เปิดวิธีจัดการ 'ศพผู้ป่วยโควิด' เช็ค! วัดไหนรับฌาปนกิจบ้าง?
สถาบันพยาธิวิทยา กรมการแพทย์ เผยวิธีจัดการ "ศพผู้ป่วยโควิด" ที่เสียชีวิตจาก "โควิด-19" ควรทำให้ถูกต้อง เนื่องจากสารคัดหลั่งในศพยังสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ พร้อมเช็คพิกัด "วัด" ที่รับฌาปนกิจศพผู้ป่วยติดเชื้อ
จากสถิติผู้เสียชีวิตจากโรคระบาด "โควิด-19" ในไทย ที่พบว่ามีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และมีผู้เสียชีวิตติดต่อกันเป็นวันที่ 7 แล้ว (17-23 เม.ย.64) ล่าสุดวันนี้ สธ.รายงานสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 ว่ามียอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงถึง 2,070 ราย และยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 4 ราย สิ่งต่อมาที่ต้องรู้! คงหนีไม่พ้นการจัดการ "ศพผู้ป่วยโควิด" ที่เสียชีวิตจาก "โควิด-19" ว่าควรมีวิธีจัดการอย่างไรให้ถูกต้อง?
รวมถึงหากญาติๆ ของผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด อาจกังวลว่าไม่รู้ว่าจะไปจัดพิธีฌาปนกิจศพที่ "วัด" ไหน? มีขั้นตอนอย่างไร? ขณะนี้ก็มีวัดหลายแห่งออกมารับรองการจัดพิธีศพแล้ว กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รวบรวมข้อมูลทั้งหมดมาให้รู้กันที่นี่!
- 5 วิธีจัดการ "ศพผู้ป่วยโควิด" จากกรมควบคุมโรค
สถาบันพยาธิวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการจัดการศพผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติ ดังนี้
1. เมื่อผู้ป่วยเสียชีวิต สารคัดหลั่งที่อยู่ในศพยังสามารถแพร่กระจายเชื้อได้
2. ควบคุมสารคัดหลั่งโดยเก็บศพไว้ในถุงซิปกันน้ำอย่างน้อยสองชั้น และใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคทาด้านนอกถุงเก็บศพ
3. ห้ามเปิดถุงเก็บศพโดยเด็ดขาด ไม่มีการอาบน้ำศพ รดน้ำศพ และฉีดยารักษาศพ
4. บรรจุศพพร้อมถุงลงในโลงศพ และปิดฝาโลงให้สนิท ญาติสามารถนำศพไปทำพิธีกรรมทางศาสนาได้อย่างปลอดภัย
5. การเผาหรือฝั่งศพจะไม่ก่อให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- ย้อนรอยขั้นตอนดูแล "ศพผู้ป่วยโควิด" ในการระบาดครั้งแรก
หากย้อนกลับไปในช่วงการระบาดของโควิด-19 ครั้งแรกของไทย เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา พบว่ามีข้อมูลจาก สถาบันบำราศนราดูร และสถาบันพยาธิวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ที่ได้อธิบายให้ความรู้เรื่อง ขั้นตอนการจัดการศพผู้ป่วยโควิดของทีมแพทย์ เอาไว้ดังนี้
1. ทีมแพทย์ดูแลร่างของผู้เสียชีวิตให้สมศักดิ์ศรี
2. เจ้าหน้าที่จะนำร่างผู้เสียชีวิตไปเช็ดด้วยน้ำยาแอลกอฮอล์ 70% และใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์อุดตามทวารของอวัยวะต่างๆ
3. นำศพบรรจุในถุงซิปที่มีความหนาจำนวน 3 ชั้น โดยถุงแต่ละชั้นก็ต้องมีการฉีดน้ำยาแอลกอฮอล์ 70% พ่นฆ่าเชื้อด้วยเช่นกัน
4. หลังการรูดซิปถุงศพครั้งที่ 1 ผู้บรรจุศพต้องออกจากห้อง ถอดชุดป้องกัน ถอดถุงมือออกไปทำความสะอาดร่างกาย แล้วกลับมาบรรจุร่างใส่ถุงซิปชั้นที่ 2 และทำซ้ำแบบเดียวกัน ก่อนจะบรรจุร่างใส่ถุงซิปชั้นที่ 3
5. ศพผู้ป่วยโควิดจะไม่ได้ถูกฉีดน้ำยา แต่จะถูกนำไปแช่แข็งที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส
6. ทีมแพทย์แนะนำญาติๆ ให้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด คือ ไม่อนุญาตให้มีการอาบน้ำศพ ห้ามสัมผัสจับต้องศพ ห้ามเปิดถุงซิปออกเอง
7. โดยปกติการเผาศพจะใช้ความร้อนที่มีอุณภูมิสูงกว่า 70 องศาฯ ดังนั้นเชื้อโรคจะตายหมดแน่นอน
- ชี้พิกัด "วัด" ที่รับฌาปนกิจ "ศพผู้ป่วยโควิด"
1. วัดและฌาปนสถานในเขตบางเขน
กทม. เคยให้ข้อมูลเมื่อปี 2563 ไว้ว่า วัดและฌาปนสถานในพื้นที่เขตบางเขน ทั้ง 4 วัด ได้แก่ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหารบางเขน วัดบางบัว วัดไตรรัตนาราม และวัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต พร้อมทั้งผู้แทนฌาปนสถานกองทัพอากาศและกองทัพบก ยืนยันว่าไม่ปฏิเสธรับศพผู้ป่วยโควิด-19 พร้อมทั้งมีมาตรการจุดคัดกรองญาติผู้เสียชีวิตที่ตั้งทุกศาลาในวัด
เช่นเดียวกับวัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต ที่มีฌาปนสถานกองทัพบกดูแลด้านการฌาปนกิจ ก็ไม่ปฏิเสธรับศพผู้ป่วยโควิด-19 เช่นกัน ทางด้านวัดไตรรัตนาราม และวัดบางบัว ที่มีส่วนฌาปนกิจของวัดเอง ก็ยินดีที่จะประกอบพิธีทางศาสนาให้กับศพผู้ป่วยโควิด-19 เนื่องจากเห็นใจญาติผู้เสียชีวิต และถือเป็นกิจของวัด
2. วัดเสมียนนารี กทม.
พระมหารวมพล ฐิตญาโณ ผู้ดูแลฝ่ายฌาปนสถาน วัดเสมียนนารี กทม. เคยชี้แจงเอาไว้เมื่อเกิดโควิดระบาดครั้งแรกในปี 2563 ระบุว่าทางวัดยินดีรับทำพิธีฌาปนกิจแก่ผู้เสียชีวิตเพราะป่วยได้รับเชื้อ โควิด-19 โดยมีความประสงค์ที่จะช่วยแบ่งเบาความทุกข์ของญาติโยมในช่วงขณะที่มีโรคระบาดร้ายแรง
ทั้งนี้ ต้องมีขั้นตอนในการนำศพมาที่วัด คือ ต้องมาแจ้งให้วัดทราบก่อนให้มีหน่วยงานราชการหรือเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาล เพื่อให้คำเเนะนำกับพระว่าขั้นตอนในการนำศพเข้าเผาต้องทำอย่างไรบ้าง เพื่อให้ความมั่นใจแกเจ้าหน้าที่ของวัดกับพระว่ามีความปลอดภัย จากนั้นจะต้องนำศพเข้าเตาเผาในทันที และทางวัดก็จะทำพิธีฌาปนกิจให้ตามหลักศาสนา
3. วัดลำนกแขวก มีนบุรี กทม.
วัดลำนกแขวก ย่านมีนบุรี ยินดีรับฌาปนกิจศพผู้ป่วยโควิด โดยทางวัดมีขั้นตอนต่างๆ อย่างรัดกุม ได้แก่ การนำโรงศพเข้าไปในเตาเผาตั้งแต่วันแรกที่ศพมาถึง และมีการโยงสายสิญจน์มาที่ศาลาสวด เพื่อสวดตามพิธีกรรมทางศาสนา ส่วนญาติที่เดินทางเข้ามาร่วมพิธีจะต้องใส่หน้ากากอนามัยทุกคนเพื่อความปลอดภัย
ด้านสัปเหร่อก็ต้องสวมใส่ชุดป้องกันเชื้อตามที่แพทย์แนะนำ ฉีดฆ่าเชื้อทั่วศาลาและเมรุ รวมไปถึงบริเวณรอบๆ ด้วย เมื่อเข้าสู่พิธีเผาสัปเหร่อเริ่มจุดไฟจากช่องด้านนอกเตาเผา โดยไม่มีการเปิดฝาเตาเผาด้านหน้า และไม่อนุญาตให้ญาติขึ้นไปบนเมรุเด็ดขาด
4. วัดไผ่ล้อม ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม
พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ กิตติจิตโต เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ยืนยันว่าวัดไผ่ล้อมยินดีรับฌาปนกิจศพผู้ป่วยโควิด-19 โดยที่ผ่านมาวัดไผ่ล้อมมีการจัดการกับศพติดเชื้อมาแล้วมากมาย โดยมีเจ้าหน้าที่ของ สสจ.นครปฐม เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงโดยตลอด ทำให้รู้ว่าควรจะปฏิบัติอย่างไรบ้าง
อย่างเช่นเคสหนึ่งเป็นศพผู้ป่วยโควิดมาจากโรงพยาบาลเอกชนย่านบางแค เมื่อเสียชีวิตแล้วญาติก็ได้ติดต่อมาทางวัดก็จัดฌาปนกิจให้ โดยเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลดำเนินการลำเลียงศพขึ้นเตาเผาอย่างมิดชิด ใช้เวลาไม่นาน
5. วัดโคกหม้อ ต.โคกหม้อ อ.เมือง จ.ราชบุรี
พระครูสิริสุวัฒนาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดศิริเจริญเนินหม้อ (วัดโคกหม้อ) ต.โคกหม้อ อ.เมือง จ.ราชบุรี ประกาศยินดีรับศพผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ญาติๆ ผู้เสียชีวิตสามารถนำศพมาจัดพิธีฌาปนกิจที่วัดได้ด้วยความมีเมตตาธรรม ทางวัดยินดีเปิดให้เผาศพได้ ขาดเหลืออะไรก็ช่วยเหลือกัน โดยวัดมีความพร้อมหมดแล้วทั้งเตาเผา อาจจะต้องซื้อถ่านมาเพิ่มในการดำเนินการ กรณีไม่มีปัจจัยจะเผาศพทางวัดก็ช่วยเหลือได้
---------------------
อ้างอิง : สำนักข่าวไทย, กทม. NOW Connect