊าซใต้ทะเลขนาดใหญ่สุดของเมียนมาในแง่ของปริมาณผลผลิตยังคงเดินหน้าทำการผลิตก๊าซในเมียนมาต่อ โดยแหล่งก๊าซของโททาลจัดหาก๊าซธรรมชาติเพื่อนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าในสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของก๊าซธรรมชาติทั้งหมด การเลิกผลิตก๊าซจะทำให้ชาวเมียนมาหลายล้านคนไม่มีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ

เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา ปอสโก ผู้ผลิตเหล็กชั้นนำของโลกสัญชาติเกาหลีใต้ ตัดสินใจถอนตัวจากการทำธุรกิจร่วมทุนในเมียนมาและขณะนี้กำลังเจรจาเพื่อซื้อหุ้น 30% ในบริษัทเมียนมา อีโคโนมิก โฮลดิงส์ พับลิก โค จำกัด (เอ็มอีเอชแอล)ที่เป็นของรัฐบาลทหาร หลังจากถูกกดดันอย่างหนักจากกองทุนเอพีจี ซึ่งเป็นกองทุนบำนาญสัญชาติเนเธอร์แลนด์และถือหุ้นอยู่ในบริษัทปอสโก แสดงความวิตกกังวลกรณีที่กองทัพเมียนมาใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วง จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากและถูกประชาคมโลกรุมประณาม