'กต.' แจง 6 ข้อ ปมร้อน 'อินเดีย' เช่าเหมาลำเครื่องบินเข้าไทย
"กระทรวงการต่างประเทศ" แจง 6 ข้อ กรณีมีรายงานข่าวเกี่ยวกับชาว "อินเดีย" เช่าเหมาลำเครื่องบินเพื่อเดินทางเข้าประเทศไทย ช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ยัน "ไม่มี" เครื่องบินเช่าเหมาลำ ขณะที่เที่ยวบินวันที่ 17 เม.ย. เป็นการเข้ามาตามระบบซึ่งได้จองไว้ล่วงหน้า
วันที่ 25 เม.ย. 64 นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยกรณี รายงานข่าวเกี่ยวกับชาวอินเดียเช่าเหมาลำเครื่องบินเพื่อเดินทางมาประเทศไทย ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนี้
1. ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนข้างต้นเกิดจากการแปลข่าวที่ตีพิมพ์โดยสำนักข่าวต่างประเทศผิด ทำให้มีการตีความว่า มีกลุ่มบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งมีฐานะร่ำรวยประสงค์จะเช่าเหมาลำเที่ยวบินโดยสารจากประเทศอินเดียมายังประเทศไทย ซึ่งไม่เป็นความจริง โดยเนื้อข่าวระบุแต่เพียงมีกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในอินเดียประสงค์จะเดินทางไปยังเมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และมีบางส่วนได้สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางเข้าประเทศไทยเท่านั้น
2. กระทรวงการต่างประเทศได้ตรวจสอบกับสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลไทยในอินเดีย ได้รับการยืนยันว่าไม่ได้ออก COE ให้บุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยเดินทางเข้าประเทศโดยเที่ยวบินเช่าเหมาลำในช่วงดังกล่าว และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ยืนยันเช่นเดียวกันว่า ไม่ได้อนุญาตให้เที่ยวบินเช่าเหมาลำที่เดินทางจากอินเดียเข้าลงจอดในประเทศไทยในช่วงเวลาที่มีการกล่าวอ้างถึง
3. กลุ่มบุคคลสัญชาติอินเดียที่เดินทางเข้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมา เป็นการเข้ามาตามระบบซึ่งได้จองไว้ล่วงหน้าแล้ว ไม่ได้เข้ามาในเที่ยวบินเช่าเหมาลำ และกลุ่มบุคคลดังกล่าวไม่ใช่นักศึกษาทั้งหมดแต่เป็นผู้มีใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย 1 คน และที่เหลืออีก 6 คน เป็นนักศึกษาและผู้ติดตามนักศึกษา
4. เที่ยวบินปกติจากสายการบินของประเทศอินเดียที่ขออนุญาตเข้ามายังประเทศไทยในปัจจุบัน มีเที่ยวบินสัปดาห์ละ 1 เที่ยวบิน สำหรับผู้เดินทางตามความจำเป็นและเพื่อนำคนไทยกลับบ้าน (repatriation flight) ซึ่งผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยที่จะเดินทางเข้าประเทศได้ต้องเป็นไปตามเกณฑ์เฉพาะบุคคลตามข้อยกเว้นตามข้อกำหนดฯ เท่านั้น รวมถึงต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขโดยกักตัวอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ ในเดือนพฤษภาคม มีคนไทยได้ลงทะเบียนเข้าประเทศไว้ล่วงหน้าแล้ว ดังนี้
วันที่ 1 พฤษภาคม จำนวน 1 คน
วันที่ 8 พฤษภาคม จำนวน 70 คน
วันที่ 15 พฤษภาคม จำนวน 60 คน
และวันที่ 22 พฤษภาคม ยังไม่มีผู้ลงทะเบียนกลับไทย
5. วันที่ 25 เมษายน 2564 ที่ประชุม ศปก.ศบค. ได้มีมติให้กระทรวงการต่างประเทศยกเลิกและชะลอการออก COE ของผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่ประสงค์จะเดินทางเข้าประเทศไทยจากอินเดียทั้งหมด ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ในอินเดียดำเนินการแล้ว
6. ผู้ที่ประสงค์จะเดินทางเข้าประเทศไทยทั้งหมดจะต้องเข้าสู่มาตรการคัดกรอง คือ การยื่นเอกสารตามที่สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่กำหนดเพื่อขอรับ COE และเมื่อเดินทางถึงประเทศไทยต้องเข้ารับการกักตัวตามมาตรการของรัฐในสถานที่ที่รัฐกำหนด เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการระบาดเพิ่มเติมจากผู้ที่เดินทางกลับไทย