'โควิด'รอบใหม่ทุบ 3 แสนล้าน เงินกู้ก้อนสุดท้ายพยุงเศรษฐกิจ

'โควิด'รอบใหม่ทุบ 3 แสนล้าน  เงินกู้ก้อนสุดท้ายพยุงเศรษฐกิจ

ม.หอการค้าไทย เผย “โควิด ”รอบใหม่กระทบ 3 แสนล้านบาท แนะคลอดมาตรการเยียวยา ฟื้นฟู เสนอรัฐใช้เงินกู้ที่เหลือ 2 แสนล้านบาท พยุงเศรษฐกิจ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การระบาดของโควิด-19 รอบที่ 1 ที่มีการล็อคดาวน์ ส่งผลต่อเศรษฐกิจหนักสุดแม้ว่าจะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพียงหลักร้อยคน และในรอบ 2 ที่เกิดจากแรงงานใน จ.สมุทรสาคร มีการล็อคดาวน์บางจังหวัด

ส่วนรอบที่ 3 การระบาดจากคลัสเตอร์สถานบันเทิง ทำให้มีจำกัดเวลาเปิด-ปิด ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ปิดสถานบันเทิง ห้ามขายอัลกอฮอล์ ซึ่งแม้ไม่ล็อคดาวน์แต่ก็มีการคุมเข้มสูง กระทบความเชื่อมั่น การจับจ่ายใช้สอย การท่องเที่ยว ทำให้รายได้หายไป 10-20% สภาพคล่องทางการเงินแย่ กำไรหดหาย ก่อหนี้มากขึ้น และปัญหาการจัดหาฉีดวัคซีน

ทั้งนี้ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นในอีก 15 เดือน หรือกลางปี 2565 และจะกลับมาเป็นปกติปลายปี ซึ่งภาคเอกชนเสนอให้รัฐบาลต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด และเสริมสภาพคล่องให้เอกชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน

สำหรับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รอบ 3 ที่ออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด แต่ไม่ล็อคดาวน์ ประเมินว่า ทำให้เม็ดเงินหายไปจากระบบเศรษฐกิจ 3,338 ล้านต่อวันหรือ 100,140 ล้านบาทต่อเดือน ทำให้ความต้องการแรงงานลดลง 148,933 คนต่อเดือน ส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพี 0.62% ต่อเดือน 

โดยภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการของทั้งประเทศ หายไปราว 1 แสนล้านบาทต่อเดือน แยกเป็น โซนสีแดง-พื้นที่ควบคุมสูงสุด 18 จังหวัด หายไปราว 8.4 หมื่นล้านบาทต่อเดือน และโซนสีส้ม-พื้นที่ควบคุม 59 จังหวัด หายไปราว 1.57 หมื่นล้านบาทต่อเดือน ซึ่งหากรัฐบาลควบคุมสถานการณ์ได้ใน 2 เดือน จะมีความเสียหายทางเศรษฐกิจ 2-3 แสนล้านบาทหรือกระทบจีดีพี 1.24% เนื่องจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนหายไป 15% จากปกติคนไทยใช้จ่ายประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

161909730530

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจขึ้นกับการที่รัฐบาลจะใช้วงเงินกว่า 2 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลเหลือจาก พ.ร.ก.เงินกู้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร และยังไม่จำเป็นต้องเปิดเพดานวงเงินกู้ใหม่หรือขยายเพดานหนี้สาธารณะ ซึ่งจากการประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้อยู่ที่ 2-3 แสนล้านบาท เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อ 4 วัน เริ่มนิ่งเฉลี่ยวันละ 1,400 คน และจะคุมได้ใน 60 วัน และหากไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใดออกมาแล้วปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้เศรษฐกิจปีนี้จะขยายเพียง 1.2-1.6%

ทั้งนี้ รัฐบาลคงอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 2-3 แสนล้านบาท เพื่อชดเชยผลกระทบจากโควิดที่หายไป ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือกระตุ้นกำลังซื้อประชาชน โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่งเฟส 3 วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท และเมื่อเติมเงินอีกครึ่งหนึ่งของประชาชน ก็ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 1 แสนล้านบาท 

รวมทั้งหากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายช่วงกลางเดือน พ.ค.นี้ มาตรการดังกล่าวควรอัดเข้าไปในช่วงปลาย พ.ค.นี้ เพื่อให้มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงปลายไตรมาส 2 ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจมีสัญญาณของการฟื้นตัว เพราะช่วงไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการย่อตัวลงถึง 4-6% จากเดิมคาดว่าเศรษฐกิจจะโต 9% เพราะปีก่อนไตรมาส 2 ติดลบถึง 12% 

ในขณะที่หากเม็ดเงินหายไปจากระบบ 2 แสนล้านบาท เศรษฐกิจจะโต 5% หากหายไป 3 แสนล้านบาทเศรษฐกิจจะโต 3% ดังนั้นการอัดเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจควรอัดลงไปในช่วงปลายไตรมาส 2 ปลาย พ.ค.หรือต้น มิ.ย. เพราะจะมีผลต่อเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3-4

นอกจากโครงการคนละครึ่งเฟส 3 แล้วรัฐยังมีโครงการอื่นอีก เช่น เราชนะ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เรารักกัน ประกอบกับการส่งออกของไทยที่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้น 4-5 % จะช่วยหนุนให้จีดีพีขยายตัวได้ แต่รัฐบาลจะต้องดูแลค่าเงินบาทให้ทรงตัวอ่อนต่อไป ในระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์ จะช่วยเป็นแรงหนุนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และชดเชยรายได้จากภาคบริการโดยเฉพาะการท่องเที่ยวและการบริโภคที่หายไปจากผลกระทบโควิด-19

ทั้งนี้ หอการค้าไทยสนับสนุนโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” เพราะเป็นการส่งสัญญาณของการเปิดประเทศ เพราะภูเก็ตเป็นจังหวัดสำคัญด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งจากภูมิประเทศของภูเก็ตที่เป็นเกาะ ทำให้มีความสามารถในการควบคุมการระบาดได้ง่ายกว่า ประกอบกับแผนการฉีดวัคซีนต้านโควิดให้แก่ประชาชนในพื้นที่ภูเก็ตให้ได้อย่างน้อย 50% ในเดือน มิ.ย.นี้ จะยิ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาไทย 

โดยเฉพาะในภูเก็ตได้เป็นอย่างดี เหมือนกับสถานการณ์การท่องเที่ยวของเกาะมัลดีฟ ที่ขณะนี้การท่องเที่ยวกลับมาสู่ภาวะปกติแล้ว เนื่องจากได้มีการฉีดวัคซีน หากสามารถเปิดการท่องเที่ยวได้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวได้ 4 ล้านคนในไตรมาส 4

อีกทั้งรัฐบาลต้องสนับสนุนคนไทยท่องเที่ยวในช่วงระหว่างสัปดาห์โดยหน่วยงานราชการต่างๆ ให้จัดประชุมสัมมนาช่วงกลางสัปดาห์เพื่อช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยว และเร่งใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)