‘การบินไทย’ ยันโครงสร้างใหม่ ทุกสัญญาจ้าง ร่วมขับเคลื่อนองค์กร
28 เม.ย.นี้ เป็นอีกวันชี้ชะตาพนักงานการบินไทย ภายหลังบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ขยายกระบวนการกลั่นกรองพนักงานสู่โครงสร้างองค์กรใหม่เพิ่มเติม
เพราะยังมีบางตำแหน่งงานที่พลาดเป้า ซึ่งบริษัทฯ ได้เปิดให้พนักงานสามารถแสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนกลั่นกรองสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ 2564 ครั้งที่ 2 ในระหว่างวันที่ 12-16 เม.ย.ที่ผ่านมา
ภายหลังเปิดกระบวนการกลั่นกรอง ครั้งที่ 1 และประกาศผลไปเมื่อวันที่ 8 เม.ย.2564 ซึ่งพบว่าโครงสร้างองค์กรใหม่ที่วางไว้ มีพนักงานที่แสดงความจำนงเข้าร่วมกระบวนการกลั่นกรอง ทั้งสิ้น 13,554 คน มีผู้ได้รับการกลั่นกรองครั้งที่ 1 จำนวนทั้งสิ้น 9,304 คน ทำให้พนักงานที่ไม่ผ่านการกลั่นกรองมีอยู่ราว 4 พันคน
อย่างไรก็ดี หลังประกาศผลกลั่นกรอง เกิดเป็นกระแสดราม่าภายในองค์กร วิพากษ์วิจารณ์ถึงการคัดกรองพนักงานเข้ารับตำแหน่งในโครงสร้างใหม่ อาจมีการ “วางตัว” ไว้แล้ว ทำให้พนักงานที่มีความสามารถและอยากทดลองงานใหม่ๆ ต้องพลาดโอกาส ส่งผลให้การเปิดกลั่นกรองสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ ครั้งที่ 2 พนักงานที่ผิดหวังจากการกลั่นกรอง ครั้งที่ 1 ปัจจุบันเรียกว่ากลุ่ม “ฟ้าใหม่” มีแนวโน้มที่จะยื่นเข้าโครงการร่วมใจจากองค์กร โครงการ MSP C เพิ่มขึ้น
แหล่งข่าวจากตัวแทนพนักงานการบินไทย เผยว่า ตอนนี้พนักงานกลุ่มฟ้าใหม่ มีแนวโน้มที่จะเข้าสมัคร MSP C เพิ่มขึ้น และอาจสูงถึง 4 พันคน เพราะผิดหวังจากการสมัครกระบวนการกลั่นกรอง เนื่องจากหลายคนก็ทราบมาว่าการโยกย้ายเลือกพนักงานเข้าโครงสร้างใหม่ การบินไทยยังมีการเลือกพรรคพวก แม้ว่าฝ่ายบริหารจะกล่าวย้ำเสมอว่าเปิดโอกาสให้พนักงานที่มีความสามารถ อยากเปลี่ยนตำแหน่งงานใหม่เข้ามากลั่นกรอง แต่กลับพบว่าผลการกลั่นกรองยังเป็นผู้สมัครในตำแหน่ง และสายงานเดิมเป็นส่วนใหญ่
ขณะเดียวกัน พนักงานที่ผิดหวังจากการกลั่นกรองครั้งที่ 1 ยังมีบางส่วนที่มองว่าการเข้ากลั่นกรองครั้งที่ 2 คงไม่ได้รับโอกาสอย่างที่ฝ่ายบริหารกล่าวไว้ และเลือกที่จะถือสัญญาจ้างงานฉบับเก่า เพื่อทำงานในตำแหน่ง เงินเดือน และสวัสดิการเดิม โดยเบื้องต้นประเมินว่า พนักงานที่มีความประสงค์จะถือสัญญาจ้างงานเดิม จาก 821 คน มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 พันคน
“ดีดีกับฝ่ายบริหาร พูดเสมอว่าพนักงานการบินไทยไม่ว่าจะถือสัญญาใดก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนองค์กร ยังทำงานร่วมกันต่อไปได้ แต่ความเป็นจริงที่พนักงานถูกกระทำในขณะนี้ ถูกแรงกดดันจากหัวหน้างานในการบีบให้พนักงานไปเข้ากระบวนการกลั่นกรอง ถือสัญญาจ้างงานใหม่ และขู่ถึงการทำงานที่จะยากลำบากหากยังคงถือสัญญาจ้างงานเก่าอยู่”
ทั้งนี้ จากแรงกดดันและความสับสนของพนักงาน สหภาพแรงงานพนักงานบริษัท การบินไทย ร่วมกับ สหภาพแรงการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุถึงการขอความช่วยเหลือกระทรวงแรงงานให้ออกกฎกระทรวงเพื่อยกเว้นพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ให้นายจ้างที่อยู่ระหว่างกระบวนการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการสามารถเลิกจ้างพนักงานและผ่อนจ่ายค่าชดเชยในกรอบระยะเวลาที่นายจ้างกำหนดขึ้นเองได้ตามสมควร
และออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อยกเว้นพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ให้นายจ้างที่อยู่ระหว่างกระบวนการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการสามารถเลิกจ้างคณะกรรมการลูกจ้าง อนุกรรมการ และสมาชิกสหภาพแรงงาน โดยไม่ต้องทำตามข้อกฎหมาย เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณจากกระบวนการคัดเลือกพนักงานเข้าทำงานในโครงสร้างองค์กรใหม่ (Relaunch) ที่ไม่โปร่งใสและไม่เปิดให้ตรวจสอบทุกหย่อมหญ้า
อ้างเหตุการปรับโครงสร้างองค์กรและยุบหน่วยงานรวมถึงเลิกจ้างพนักงาน โดยเฉพาะสายงานชำนาญการพิเศษจำนวนมาก แต่มีนโยบายจ้างแรงงานภายนอก (Outsource) ถึง 2,072 ตำแหน่งมาแทน เข้าข่ายการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม อีกทั้ง ผู้บริหารส่งข้อความเขย่าขวัญรายวันผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ลวงให้พนักงานเข้าใจว่าเป็นแผนนโยบายบริหารจริง สร้างความระส่ำระสายวิตกกังวลเป็นวงกว้างจนกระทบหนักถึงขั้นบางคนคิดสั้น
ด้านฝ่ายบริหารการบินไทย ยืนยันการดำเนินการคัดเลือกพนักงานเข้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่อยู่ภายใต้ความยินยอมของพนักงานและภายใต้กรอบกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พร้อมเผยว่าพนักงานส่วนใหญ่มีความเข้าใจสถานการณ์ของบริษัทฯ และให้ความร่วมมือเข้ากระบวนกลั่นกรองสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ (Relaunch) ด้วยความสมัครใจ ถึง 96%
ทั้งนี้ พนักงานที่ไม่ได้รับการคัดเลือกในครั้งที่ 1 ก็สามารถเข้าสู่กระบวนกลั่นกรองฯ ครั้งที่ 2 ได้ และตามโครงสร้างใหม่นี้ บริษัทฯ ยังมีตำแหน่งงานรองรับได้อีกหลายอัตรา ขณะเดียวกันพนักงานอีกจำนวนหนึ่ง ได้สมัครใจเข้าโครงการร่วมใจจากองค์กร MSP (Mutual Separation Program A, B, และ C) เพื่อเป็นการช่วยเหลือบริษัทฯ
สำหรับพนักงานที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่โครงสร้างใหม่ทั้ง 2 ครั้ง รวมถึง พนักงานที่ไม่แสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนกลั่นกรองฯ พนักงานก็ยังคงมีสถานะเป็นพนักงานการบินไทย โดยบริษัทฯ จะดูแลพนักงานทุกคนของบริษัทฯ และดำเนินการทุกอย่างภายใต้กรอบของกฎหมายคุ้มครองแรงงานทุกประการ
ด้านนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่า พนักงานที่ยังไม่ได้แสดงความจำนงว่าจะเข้ากระบวนการกลั่นกรอง หรือไม่เข้าร่วมโครงการร่วมใจจาก ส่วนนี้เราก็ไม่ได้ไล่ใครออก เราไม่มีนโยบายเช่นนั้นอยู่แล้ว แต่เราจะต้องมาคุยกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป คนดี คนเก่งจะต้องได้อยู่ต่อ หากพนักงานที่ไม่ประสงค์จะเข้าโครงสร้างองค์กรใหม่ ก็สามารถเป็นพนักงานการบินไทยภายใต้สัญญาเดิมได้